แกนนำสวนยางสงขลากระทุ้งรัฐลดพื้นที่ปลูก30% แก้ปัญหาราคาตกระยะยาว

วันที่ 27 ธันวาคมนี้ ที่ศาลากลางจังหวัดสงขลา ตัวแทนสมาพันธ์เกษตรกรจังหวัดสงขลา นำโดยนายปรีชา สุขเกษม เลขาธิการสมาพันธ์เกษตรกรจังหวัดสงขลา นายกาจบัณฑิต รามมาก นายครรชิต เหมะรักษ์ รองประธานสมาพันธ์เกษตรกรจังหวัดสงขลา นางปรินดา ปาลาเร่ ที่ปรึกษาสมาพันธ์ฯ พร้อมตัวแทนเกษตรกรชาวสวนยางพารารายย่อย เดินทางมาเพื่อเข้ายื่นหนังสือถึง นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) และ นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผ่านนายดลเดช พัฒนรัฐ ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เรียกร้องให้แก้ปัญหาราคายางพาราตกต่ำในระยะยาว ภายใต้โครงการปรับเปลี่ยนพืชแทนยางเพื่อลดพื้นที่ปลูกยางพารา หลังจากที่ผ่านมาได้เรียกร้องให้แก้ปัญหาในระยะสั้นเน้นเรื่องราคาเป็นหลัก

โดยแผนระยะยาวควรปรับลดพื้นที่ปลูกยางพารา และมีมาตรการรองรับชัดเจนสำหรับพืชใหม่ที่ปลูก โดยให้จังหวัดสงขลาเป็นจังหวัดนำร่อง ก่อนขยายผลไปยังจังหวัดต่างๆ ที่สนใจ
โดยมีข้อแนะนำใน 7 ประเด็น อาทิ จังหวัดสงขลา ควรลดพืนที่ปลูกยางพาราลง 30% ของพื้นที่ปลูกยางพาราทั้งหมด ให้ปรับเปลี่ยนพืชแทนยางพาราที่เหมาสมกับพื้นที่ เน้นมะพร้าวและกาแฟ ซึ่งเป็นพืชประจำถิ่นและปลูกง่าย สามารถผลิตและแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องและเพิ่มมูลค่าได้ โดยให้การยางแห่งประเทศไทย ที่เคยส่งเสริมและสนับสนุนการปลูกยาง มาส่งเสริม มะพร้าวและกาแฟ โดยดำเนินมาตรการในลักษณะเดียวกัน ตั้งโรงงานแปรรูปมะพร้าวและกาแฟแบบครบวงจร ตลอดห่วงโซ่การผลิตรองรับผลผลิตที่ได้จากโครงการ โดยนำรูปแบบแบ่งโควต้าให้เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการส่งเสริมผลผลิตป้อนโรงงานแปiรูปมะพร้าวและกาแฟ (รูปแบบเหมือนอุตสาหกรรมอ้อย) และให้จัดหามาตรการรองรับรายได้ที่หายไปของเกษตรกรระหว่างรอผลผลิตมะพร้าวและกาแฟ อาทิ การปลูกสัปปะรด ข้าว มันฝรั่งเป็นพืชแซม นอกจากนี้ควรแต่งตั้งตัวแทนจากสมาพันธ์เกษตรกรจำนวน 2 ท่าน เป็นกรรมการติดตามโครงการปรับเปลี่ยนพืชแทนยางเพื่อลดพื้นที่ปลูกยางพารา ภายหลังจากยื่นหนังสือแล้ว จะขอรับทราบคำตอบ แนวทางในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวภายใน 15 วัน

ด้านผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา กล่าวว่า รับที่จะส่งเรื่องต่อไปยัง ประธาน สนช.และรัฐมนตรีว่การกระทรวงเกษตรฯ โดยแนวทางตามข้อเสนอแนะนั้น จังหวัดสงขลาได้ดำเนินการไปบ้างแล้ว อาทิ การส่งเสริมการใช้ยางพาราเป็นส่วนผสมของโครงการต่างๆ ซึ่ง อบจ.สงขลาได้นำมาเป็นส่วนผสมในการก่อสร้างถนน 10% และการลดพื้นที่ปลูกยางพารา เพื่อปลูกพืชทดแทน โดย กยท.ส่งเสริมในการปลูกมะพร้าวในอัตราไร่ละ 16,000 บาท สามารถมายื่นเรื่องและสอบถามข้อมูลได้ที่ กยท.ทุกสาขา เป็นต้น ซึ่งในประเด็นเหล่านี้จังหวัดจะได้มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเข้าไปกำกับดูแล และให้คำแนะนำ โดยเฉพาะการจัดหาพันธุ์มะพร้าว การพิจารณาความเหมาะสมของสภาพพื้นดิน ตลาดการรองรับผลผลิต

ที่มา : มติชนออนไลน์