เผยแพร่ |
---|
“ล้งลำไย-ทุเรียน” ก่อปัญหาใหม่ทำลายตลาด แอบขายลำไยลูกร่วงด้อยคุณภาพโกยกำไรอื้อ กดราคาซื้อชาวสวน 3-4 บาท แอบส่งขายตลาดจีนโลละ 100 บาท เกษตรกรจี้ผู้เกี่ยวข้องตรวจเข้มส่งออก หวั่นจีนปิดตลาดหากตรวจพบสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์เกินกำหนด ด้านชาวสวนทุเรียนหลังสวน ชุมพรป่วน เจอล้งตัดทุเรียนอ่อนส่งออก ทุบราคาฮวบ ขาดทุนระนาว
ตลาดลำไยและทุเรียนของประเทศไทย ที่พึ่งพาการส่งออกไปยังจีนเป็นหลัก นับเป็นความเสี่ยงทางการค้าและเกษตรกรผู้ปลูก ที่ผ่านมาการส่งออกตกอยู่ในมือพ่อค้าจีนแบบเบ็ดเสร็จ โดยรุกคืบเข้ามาตั้งจุดรวบรวมผลผลิตรับซื้อเองโดยตรงในสวน กระทั่งเกิดปัญหาผิดสัญญา ทิ้งสวน จึงมีการออกมาจัดระเบียบล้งและนอมินี โดยให้ยื่นจดทะเบียนตั้งบริษัท แต่ปัญหาไม่ได้จบลงเพียงเท่านี้ ล้งลำไยยังมีปัญหาใหม่ๆ เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมา เช่น การผิดสัญญาไม่รับซื้อตามราคาและทิ้งสวน การจ่ายเช็คเด้ง และกรณีล่าสุดก็คือการแอบส่งลำไยลูกร่วงที่ไม่มีคุณภาพไปจำหน่ายในเมืองจีน
ลำไยลูกร่วงทุบตลาดคุณภาพ
แหล่งข่าวจากกลุ่มเครือข่ายลำไยส่งออก 4.0 อ.โป่งน้ำร้อน จ.จันทบุรี เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ล้งจีนที่มารับซื้อผลไม้ (ทุเรียน มังคุด ลำไย) ในจังหวัดจันทบุรีมีปัญหาเรื่องการผิดสัญญา และกดราคามาตลอด 2-3 ปี และล่าสุดคือลำไยนอกฤดูกาลที่เก็บเกี่ยวผลผลิตในเดือนกันยายนเป็นต้นมา พบปัญหาล้งผิดสัญญาเอาเปรียบเกษตรกรไม่เก็บลำไยเบอร์ 1-4 ตามราคาในข้อตกลงกิโลกรัมละ 40-45 บาท แต่เก็บเฉพาะเบอร์ 1 และเบอร์ 2 และขอต่อรองลดราคาเบอร์ 3 และเบอร์ 4 ลงมาเหลือกิโลกรัมละ 20-25 บาท
ปัจจุบันปัญหารุนแรงที่สุดคือ การทิ้งสวนลำไยเบอร์ 3-4 และให้คนมาช้อนซื้อเป็นราคาลำไยลูกร่วงกิโลกรัมละ 3-4 บาท หรือเหมาซื้อลำไยด้อยคุณภาพราคาถูก หลุดเบอร์ 4-5 หรือลำไยช่อที่ขาดน้ำ (หัวลิง) เป็นโรคราดำลูกลายนำมาอบซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ส่งออกไปขายแข่งขันตีตลาดลำไยคุณภาพ โดยพบที่ห้างในเมืองเซี่ยงไฮ้ราคาขายปลีกกิโลกรัมละ 100 บาท สร้างกำไรให้พ่อค้าจีนมหาศาล ในขณะที่เกษตรกรและพ่อค้าลำไยคุณภาพขาดทุนยับ
สำหรับลำไยลูกร่วงที่ด้อยคุณภาพไม่ได้มาตรฐาน จะต้องนำไปแปรรูปเท่านั้น แต่มีการนำออกไปจำหน่ายได้ ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อผู้บริโภคถ้าอบแห้งสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์จะเข้าในเนื้อลำไยมากเกินกำหนด ถ้าจีนตรวจพบจะไม่ให้นำลำไยจากไทยเข้าจำหน่าย และหันไปซื้อลำไยคุณภาพจากเพื่อนบ้านแทน
“ลำไยส่งออกตามมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) มี 2 แบบคือ แบบช่อและลูกเดี่ยวที่ต้องมีขั้วติด แต่ลูกร่วงที่ด้อยคุณภาพไม่มีขั้วเมื่อหลุดออกไปขายราคาจะถูก และตีตลาดลำไยคุณภาพ ทำให้ลำไยช่อคุณภาพดีราคาตก ล้งที่ส่งออกลำไยคุณภาพขาดทุนหนัก จึงใช้เป็นข้ออ้างต่อรองราคาเหมาจากเกษตรกร บางล้งต้องหยุดซื้อไป ปัญหาสำคัญตอนนี้คือ ลำไยลูกร่วงส่งออกจะทำลายตลาดลำไยของไทยอย่างคาดไม่ถึง เพราะจีนมีข้อกำหนดค่าซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในเนื้อลำไยไม่เกิน 50 มิลลิกรัม/กิโลกรัม”
จันท์วางแนวทางแก้ปัญหา
นายปิยะ สมัครพงศ์ เกษตรจังหวัดจันทบุรี กล่าวว่า ปัจจุบันจันทบุรีไม่ได้เป็นจังหวัดเดียวที่มีลำไยนอกฤดู รวมถึงประเทศเพื่อนบ้านก็ปลูกได้ในช่วงเวลาเดียวกัน ทำให้ลำไยล้นตลาด ราคาตกต่ำและล้งผิดสัญญา ส่วนกรณีเช็คเด้งเป็นวิกฤตของลำไยปีแรก ซึ่งทางจังหวัดจันทบุรีได้กำหนดแนวทางการแก้ปัญหาระยะสั้น ดังนี้ 1. ให้เกษตรกรตรวจสัญญาซื้อขายที่ทำกับล้งที่เห็นว่ามีความเสี่ยง เช่น การต่อรองราคา การทิ้งสวน และคุณภาพลำไย
2. ให้เกษตรกรปรับตัวผลิตลำไยคุณภาพ ที่จะออกในช่วงเดือนมกราคม ให้มีเบอร์ 1-2-3 จำนวน 80% 3. การแปรรูปลำไยในเชิงอุตสาหกรรมอาหาร โดยเริ่มที่ลำไยแปลงใหญ่ และ 4. การเตรียมงบฯ เพื่อให้ความช่วยเหลือด้านขนส่ง หากมีลำไยล้นตลาด
ส่วนระยะยาว ได้แก่ 1. วางแผนการผลิตลำไยให้มีการกระจายตัวครอบคลุม 4-5 เดือน แทนที่จะกระจุกตัวอยู่เพียง 3 เดือน และมีการพักแปลงเพื่อทำคุณภาพ และ 2. นำสัญญากลางมาใช้
เกษตรกรถกรับมือปัญหาล้ง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ล่าสุดวันที่ 4 ธ.ค. 60 กลุ่มลำไยคุณภาพส่งออก 4.0 กลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มสอยดาวไทยแลนด์ 4.0 และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนสอยดาว จำกัด จ.จันทบุรี ได้ประชุมเรื่องปัญหาลำไยตกต่ำ และการค้าที่ไม่เป็นธรรม โดยมีสาระสำคัญคือ 1. ปัญหาลำไยร่วงที่ทำลายตลาดลำไยส่งออก ให้หน่วยงานที่รับผิดชอบมาตรฐานการส่งออกลำไยตรวจสอบการส่งออกให้ได้มาตรฐาน ไม่มีลำไยด้อยคุณภาพ (ลูกร่วง) ส่งออกไปทำลายตลาด โดยเฉพาะช่วงเดือนพฤศจิกายนจะมีปริมาณลำไยออกสู่ตลาดจำนวนมาก ที่ผ่านมามีการนำออกไปแพ็กกิ้งแล้วส่งจำหน่ายในตลาดจีน
2. ปัญหาล้งที่ผิดสัญญา เช่น ล้งซื้อลำไยเบอร์ 3-4 เป็นลำไยลูกร่วงให้หาทางป้องกันในช่วงผลผลิตจะออกมากในเดือนธันวาคม-มีนาคม 3. จัดให้มีตลาดกลางลำไยสอยดาวและโป่งน้ำร้อน เพื่อรับซื้อลำไย คัดลำไยคุณภาพส่งออกและลำไยลูกร่วงส่งโรงอบแห้ง ป้องกันพ่อค้าปลอมปนลูกร่วงที่ส่งออกไปทำลายตลาด
4. ให้เกษตรกรรวมกลุ่มกันเพื่อทำเกษตรแปลงใหญ่ และให้ความช่วยเหลือสมาชิก เช่น การฟ้องร้องล้งที่ทำผิดสัญญา และ 5. การใช้สัญญากลาง ในการซื้อขายลำไย โดยจะเสนอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจารณาต่อไป
ชุมพรป่วนล้งตัดทุเรียนอ่อน
นายอภินันท์ บุญสนอง กรรมการกลุ่มผู้ผลิตทุเรียนคุณภาพบ้านห้วยทรายขาว อ.หลังสวน กล่าวว่า ขณะนี้ทุเรียนพันธุ์หมอนทองที่ จ.ชุมพร ราคาตกต่ำมาก เนื่องจากมีการตัดทุเรียนที่ไม่มีคุณภาพออกจำหน่าย การเข้ามาเหมาสวนตัดทุเรียนของพ่อค้าคนกลางซึ่งเป็นตัวแทนของล้งที่ส่วนใหญ่เป็นการร่วมทุนระหว่างชาวจีนกับคนไทย เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้ได้ทุเรียนด้อยคุณภาพ มีทุเรียนอ่อนออกสู่ตลาด ส่งผลต่อราคาทุเรียนที่เคยขึ้นสูงถึงกิโลกรัมละ 140 บาท แต่ขณะนี้เหลือแค่ 90 บาท/กก.เท่านั้น
ขอขอบคุณข้อมูลจาก หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 7 พฤศจิกายน 2560 – วันอาทิตย์ที่ 10 ธันวาคม 2560