ม. แม่ฟ้าหลวง โชว์นวัตกรรมเพื่อสุขภาพคนไทย

มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) ได้รับการสถาปนาเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับรัฐ เมื่อวันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2541 ที่จังหวัดเชียงราย ตามความต้องการของประชาชนและเป็นอนุสรณ์รำลึกถึงสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ตลอดระยะ 19 ปีที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงได้สร้างบุคลากรที่มีคุณภาพจำนวนมากแล้ว ยังได้สร้างผลงานที่มีชื่อเสียงไว้มากมาย

ตามรอยพระปณิธานสมเด็จย่า ปลูกป่าสร้างคน

มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ได้รับการกล่าวขานว่า เป็นมหาวิทยาลัยที่มีความงดงามในเชิงของกายภาพและภูมิประเทศมากที่สุดแห่งหนึ่ง เนื่องจากมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงเดินตามรอยพระปณิธานสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ตามแนวพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช คือพลิกฟื้นพื้นที่ดั้งเดิมที่เป็นป่าเสื่อมโทรมให้กลายเป็นสวนพฤกษศาสตร์ในมหาวิทยาลัย และสามารถเป็นต้นแบบให้กับพื้นที่อื่นๆ ได้

ทางมหาวิทยาลัยได้นำรูปแบบของการพลิกฟื้นพื้นที่ป่าของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงเข้าไปทำงานในโครงการรักษ์ป่าน่าน ทำการศึกษาวิจัยเรื่องการสูญเสียและการฟื้นฟูป่าไม้ในจังหวัดน่าน เนื่องจากเป็นแหล่งน้ำที่เป็นต้นกำเนิดของต้นน้ำและมีบทบาทสำคัญต่อความมั่นคงทางนิเวศของลุ่มน้ำในภาคเหนือและภาคกลาง เพื่อค้นหาสาเหตุ ปัจจัยที่มีผลต่อความสำเร็จ และนำมาถอดบทเรียนในการอนุรักษ์ฟื้นฟูอย่างยั่งยืน

ทีมนักวิจัยของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงได้นำเสนอผลงาน เรื่อง “มฟล. คืนชีวิตให้กับผืนป่า สร้างอนาคตให้ชุมชน”  ภายในงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2560 ซึ่งจัดโดย สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เนื่องจากมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงเล็งเห็นความสำคัญของการอนุรักษ์ป่าและสิ่งแวดล้อม จึงส่งเสริมให้พัฒนาการวิจัยเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมทั้งในระดับมหาวิทยาลัยและระดับประเทศ โดยมุ่งหวังการคืนชีวิตให้ผืนป่า สร้างอนาคตให้ชุมชน เพราะการฟื้นฟูป่าไม้ที่ยั่งยืน มีเป้าหมายเพื่อหยุดยั้งการบุกรุกป่า และสร้างป่าให้เป็นแหล่งอาชีพแก่ชุมชนและสังคมไทยอย่างแท้จริง

 

ผลิตภัณฑ์สมุนไพร “เจ้าคุณวัน”

ปลายปี 2560 รศ.ดร. วันชัย ศิริชนะ อธิการบดี มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง พร้อมคณะผู้บริหาร ได้นำผลิตภัณฑ์สมุนไพรจากงานวิจัยของมหาวิทยาลัย มอบแก่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี รวมทั้งกองทัพไทย จำนวน 11,000 ชิ้น เพื่อประชาสัมพันธ์การขับเคลื่อนการดำเนินงาน “เชียงรายเมืองสมุนไพรครบวงจร”

รศ.ดร. วันชัย ศิริชนะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง

มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เริ่มต้นดำเนินโครงการผลิตภัณฑ์จากสมุนไพร หลังจากนายกรัฐมนตรีได้เยี่ยมชมสวนสมุนไพรภายใต้โครงการสวนพฤกษศาสตร์ของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2559 และมีนโยบายให้มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงเป็นหน่วยงานหลักด้านการวิจัยและพัฒนาการส่งเสริมการผลิต สนับสนุนการใช้ประโยชน์จากพืชสมุนไพรในรูปแบบต่างๆ รวมทั้งการพัฒนากำลังคนด้านการแพทย์แผนไทยและการแพทย์พื้นบ้าน เพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์เมืองสมุนไพรให้เป็นรูปธรรม เป็นต้นแบบการจัดการอุตสาหกรรมสมุนไพร

ในปี 2560 มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงได้จัดตั้งโรงงานผลิตยาสมุนไพรต้นแบบในการผลิตยาแผนโบราณตามมาตรฐาน GMP/PICs และใช้เป็นห้องปฏิบัติการจริงสำหรับนักศึกษาสาขาการแพทย์แผนไทยประยุกต์ เพื่อนำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศด้านอุตสาหกรรมสมุนไพรไทย

มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงได้นำสมุนไพรไทยมาวิจัยและพัฒนาต่อยอดด้วยนวัตกรรมที่เหมาะสมในยุค Thailand 4.0 สร้างความมั่นใจสู่ผู้บริโภค และส่งเสริมอาชีพปลูกสมุนไพรให้กับเกษตรกร และผลิตวัตถุดิบสมุนไพร ช่วยเสริมสร้างรายได้ให้กับประชาชนอย่างมั่งคั่งและยั่งยืน ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงได้จัดทำผลิตภัณฑ์สมุนไพรต้นแบบ ที่มีประสิทธิภาพสูงและความปลอดภัย ด้วยแนวคิด “The Power of Nature” ภายใต้แบรนด์ “เจ้าคุณวัน” จำนวน 11 ชนิด ได้แก่ ขมิ้นชัน ยาอมอดบุหรี่โปร่งฟ้า สเปรย์มะแขว่นไล่ยุง ฟ้าทลายโจร เจลกากเมล็ดชาแก้เชื้อรา ยาธาตุบรรจบ ขี้ผึ้งมะแขว่น ยาเขียวหอม ขี้ผึ้งเสลดพังพอน ยาหอมเนาวโกฐ และน้ำมันมะแขว่น เป็นต้น

ผลิตภัณฑ์สมุนไพรมะแขว่น นับเป็นหนึ่งในสินค้าที่เป็นไฮไลต์ที่ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง “มะแขว่น” เป็นสมุนไพรที่พบมากในแถบภาคเหนือของไทย ชาวเหนือนิยมนำผลและเมล็ดมาปรุงเป็นเครื่องเทศ เนื่องจากมีรสเผ็ดร้อนและมีกลิ่นหอม มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงวิจัยพบว่า มะแขว่น มีสารสำคัญที่มีฤทธิ์ยับยั้งกระบวนการอักเสบของร่างกาย และบรรเทาอาการปวดได้

มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงได้นำสารสกัดพัฒนาในรูปแบบผลิตภัณฑ์สมุนไพร อย่างผสมกับน้ำมันนวด ทดลองใช้ในผู้ที่มีอาการปวดกล้ามเนื้อ โดยใช้กับบริเวณที่มีอาการปวด ทาทิ้งไว้โดยไม่ล้างออก และทาซ้ำอย่างต่อเนื่องในแต่ละวัน พบว่าระงับปวดและไม่ก่อให้เกิดอาการระคายเคืองต่อผิวหนัง อีกทั้งการสูดดมน้ำมันมะแขว่นยังมีผลต่อการเพิ่มค่าความดันโลหิตและช่วยกระตุ้นระบบประสาทให้ตื่นตัว ทำให้รู้สึกสดชื่นและกระปรี้กระเปร่ามากขึ้น

 

ครีมรวงข้าว สารสกัดจากข้าวขาวดอกมะลิ 105

ครีมรวงข้าว : ลานาดีน จัสมิน ไรซ์ เอจ ดิไฟอิ้ง เฟเชียล ครีม” เป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์เวชสำอางจากข้าว จากผลงานวิจัยของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เป็นหนึ่งในสินค้าขายดี เป็นที่นิยมสูงในกลุ่มสาวน้อยสาวใหญ่จำนวนมาก  เนื่องจากผลิตภัณฑ์ชิ้นนี้สกัดจากข้าวขาวดอกมะลิ 105 มีปริมาณฟีนอลิกสูง และมีความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระ ด้านเอนไซม์ไทโรซิเนส ถูกพัฒนาเป็นตำรับเวชสำอางรูปแบบครีมน้ำมันในน้ำที่มีความคงตัวทางเคมีและกายภาพดีไม่ก่อให้เกิดการระคายเคือง

ครีมรวงข้าว

ครีมรวงข้าว ผ่านการทดสอบอาสาสมัคร พบว่า สามารถช่วยลดรอยหมองคล้ำและริ้วรอยได้ดีตั้งแต่สัปดาห์ที่ 2 นอกจากนี้ ยังสามารถกระชับผิวและเพิ่มความเรียบของผิวดี ตั้งแต่สัปดาห์ที่ 1 2 และ 8 ตามลำดับ ตลอดจนได้รับความพึงพอใจต่อผลิตภัณฑ์ในด้านของความหนืด สี กลิ่น การกระจายตัวของครีม การซึมซาบบนผิว ความเหนอะหนะและความชุ่มชื้น

 

Number 333 ผลิตจากข้าวสังข์หยด” ช่วยดูแลเส้นผม

มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง วิจัยพบว่า ในข้าวสีดำและแดง โดยเฉพาะในข้าวสังข์หยด มีสารชีวภาพต้านผมร่วงมากที่สุด ผลการทดลองกับอาสาสมัครชายพบว่า สามารถเพิ่มการงอกของเส้นผมได้มากขึ้นเมื่อใช้อย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 1 เดือนขึ้นไป ปริมาณผมมากจนมองไม่เห็นหนังศีรษะเมื่อใช้นาน 3 เดือน ทีมนักวิจัยจึงได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ป้องกันผมร่วงและกระตุ้นการงอกของเส้นผม ที่ผลิตจากข้าวสังข์หยด ในชื่อการค้าว่า “Number 333” ซึ่งผลิตภัณฑ์จากงานวิจัยสมุนไพรของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงมีวางจำหน่ายในร้าน M – Store ศูนย์หนังสือมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง สนใจสั่งซื้อได้ที่ เบอร์โทร. (053) 917-020-1 หรือ [email protected]

 

ผลิตภัณฑ์ไอศกรีมกะทิมะเขือเผา

บริษัท ชวี่เฉวียน ฟูดส์ จำกัด เป็นผู้ผลิตขิงดองและมะเขือม่วงดอง (พันธุ์เซนได) ส่งออกรายใหญ่ของไทย แต่ทางโรงงานประสบปัญหาในเรื่องวัตถุดิบไม่ได้คุณภาพมาตรฐานที่ลูกค้ากำหนด จึงต้องคัดมะเขือม่วงที่ไม่ได้คุณภาพทิ้งสูงถึงปีละ 400 ตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 10 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม มะเขือม่วงเหล่านั้นยังรับประทานได้ จึงมีแนวคิดนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ในท้องตลาด

ทางบริษัทได้ร่วมมือกับกลุ่มนักศึกษา สำนักวิชาอุตสาหกรรมเกษตร “ทีมลูกแม่ฟ้า” ประกอบด้วย นางสาวฐิติรัตน์ บุญล้อม นางสาวละอองดาว ลาภอินทรีย์ นายอรัญญิก ยศธิวงค์ นางสาวดรุณี หลวงปัน นางสาวผกาทิพย์ ทาแกง โดยมี อาจารย์ ดร. ปิยาภรณ์ เชื่อมชัยตระกูล และ อาจารย์ ดร. จิรัฏฐ์ ศิริเมืองมูล เป็นที่ปรึกษา ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ ในชื่อ “ไอศกรีมมะเขือเผา” (Nasu Icesu) ซึ่งงานวิจัยชิ้นนี้ คว้ารางวัล “ชนะเลิศ” จากโครงการประกวดนวัตกรรมผลิตภัณฑ์อาหารปีที่ 9 (Food Innovation Contest 2017) เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2560 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา พร้อมรับเงินรางวัล จำนวน 50,000 บาท

ไอศกรีมมะเขือเผา (Nasu Icesu) ผลิตจากมะเขือม่วงที่ผ่านการเผา เพื่อให้ได้กลิ่นอันเป็นเอกลักษณ์ เนื้อมะเขือม่วงจะนำไปผสมในเนื้อไอศกรีม ที่มีส่วนประกอบของกะทิ ส่วนน้ำมะเขือเผานำไปผลิตเป็นน้ำซอส (Nasu Sauce) และมุกป๊อป (Nasu bubble) เนื่องจากไอศกรีมมะเขือเผามีความโดดเด่นจากการผสมผสานกลิ่นมะเขือเผาและกะทิ อันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของไอศกรีม เพียงแค่เทน้ำซอสและรับประทานคู่กับมุกป๊อปก็อร่อยและสนุกได้ สินค้าชิ้นนี้เหมาะสำหรับผู้บริโภคที่ประสบปัญหาการย่อยน้ำตาลแล็กโตสหรือผู้บริโภคที่ไม่สามารถรับประทานไอศกรีมที่ทำมาจากนมได้