มทส.เปิดตัว ‘เรืออัตโนมัติกำจัดลูกน้ำยุง’ ใช้กับแหล่งน้ำขังขนาดใหญ่สำเร็จ เผยรัศมีการทำลายลูกน้ำยุง 3 ม.

รศ.ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) กล่าวในการเป็นประธานในการแถลงข่าวผลงานวิจัย “เรืออัตโนมัติกำจัดลูกน้ำยุง” พร้อมนักวิจัย ประกอบด้วย รศ.ร.อ.ดร.กนต์ธร ชำนิประศาสน์ คณบดีสำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์ รศ.ดร.ชาญชัย ทองโสภา หัวหน้าสถานวิจัย สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์ และ ดร.ชโลธร ธรรมแท้ อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องกล สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์ และคณะ ว่า ผลงานวิจัย “เรืออัตโนมัติกำจัดลูกน้ำยุง” ด้วยการวิจัยคลื่นอัลตราโซนิค ในย่านความถี่ที่เหมาะสมกับการกำจัดลูกน้ำยุงได้สำเร็จ โดยไม่ส่งผลกระทบกับสัตว์น้ำชนิดอื่น ไม่ทำลาย หรือสร้างมลพิษให้กับสิ่งแวดล้อม

ซึ่งได้พัฒนาเครื่องมืออุปกรณ์ดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2553 กระทั่งประสบความสำเร็จ ทั้งนี้ มทส.ได้น้อมเกล้าฯ ถวายแด่ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม ที่ผ่านมา เพื่อทรงใช้ตามพระราชอัธยาศัยภายในวังสระปทุม

รศ.ร.อ.ดร.กนต์ธร กล่าวว่า งานวิจัยดังกล่าวพัฒนาต่อยอดขึ้นมาจากเครื่องกำจัดลูกน้ำยุงคลื่นอัลตราโซนิค ระบบ 1 หัวจ่าย ที่ประสบความสำเร็จจากงานวิจัยในปี 2553 ที่ มทส.ได้พัฒนา และนำไปมอบให้หน่วยงานต่างๆ ไปใช้งานกว่า 200 เครื่อง ทั้งนี้ จากการนำไปใช้จริง พบว่ายังมีพื้นที่ที่มีข้อจำกัดในการนำเครื่องมือแบบเดิมไปใช้งาน อาทิ แหล่งน้ำขังขนาดใหญ่ และท่อระบายน้ำ จึงได้พัฒนางานวิจัยโดยสร้างเรืออัตโนมัติกำจัดลูกน้ำยุง

โดยแยกการทำงานออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ การออกแบบวงจรคลื่นอัลตราโซนิคระบบ 4 หัวจ่าย และการออกแบบเรือให้มีสมรรถนะครอบคลุม และเหมาะสมในการใช้งาน โดยได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนนวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มทส.ใช้ระยะเวลาในการออกแบบ และสร้างชิ้นงาน 6 เดือน

รศ.ดร.ชาญชัย กล่าวว่า เครื่องกำจัดลูกน้ำยุงด้วยคลื่นอัลตราโซนิค ถูกพัฒนามากจากอุปกรณ์ประเภททรานสดิวเซอร์ คือการสร้างคลื่นกลที่ความถี่ย่านอัลตราโซนิค ซึ่งได้จากการเปลี่ยนพลังงานไฟฟ้าเป็นพลังงานกล โดยอาศัยหลักการของวงจรกำเนิดความถี่ (Oscillator) ที่ความถี่ย่านอุลตราโซนิคขนาด 20 กิโลเฮิร์ทซ ร่วมกับวงจรแปลงผันกำลังงานไฟฟ้ากระแสสลับ (DC to DC Converter) เพื่อให้มีขนาดพิกัดความแรงของสัญญาณสูงขึ้น

เมื่อส่งสัญญาณผ่านไปยังอุปกรณ์ทรานสดิวเซอร์ที่เชื่อมต่อกับแท่นโลหะ จะถูกแปรสัญญาณให้อยู่ในรูปคลื่นกลที่มีความถี่เดียวกัน และจะนำคลื่นดังกล่าวแพร่กระจายลงสู่บริเวณที่มีน้ำเป็นตัวกลาง เมื่อพลังงานแพร่กระจายลงสู่น้ำ จะไปทำลายวัฏจักรการเจริญเติบโตลูกน้ำยุงไม่ให้สามารถเจริญเติบโตเป็นยุงตัวเต็มวัยได้

โดยครั้งนี้ได้ถูกออกแบบให้อยู่ในรูปของ “เรืออัตโนมัติกำจัดลูกน้ำยุง” เพื่อใช้กับแหล่งน้ำขังขนาดใหญ่ คูน้ำ ลำคลอง หรือ ท่อระบายน้ำ โดยติดตั้งเครื่องกำจัดลูกน้ำยุงคลื่นอัลตราโซนิค 4 ชุด เพื่อเพิ่มรัศมีการทำงานให้ใช้งานได้กับแหล่งน้ำขังขนาดใหญ่โดยไม่ทำลายสิ่งมีชีวิตอื่น

และระบบควบคุมเรือบริเวณกลางลำเรือ ใช้อุปกรณ์ในการควบคุม และแสดงผลชุด Flight Control โดยติดตั้งระบบ GPS เพื่อระบุตำแหน่งของอุปกรณ์ และใช้ในการเคลื่อนที่อัตโนมัติไปยังพิกัดที่ต้องการ สามารถบังคับ และควบคุมได้ทั้งแบบบังคับเอง และระบบ data link ซึ่งเป็นชุดควบคุมแบบอัตโนมัติผ่านคอมพิวเตอร์

ถือว่าเป็นการพัฒนาสมรรถนะของการกำจัดลูกน้ำยุงได้อย่างคลอบคลุม เชื่อว่าอุปกรณ์ดังกล่าวจะสกัดกั้นการเจริญเติบโต และการแพร่กระจายของโรคที่เกิดจากยุงเป็นพาหะได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ ต้นทุนในการผลิตต่อลำประมาณ 100,000 บาท

ดร.ชโลธร ธรรมแท้ อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องกล สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์ กล่าวว่า การออกแบบตัวเรือ และระบบการขับเคลื่อน ได้ออกแบบเป็นเรือท้องแบนเพื่อประหยัดพลังงาน และใช้ในน้ำตื้นได้ดี ขับเคลื่อนได้ที่ความเร็วต่ำ ลำเรือแบ่งเป็น 2 ฝั่ง ทางด้านข้างถูกเชื่อมต่อกัน เพื่อติดตั้งเครื่องกำจัดลูกน้ำยุงคลื่นอัลตราโซนิค 4 ชุด

และระบบควบคุมเรือบริเวณกลางลำเรือ ลำเรือมีขนาดความยาว 100 เซนติเมตร ความกว้าง 67 เซนติเมตร ความสูง 20 เซนติเมตร รับน้ำหนักได้ 50 กิโลกรัม ใช้ Fiberglass เป็นวัสดุในการสร้างตัวเรือ เนื่องจากเป็นวัสดุที่มีอัตราส่วนความแข็งแรงต่อน้ำหนักสูง ทนต่อการกัดกร่อนของสารเคมี

ระบบขับเคลื่อนใช้หลักการ Thrust Vectoring เป็นการควบคุมทิศทางของแรงขับโดยตรง ไม่ใช้หางเสือ เพื่อให้เรือเลี้ยวมุมแคบได้ดี รัศมีวงเลี้ยว 1 เมตร การควบคุมเรือ ทำได้ทั้งแบบบังคับเองผ่านรีโมทคอนโทรล และแบบอัตโนมัต โดยผ่านชุดคอมพิวเตอร์ขนาดเล็กที่ติดตั้งบนเรือ

กำหนดให้เรือไปตามจุดต่างๆ ได้โดยผ่านระบบดาวเทียม GPS ความเร็วสูงสุดของเรือ เดินหน้า 7 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ถอยหลัง 3 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ระยะควบคุมด้วยรีโมทคอลโทรล 800 เมตร และควบคุมผ่านดาวเทียม หรือระบบ GPS ไม่จำกัดระยะทาง ควบคุมผ่านคอมพิวเตอร์ 32 บิท ทำงานต่อเนื่อง 2 ชั่วโมงต่อการชาร์ทไฟ 1 ครั้ง

ทั้งนี้ เรืออัตโนมัติกำจัดลูกน้ำยุงดังกล่าว มทส.ได้ดำเนินการจดสิทธิบัตรไว้เรียยบร้อยแล้ว สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ สำนักงานจัดการทรัพย์สินทางปัญญาและถ่ายทอดเทคโนโลยี เทคโนธานี โทร 0-4422-4825