นโยบายชะลอขายข้าวฝากยุ้งฉางสุดเวิร์ก ราคาข้าวดีชาวนาเมินจำนำยุ้งฉาง ธ.ก.ส.

นโยบายชะลอขายข้าวฝากยุ้งฉางสุดเวิร์ก โค้งสุดท้ายเหลือ 1 เดือนปิดโครงการมีข้าวเปลือกเข้าแค่ 60,000 ตัน ชาวนาปลื้มราคาตลาดข้าวเปลือกมะลิพุ่งแซงราคายุ้งฉางตันละ 1,000 บาท มั่นใจนาปรังปี”60 ลดนาปรังลงอีก2 ล้านไร่ราคาข้าวมีเสถียรภาพ

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า หลังจากคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ได้มีมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวผ่านโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปี 2560/2561 (จำนำยุ้งฉาง) ตั้งเป้าหมายรับฝากข้าวเปลือก2 ล้านตัน ด้วยงบฯกว่า 2.1 หมื่นล้านบาท โดยเริ่มดำเนินโครงการตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2560 ถึง 28 กุมภาพันธ์ 2561 ระยะเวลาไถ่ถอนข้าว 5 เดือน ซึ่งขณะนี้เหลือเวลา 1 เดือนจะปิดโครงการ

นายสุเทพ คงมาก นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้เหลือระยะเวลาอีก1 เดือนสุดท้ายที่จะสิ้นสุดโครงการชะลอขายเก็บเข้ายุ้งฉางของรัฐบาล แต่มีชาวนานำข้าวเข้าฝากเก็บโครงการฯเพียง 60,000 ตัน ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่น้อยที่สุดเป็นประวัติการณ์ เมื่อเทียบกับเป้าหมายที่รัฐบาลต้องการฝากเก็บ2 ล้านตันข้าวเปลือก โดยคาดว่าในช่วง 1 เดือนสุดท้ายก่อนปิดโครงการยุ้งฉางจะมีข้าวเปลือกเข้าโครงการเพียงไม่เกิน 30% ของผลผลิตข้าวหอมมะลิทั้งหมด

“โครงการยุ้งฉางประสบความสำเร็จมาก ชาวนานำข้าวเข้าโครงการน้อย เพราะราคาข้าวเปลือกในตลาดปีนี้สูงกว่าราคารับจำนำยุ้งฉางของรัฐบาล เช่น ข้าวหอมมะลิ หากเข้าโครงการจะได้ราคาตันละ 15,300 บาท แต่ราคาในตลาดปรับขึ้นไปถึง 16,000-17,000 บาท สูงกว่าราคารัฐบาลตันละ 700-1,700 บาท”

สาเหตุที่ราคาเพิ่มขึ้นเพราะว่าดีมานด์และซัพพลายข้าวในปีนี้มีความสมดุลกัน โดยผลผลิตข้าวเปลือกมี 7.5 ล้านตัน นำมาผลิตเพื่อส่งออกและบริโภคในประเทศหมดพอดี จากปกติจะโอเวอร์ซัพพลายมาตลอด อีกทั้งสต๊อกข้าวสารคงเหลือของรัฐบาลมีไม่มาก เป็นข้าวสำหรับใช้ในอุตสาหกรรมด้วย นอกจากนี้เป็นผลดีจากการทำงานประสานงานกัน เพื่อตรวจสอบตัวเลขสำรวจจนได้ข้อเท็จจริงที่ถูกต้องทำให้วางแผนการตลาดได้ดี ตอนนี้ราคาตลาดโลกก็ขยับขึ้น ของไม่มีขายแล้ว

ทั้งนี้ จากการเดินทางลงพื้นที่สำรวจผลผลิตข้าวเปลือกหอมมะลิ ปีการผลิต 2560/2561 ในหลายจังหวัดทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร่วมกับกรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เห็นว่า ขณะนี้เกษตรกรเก็บเกี่ยวข้าวเปลือกเกือบครบ 100% แล้ว ยังเหลือเพียงข้าวเปลือกนาปีในภาคใต้ที่จะเก็บเกี่ยวช้าที่สุดราวเดือนกรกฎาคม 2561 ซึ่งมีสัดส่วนไม่มากนัก ทั้งนี้ ผลผลิตนาปีจะมีปริมาณ 7.5 ล้านตันข้าวเปลือก

สำหรับแนวโน้มการผลิตข้าวเปลือกนาปรัง ปี 2561 คาดว่าจะมีผลผลิตลดลงจากปีก่อน เนื่องจากเกษตรกรได้ปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกไปปลูกข้าวชนิดอื่นทดแทนนาปรัง ทำให้พื้นที่ปลูกข้าวนาปรังลดลงจาก 11-12 ล้านไร่ เหลือเพียง 7-8 ล้านไร่ หายไป 2-3 ล้านไร่ ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายของแผนการผลิตข้าวครบวงจร

นายสุเทพ กล่าวว่า ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์นี้ จะมีการประชุมคณะทำงานแผนพัฒนาข้าวครบวงจร โดยมีปลัดกระทรวงพาณิชย์ (นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค) เป็นประธาน เพื่อสรุปตัวเลขรายงานต่อที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (นบข.) ที่จะประชุมในเดือนกุมภาพันธ์นี้ สำหรับใช้เป็นข้อมูลจัดทำแผนการระบายข้าวปี 2561 -โดยขณะนี้รัฐบาลยังเหลือสต๊อกข้าวอีก 2 ล้านตัน เป็นข้าวเข้าอุตสาหกรรมที่มิใช่คนบริโภค 1.5 ล้านตัน และข้าวเข้าอุตสาหกรรมที่มิใช่ทั้งคนและสัตว์บริโภค 5 แสนตัน

Advertisement

 

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

Advertisement