ปศุสัตว์ปูพรม “ปศุสัตว์อินทรีย์” ป้อนตลาดพรีเมี่ยม

กรมปศุสัตว์ขยายผลพื้นที่ผลิต “ปศุสัตว์อินทรีย์” 24 จังหวัด รับยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ ปี 60-64 มุ่งสร้างกลุ่มผู้ผลิตวัตถุดิบอาหารสัตว์อินทรีย์แก้ปัญหาขาดแคลน พร้อมเพิ่มจำนวนชนิดสินค้าป้อนตลาดพรีเมี่ยม เพิ่มทางเลือกผู้บริโภคเพื่อสุขภาพ

นายวีรชาติ เขื่อนรัตน์ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า จากการที่กรมปศุสัตว์ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการขับเคลื่อนพัฒนาและส่งเสริมการผลิตปศุสัตว์อินทรีย์ของประเทศตามนโยบายรัฐบาลและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมรองรับยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ ปี 2560-2564 ซึ่งปี 2560 นี้ กรมปศุสัตว์ได้ดำเนินการฝึกอบรมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการผลิตปศุสัตว์อินทรีย์แก่เกษตรกรที่มีความพร้อมไปแล้วกว่า 230 ราย ขณะเดียวกันยังสนับสนุนปัจจัยการผลิตเพื่อพัฒนาระบบการผลิตปศุสัตว์อินทรีย์ จำนวน 93 ฟาร์ม ทั้งยังได้ตรวจรับรองฟาร์มมาตรฐานปศุสัตว์อินทรีย์รวม 144 ฟาร์ม ประกอบด้วย โคนมและน้ำนมดิบอินทรีย์ 4 ฟาร์ม ไก่พื้นเมืองอินทรีย์ 4 ฟาร์ม ไก่งวงอินทรีย์ 1 ฟาร์ม ไก่ไข่อินทรีย์ 134 ฟาร์ม และไก่เนื้ออินทรีย์ 1 ฟาร์ม

นายวีรชาติ เขื่อนรัตน์ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์

นอกจากนั้น ยังได้ตรวจรับรองโรงงานผลิตภัณฑ์น้ำนมพาสเจอร์ไรซ์อินทรีย์ 1 แห่ง โรงงานวัตถุดิบอาหารสัตว์อินทรีย์ (ปลาป่น) 2 แห่ง โรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์เนื้อไก่อินทรีย์ 1 แห่ง และรับรองมาตรฐานระบบการผลิตพืชอาหารสัตว์อินทรีย์ 1 ราย ทั้งยังได้ร่วมพัฒนาตลาดสีเขียว จำนวน 17 แห่ง และสร้างฐานข้อมูลการปศุสัตว์อินทรีย์ 9 แห่งด้วย

อย่างไรก็ตาม ในปี 2561 กรมปศุสัตว์ได้มีแผนเร่งขยายผลการส่งเสริมการผลิตปศุสัตว์อินทรีย์อย่างต่อเนื่องตามนโยบายกระทรวงเกษตรฯ พร้อมร่วมขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติฯ โดยมุ่งขยายพื้นที่และเพิ่มปริมาณการผลิตสินค้าปศุสัตว์อินทรีย์ป้อนตลาดพรีเมียม เพื่อรองรับความต้องการของผู้บริโภคกลุ่มรักสุขภาพที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ขณะเดียวกันยังมุ่งเพิ่มมูลค่าผลิตผลและผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์อินทรีย์ รวมทั้งเพิ่มการค้าและการบริโภคสินค้าปศุสัตว์อินทรีย์ในประเทศ ตลอดจนมุ่งยกระดับมาตรฐานและการรับรองสินค้าเกษตรอินทรีย์ของไทยให้เป็นที่ยอมรับของตลาด ทั้งภายในและต่างประเทศด้วย

“กระแสการเอาใจใส่ในเรื่องสุขภาพและเทรนด์ (Trend) การบริโภคอาหารอินทรีย์ที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น กรมปศุสัตว์ได้มีเป้าหมายขยายพื้นที่ส่งเสริมการผลิตปศุสัตว์อินทรีย์ใน 24 จังหวัด และเพิ่มจำนวนสินค้าเป็น 5 ชนิด เพื่อสร้างความหลากหลายและขยายทางเลือกให้กับผู้บริโภค ประกอบด้วย โคนม ไก่ไข่ เป็ดไข่ ไก่งวง หมูหลุม และแปลงพืชอาหารสัตว์อินทรีย์  ซึ่งคาดว่า จะมีฟาร์มรายใหม่ที่ผ่านการรับรองมาตรฐานปศุสัตว์อินทรีย์ไม่น้อยกว่า 70 ฟาร์ม และฟาร์มที่ได้รับการรับรองมาตรฐานแล้วสามารถรักษาสถานภาพได้ไม่น้อยกว่า 70%” รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าว

การเลี้ยงไก่ไข่ในระบบอินทรีย์

ขณะเดียวกันยังมีแผนเร่งสร้างผู้ตรวจประเมินปศุสัตว์อินทรีย์ จำนวน 30 ราย สร้างศูนย์เรียนรู้พืชอาหารสัตว์อินทรีย์ เป้าหมาย 3 ศูนย์ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับเกษตรกรที่สนใจผลิตวัตถุดิบอาหารสัตว์อินทรีย์ป้อนตลาด ทั้งยังมุ่งส่งเสริมการจัดตั้งกลุ่มเกษตรกรเพื่อเพิ่มปริมาณการผลิตอาหารสัตว์อินทรีย์ เช่น ข้าวโพด ถั่วเหลือง และมันสำปะหลังอินทรีย์ ช่วยแก้ไขปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบอาหารสัตว์อินทรีย์ซึ่งมีราคาแพงและค่อนข้างหายาก และยังส่งเสริมให้มีปัจจัยการผลิตปศุสัตว์อินทรีย์ เช่น พันธุ์ไก่ไข่อินทรีย์ 16,000 ตัว เป็ดไข่ 2,000 ตัว สนับสนุนท่อนพันธุ์หญ้าให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมระบบอินทรีย์ 12 ฟาร์ม และสนับสนุนกล้าพันธุ์ถั่วลิสงเถาฟลอริเกรซให้ผู้เลี้ยงสัตว์ปีกอินทรีย์ จำนวน 55 ฟาร์ม เป็นต้น

“อีกทั้งยังตั้งเป้าพัฒนายกระดับตลาดสีเขียวเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 10 แห่ง เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงตลาดหรือแหล่งจำหน่ายอาหารที่มีความปลอดภัยเพิ่มขึ้นและทั่วถึง พร้อมช่วยประสานเชื่อมโยงเครือข่ายการผลิตปศุสัตว์อินทรีย์กับตลาดหรือผู้ซื้อ อาทิ ตลาดโมเดิร์นเทรด (Modern Trade) เพื่อสร้างโอกาสและขยายช่องทางการจำหน่ายสินค้าปศุสัตว์อินทรีย์ให้กับเกษตรกรด้วย” นายวีรชาติ กล่าว