เผยแพร่ |
---|
ราคาสินค้าเกษตรตกสะเทือนกำลังซื้อเกษตรกร เอสเอ็มอีเมืองตรังเดินหน้าเร่งพัฒนาสินค้าต่อเนื่อง ตั้งเป้าปี 2561 มุ่งเจาะตลาดต่างประเทศ หวังชดเชยกำลังซื้อภายในประเทศฮวบ ชี้ผลิตภัณฑ์ปลากระป๋อง-โอท็อปเป็นสินค้าดาวรุ่ง
ดร.พิทักษ์พงษ์ ชัยคช รองประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดตรัง ฝ่ายธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จังหวัดตรังมีผู้ประกอบการธุรกิจเอสเอ็มอีกว่า 100 ราย มูลค่าจดทะเบียนมากกว่า 1,000 ล้านบาท ครอบคลุมกิจการทุกรูปแบบ เช่น โรงงาน ผลิตภัณฑ์อาหาร โอท็อป เป็นต้น ซึ่งขณะนี้ผู้ประกอบการอยู่ระหว่างการปรับตัวเพื่อลดความเสี่ยงต่อการขาดทุน เนื่องจากปัจจุบันราคาผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำ โดยเฉพาะยางพารา และปาล์มน้ำมัน ส่งผลให้เกษตรกรซึ่งเป็นกำลังซื้อสำคัญ ขาดสภาพคล่องทางการเงิน
ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเองยังคงพัฒนาสินค้าอย่างต่อเนื่อง ทั้งด้านคุณภาพและปริมาณ รวมถึงเพิ่มช่องทางการตลาดใหม่ ๆ และเพิ่มฐานลูกค้าให้กว้างมากขึ้น ด้วยการเปิดตลาดทั้งในและต่างประเทศ ทั้งนี้เมื่อสำรวจดูการลงทุนต่าง ๆ พบว่าส่วนใหญ่ผู้ประกอบการยังคงใช้เงินทุนหมุนเวียนของตัวเอง ไม่ค่อยกู้เงินจากสถาบันการเงินมากนัก แม้ภาครัฐจะสนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยเพียง 1% ต่อปี แต่พบว่ามีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมากู้เงินลงทุนจากสถาบันการเงินประมาณ 100 ล้านบาทเท่านั้น
ทั้งนี้ด้านการตลาด ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีส่วนใหญ่มีตลาดเป็นของตัวเองอยู่แล้ว ทั้งในและต่างประเทศ และที่ผ่านมาได้มีการปรึกษาหารือว่าในปี 2561 จะเร่งเปิดตลาดต่างประเทศให้มากขึ้น เพื่อสร้างยอดจำหน่ายใหม่ ชดเชยในส่วนที่ขาดไปจากยอดจำหน่ายภายในประเทศที่ชะลอตัว รวมถึงได้รับการสนับสนุนจากธนาคารเพื่อการนำเข้าและส่งออก หรือเอ็กซิมแบงก์ ให้กลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจังหวัดตรังจะเดินทางไปเปิดตลาดที่ประเทศอินเดีย ในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน 2561
“ธุรกิจที่มีแนวโน้มสดใส ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ปลากระป๋อง สินค้าจากกลุ่มผู้ประกอบการโอท็อปหลายชนิด ที่กำลังได้รับความสนใจจากตลาดต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น ซึ่งมองว่าแนวโน้มการส่งออกของกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอีของ จ.ตรัง ในปีนี้น่าจะดีขึ้นตามลำดับ”
ดร.พิทักษ์พงษ์กล่าวว่า สำหรับโรงงานของตนผลิตสินค้ากว่า 30 ชนิด เช่น ขนมเค้ก ขนมเปี๊ยะ ขนมเต้าส้อ เป็นต้น โดยผลประกอบการจะอยู่ที่ประมาณ 50-80 ล้านบาทต่อปี ซึ่งในปี 2560 ที่ผ่านมา ยอดจำหน่ายลดลงเช่นกัน โดยลดลงกว่า 20% เมื่อเทียบกับปีก่อน ผลประกอบการอยู่ที่ 50 ล้านบาท เนื่องจากได้รับผลกระทบจากราคายางพาราและปาล์มน้ำมันซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจของภาคใต้ตกต่ำ สำหรับการตลาดนั้น นอกจากจำหน่ายที่ร้านเค้กขนิษฐา ซึ่งรองรับกรุ๊ปทัวร์ รถประจำทาง และบริการนักท่องเที่ยวแล้ว ยังส่งจำหน่ายร้านต่าง ๆ รวมถึงตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะเพื่อนบ้าน ได้แก่ มาเลเซีย สิงคโปร์ และจีน ที่มีออร์เดอร์เข้ามาต่อเนื่อง
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์