เตือนปาก-เท้าเปื่อย! ปศุสัตว์สุรินทร์เตือนเกษตรกรระวังโรคปาก-เท้าเปื่อยระบาดในโค-กระบือ ช่วงเข้าหนาว

เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม นายประเสริฐ สรรเพชุดาญาณ ปศุสัตว์สุรินทร์ เปิดเผยว่า ได้แจ้งเตือนเกษตรกรให้ระวังโรคปาก และเท้าเปื่อยระบาดในโค กระบือ เป็ด ไก่ ช่วงหน้าหนาว ควรหมั่นดูแลรักษาสุขภาพสัตว์ และนำมาฉีดวัคซีนป้องกันโรค หากพบมีสัตว์ป่วย หรือมีอาการผิดปกติให้รีบแจ้งปศุสัตว์อำเภอ และจังหวัด เพื่อเข้าไปตรวจสอบควบคุมโรคไม่ให้แพร่ระบาดเป็นวงกว้าง ทั้งนี้ ในช่วงนี้ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นช่วงเปลี่ยนฤดูจากฤดูฝนเป็นฤดูหนาว จึงเตือนเกษตรกรให้ระมัดระวังโรคปาก และเท้าเปื่อยระบาดในสัตว์เลี้ยงโค กระบือ ซึ่ง จ.สุรินทร์ มีเกษตรกรเลี้ยงอยู่กันเป็นจำนวนมาก โดยช่วงที่อากาศเปลี่ยนแปลงจากฤดูฝนเข้าสู่ฤดูหนาว เป็นช่วงที่มีอากาศเสี่ยงต่อการเกิดโรคระบาดในสัตว์ได้ง่าย จึงแนะนำให้เกษตรกรควรหมั่นดูแลรักษาสุขภาพสัตว์เลี้ยงของตนเอง ทั้งให้หมั่นทำความสะอาดเล้า และโรงเรือนอยู่เสมอ โดยช่วงนี้ทางปศุสัตว์จังหวัดได้เร่งออกให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคให้ครอบคลุมในทุกพื้นที่แล้ว หากเกษตรกรรายใดยังไม่ได้นำโค กระบือ มารับการฉีดวัคซีน ให้เร่งนำมารับการฉีดวัคซีนโดยเร่งด่วน หรือหากเกษตรกรรายใดพบว่าโค กระบือ มีอาการป่วยผิดปกติ ยืนซึม น้ำลายฟูมปาก มีแผลบริเวณปาก และกลีบเท้า ให้สงสัยว่าป่วยเป็นโรคปาก และเท้าเปื่อย และรีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์อำเภอ หรือจังหวัด เพื่อเจ้าหน้าที่จะได้เข้าไปตรวจสอบควบคุมโรคโดยเร็ว

OLYMPUS DIGITAL CAMERA

“ส่วนโรคระบาดในสัตว์ปีก มีเป็ด และไก่ เกษตรกรควรเฝ้าระวังในช่วงฤดูหนาว เนื่องจากในขณะนี้ไทยกำลังเข้าสู่ช่วงฤดูหนาว และมีฝนตกในบางพื้นที่ จากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง ทำให้สัตว์ปีกเกิดความเครียด อ่อนแอลง และภูมิคุ้มกันโรคลดลง ทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคระบาดในสัตว์ปีกขึ้นได้ เกษตรกรควรให้วัคซีนป้องกันโรคที่สำคัญในสัตว์ปีกที่แข็งแรง เช่น วัคซีนป้องกันโรคนิวคาสเซิล และหลอดลมอักเสบ อหิวาต์สัตว์ปีก ฝีดาษ เป็นต้น” นายประเสริฐ กล่าว

นายประเสริฐกล่าวอีกว่า ขอเตือนเกษตรกรผู้เลี้ยงโค กระบือ อย่าได้นำสัตว์ที่ซื้อ หรือแลกเปลี่ยนมาจากพ่อค้าตามตลาดนัด โค กระบือ ที่ไม่ผ่านการตรวจโรคจากเจ้าหน้าที่จากกรมปศุสัตว์ไปเลี้ยงรวมกับฝูงจนกว่าจะได้รับการตรวจ หรือไม่แน่ใจว่าสัตว์ดังกล่าวที่นำมานั้นปลอดจากโรคหรือไม่ หากสัตว์ดังกล่าวมีอาการป่วย หรือติดเชื้ออาจจะนำไปแพร่ระบาดสู่สัตว์ตัวอื่น สร้างความเสียหายแก่เกษตรกรผู้เลี้ยงได้

 

ที่มา : มติชนออนไลน์