เผยแพร่ |
---|
พะเยา – นพ. วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวตอนหนึ่งในการเป็นประธานเปิดประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่องการเตรียมการด้านสาธารณสุขรองรับผลกระทบต่อสุขภาพจากภาวะหมอกควัน และบรรยายพิเศษ? นโยบายการดำเนินงานด้านสาธารณสุขเพื่อรับมือกับผลกระทบต่อสุขภาพ จากภาวะหมอกควันในระยะวิกฤต ปี 2561? จัดโดย สนง.สสจ.พะเยา ที่โรงแรมวีซี อำเภอดอกคำใต้ จังหวัดพะเยา ว่า การแก้ไขปัญหาหมอกควันต้องบูรณาการความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนในรูปแบบประชารัฐ
ด้าน นพ. ไกรสุข เพชระบูรณิน นพ. สสจ.พะเยา กล่าวว่า จากวิกฤตปัญหาหมอกควันภาคเหนือที่จะเกิดขึ้นทุกปีในช่วงเดือนมกราคม-เมษายน ซึ่งเกิดตั้งแต่ปี 2545 พบว่า 9 จังหวัด ในภาคเหนือตอนบน ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ลำปาง ลำพูน พะเยา แพร่ น่าน และตาก มีฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอน หรือ PM10 เกินมาตรฐานที่ 120 ไมโครกรัม ต่อลูกบาศก์เมตร สาเหตุหลักเกิดจากไฟป่า การเผาพื้นที่เกษตร และการเผาวัชพืชริมทาง ก่อให้เกิดฝุ่นละออง เถ้า และเขม่าควัน สู่บรรยากาศ ประกอบกับลักษณะภูมิประเทศที่เป็นแอ่งกระทะ ล้อมรอบด้วยภูเขาสูง ความกดอากาศสูง ทำให้อากาศปิด ฝุ่นละอองไม่แพร่กระจายและแขวนลอยอยู่ในบรรยากาศได้นาน
จากรายงานเฝ้าระวังโรคของ สน.ป้องกันควบคุมโรค ที่ 1 เชียงใหม่ ที่เฝ้าระวังโรคใน 4 กลุ่มโรคที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศ ได้แก่ กลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือดทุกชนิด กลุ่มโรคระบบทางเดินหายใจ กลุ่มโรคผิวหนังอักเสบ และกลุ่มโรคตาอักเสบ พบปี 2560 มีอัตราป่วยสูงขึ้นกว่าทุกปี ในกลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือดทุกชนิดที่อัตราป่วย 10,348.02 ต่อประชากรแสนคน อัตราป่วยของกลุ่มโรค ตาอักเสบทั้งหมด 790.79 ต่อประชากรแสนคน และกลุ่มโรคระบบทางเดินหายใจทั้งหมดมีอัตราป่วย 6,004.42 ต่อประชากรแสนคน อัตราป่วยสูงกว่าในปี พ.ศ. 2559 ดังนั้น ประชาชนต้องให้ความร่วมมืองดเผาอย่างเด็ดขาด
ที่มา : ขอบคุณข้อมูลจากข่าวสด