“มะเร็งเต้านม” รู้เร็ว รักษาได้

“มะเร็งเต้านม” ถือเป็นประเภทของโรคมะเร็งที่พบบ่อยเป็นอันดับ 1 ของหญิงไทยในกลุ่มอายุ 50 ปีขึ้นไป โดยในผู้หญิงอายุ 20 ปีขึ้นไป แนะนำให้ตรวจมะเร็งเต้านมทุกปี ปัจจุบันมีผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยใหม่ใน โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ มากกว่า 600 ราย ต่อปี ซึ่งสามารถจำแนกกลุ่มเสี่ยงที่อาจเป็นมะเร็งเต้านมและสาเหตุต่างๆ ได้ดังนี้

  1. โรคบางชนิดของเต้านม เช่น เนื้องอกหรือซีสต์ 2. ผู้ที่เคยเป็นมะเร็งเต้านมมาก่อน ผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็ง 3. ผู้ที่มีบุตรคนแรกเมื่ออายุมากกว่า 30 ปี 4. ความบกพร่องของสารพันธุกรรม เช่น ผู้ที่มียีน BRCA1 หรือ BRCA2
  2. ผู้ที่มีฮอร์โมนเอสโตรเจนสูง 6. ผู้ที่เคยได้รับการฉายรังสีบริเวณทรวงอกก่อนอายุ 30 ปี จากโรคอื่น เช่น มะเร็งต่อมน้ำเหลือง เป็นต้น

การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม ปัจจุบันสามารถทำได้หลายวิธี ได้แก่

  1. การตรวจแมมโมแกรม การเอกซเรย์โดยใช้เครื่องมือเฉพาะได้รับการยอมรับว่าดีที่สุด แนะนำสำหรับผู้หญิงที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป และทำการตรวจซ้ำทุกๆ 1 ปี
  2. การตรวจด้วยตนเอง ควรทำตั้งแต่อายุ 20 ปีขึ้นไป หากคลำได้ก้อนในเต้านม มีสารเหลวหรือเลือดออกจากหัวนม ผิวหนัง หรือหัวนมบุ๋ม เป็นสะเก็ดให้พบแพทย์ทันที โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงข้างต้นที่กล่าวมานี้สามารถตรวจเองได้ง่ายๆ ใน 3 ท่า ได้แก่ 1. ยืนหน้ากระจก ดูการเปลี่ยนแปลงของขนาดรูปร่าง สีผิว ตำแหน่งของหัวนมและเต้านม 2. นอนราบ ใช้มืออีกมือคลำด้วยนิ้วชี้ กลางและนาง 3. อาบน้ำใช้สามนิ้วคลำเช็กทั่วเต้านมและรักแร้
  3. ตรวจโดยแพทย์หรือบุคลากรเฉพาะทาง ควรทำตั้งแต่ อายุ 40 ปี
  4. การตรวจเอ็มอาร์ไอ (MRI) คือ ภาพสะท้อนคลื่นแม่เหล็ก ไฟฟ้าสามารถตรวจได้ในผู้ที่มีความผิดปกติของยีน BRCA

ผู้ป่วยตั้งแต่อายุ 30 ปีขึ้นไป หรือเคยมีประวัติได้รับการฉายรังสีปริมาณสูง บริเวณหน้าอกตั้งแต่อายุน้อย แนะนำให้ทำเอ็มอาร์ไอร่วมกับการตรวจแมมโมแกรมเพื่อให้ผลแน่ชัดยิ่งขึ้น

มะเร็งเต้านมสามารถรักษาให้หายขาดได้หากได้รับการตรวจวินิจฉัยตั้งแต่ในระยะเริ่มต้น และทำการรักษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

ที่มา : ขอบคุณข้อมูลจาก รศ.นพ.ชวลิต เลิศบุษยานุกุล

ฝ่ายรังสีวิทยา

โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย