รถตัดอ้อยลำ มมส ลด ‘ค่าใช้จ่าย-แรงงาน’ ชาวไร่

เมื่อเร็วๆ นี้ ผศ. ทนงศักดิ์ มูลตรี หัวหน้าโครงการวิจัย รถตัดอ้อยลำต้นแบบ รุ่น TRF 3500 นิสิตคณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส) พร้อมผู้เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมทดสอบความก้าวหน้าโครงการวิจัย “รถตัดอ้อยลำ” ที่แปลงปลูกอ้อย อำเภอโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม

ผศ. ทนงศักดิ์ กล่าวว่า สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ให้ทุนนักวิจัยและพัฒนารถตัดอ้อยลำ เพื่อลดค่าใช้จ่ายของเกษตรกรในการตัดพันธุ์อ้อย ลดปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่ใช้ในการตัดพันธุ์ ซึ่งผู้ทรงคุณวุฒิให้คำแนะนำการเพิ่มประสิทธิภาพของรถตัดอ้อยลำให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งการออกแบบและสร้างรถตัดอ้อยลำ โดยระบบทำงานประกอบด้วยระบบตัดโคนอ้อย ระบบตัดยอดอ้อย ระบบลำเลียงอ้อย และกระบะบรรทุกอ้อย ระบบส่วนใหญ่เป็นระบบไฮดรอลิกส์ เพื่อสะดวกรวดเร็วในการใช้งาน และประสิทธิภาพการตัดอ้อยพันธุ์ได้ 60 ตัน/วัน ลดปัญหาการขาดแคลนแรงงานในการตัดอ้อยพันธุ์ได้ 60 คน/วัน ลดค่าแรงจ้างตัดจัดอ้อยพันธุ์ได้ 3,000 บาท/ไร่ (ผลผลิตอ้อยอยู่ที่ 20 ตัน ค่าตัดอ้อยพันธุ์อยู่ที่ตันล่ะ 150 บาท) ทำงานตลอดฤดูเก็บเกี่ยว 150 วัน หรือ 9,000 ตัน/ฤดูกาล ประหยัดค่าใช้จ่ายตลอดฤดู 1,350,000 บาท/ฤดู

ผลของการทดสอบประสิทธิภาพ พบว่ารถตัดอ้อยลำมีประสิทธิภาพในการตัดอ้อยที่ 0.35 ไร่/ชั่วโมง หรือ 74.80 ตัน/วัน อัตราการสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงที่ 18.68 ลิตร/ชั่วโมง ที่ความเร็วในการตัดอ้อย 0.50 กิโลเมตร/ชั่วโมง ผลได้ทางเศรษฐกิจและสังคม เก็บเกี่ยวอ้อยที่ 0.35 ไร่/ชั่วโมง หรือ 74.80 ตัน/วัน อัตราการสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงที่ 18.68 ลิตร/ชั่วโมง ที่ความเร็วในการตัดอ้อย 0.50 กิโลเมตร/ชั่วโมง ค่าใช้จ่ายในการตัดอ้อยที่ 90 บาท/ตัน

“ถ้าใช้คนตัดอยู่ที่ 22,440 บาท/วัน เมื่อใช้รถตัดอ้อยลำต้นแบบ รุ่น TRF 3500 อยู่ที่ 6,732 บาท/วัน ลดต้นทุนการตัดอ้อยได้ 15,708 บาท/วัน ทำงานตลอดฤดูเก็บเกี่ยว 90 วัน ประหยัดค่าใช้จ่ายตลอดฤดู 1,413,720 บาท/ฤดู ลดแรงงานที่ใช้ในการตัดอ้อย 6,732 คน/ฤดู”

ที่มา : ขอบคุณข้อมูลจากมติชนรายวัน