เผยแพร่ |
---|
อาชีพการเลี้ยงโคนมนับเป็นอีกหนึ่งอาชีพที่สร้างรายได้ที่มั่นคงให้กับเกษตรกรไทย และเป็นอาชีพที่ น่าภาคภูมิใจ เนื่องจากเป็นอาชีพพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 เมื่อครั้งที่พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินไปประเทศเดนมาร์ก ในปี 2503 ได้ทอดพระเนตรกิจการโคนมของเกษตรกรชาวเดนมาร์ก ทรงให้ความสนพระทัยเกี่ยวกับกิจการการเลี้ยงโคนมของชาวเดนมาร์กเป็นอย่างมาก ด้วยทรงเล็งเห็นว่าอาชีพการเลี้ยงโคนมจะช่วยให้ชาวไทยได้บริโภคอาหารที่มีคุณค่า ทั้งยังช่วยให้เกษตรกรไทยได้มีอาชีพที่มั่นคงและเป็นหลักแหล่ง ไม่ต้องบุกรุกทำไร่เลื่อนลอยอีกต่อไป และทรงมีพระราชดำรัสในคราวหนึ่งว่า “การเลี้ยงโคนมก็เป็นอาชีพที่ดีสำหรับคนไทย เหมาะกับประเทศ และถ้าใช้หลักวิชาที่เหมาะสม ก็จะทำให้มีความเจริญและมีรายได้ดี”
โครงการส่งเสริมการเลี้ยงโคนมในประเทศไทยจึงได้เริ่มต้นขึ้น ในปี 2505 รัฐบาลประเทศเดนมาร์คได้ถวายโครงการส่งเสริมการเลี้ยงโคนม โดยได้ส่งคณะผู้เชี่ยวชาญมาทำการศึกษาความเป็นไปได้ของการเลี้ยงโคนมของประเทศไทย และสำรวจพื้นที่ร่วมกันกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทย พบว่าอำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี มีความเหมาะสมที่สุด เพราะเป็นสถานที่เป็นหุบเขาสวยงาม มีแหล่งน้ำสะอาด และไม่ไกลจากตลาดกรุงเทพฯ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จึงได้ทรงสถาปนาศูนย์ฝึกอบรมการเลี้ยงโคนมไทย-เดนมาร์กขึ้นที่อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี เพื่อส่งเสริมเกษตรกรหันมายึดอาชีพการเลี้ยงโคนมเพื่อสร้างรายได้ที่มั่นคงเลี้ยงตนเองและครอบครัวได้อย่างยั่งยืน
กรมส่งเสริมสหกรณ์เป็นอีกหนึ่งหน่วยงานสำคัญในการขับเคลื่อนสืบสานอาชีพการเลี้ยงโคนม เพื่อสืบสานแนวพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งได้ทรงมีพระกระแสรับสั่งเมื่อคราวเสด็จพระราชดำเนินเปิดโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์นมของสหกรณ์โคนมปากช่อง จำกัด จังหวัดนครราชสีมา เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2557 ความว่า “ต้องปลูกฝังลูกหลานสมาชิกให้รักอาชีพการเลี้ยงโคนม มีผู้สืบทอดอาชีพการเลี้ยงโคนมและมีการอบรมส่งเสริมความรู้ในการเลี้ยงโคนม”
นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวว่า ในปี 2560 ที่ผ่านมา กรมฯได้จัดอบรม เพิ่มขีดความสามารถทายาทและยุวชนเกษตรกรโคนมในการเลี้ยงโคนมเพื่อเพิ่มผลผลิตฟาร์มโคนมที่ปฏิบัติได้และเป็นผลจริง ซึ่งร่วมกับคณะสัตวแพทย์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน และคณะสัตวแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น อบรมความรู้เกี่ยวกับการเลี้ยงและดูแลโคนมให้มีคุณภาพ โดยดำเนินการต่อเนื่องมาเป็นเวลา 3 ปี รวม 7 รุ่น และยังมีโครงการความร่วมมือทางการศึกษาเพื่อสานต่ออาชีพพระราชทาน ร่วมกับ ทั้ง 2 มหาวิทยาลัย จัดสรรทุนการศึกษาระดับปริญญาตรี จำนวน 10.080 ล้านบาท ให้บุตรสมาชิกสหกรณ์โคนมเข้ารับการศึกษาสาขาสัตวศาสตร์และสัตวแพทย์ศาสตร์ ในระดับปริญญาตรี รวม 14 ทุน ในปีการศึกษา 2561 เพื่อจะได้นำความรู้กลับมาพัฒนาฟาร์มและสหกรณ์โคนมของตนเองให้มั่นคงก้าวหน้ายิ่งขึ้น
นอกจากนี้ กรมฯยังได้เชิญชวนให้ขบวนการสหกรณ์โคนมร่วมใจน้อมเกล้าฯ ถวายโคสาว 89 ตัว แด่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และด้วยพระมหากรุณาธิคุณฯ พระองค์ได้พระราชทานโคสาว ทั้ง 89 ตัว ให้กับเยาวชนบุตรหลานของสมาชิกสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกรโคนม 89 รายนำไปเลี้ยงต่อ โดยกรมส่งเสริมสหกรณ์ได้คัดเลือกผู้รับโคสาวพระราชทานและส่งมอบแก่เยาวชนทั้ง 89 รายเรียบร้อยแล้ว และผู้ที่ได้รับพระราชทานโคสาว จำนวน 3 ราย ได้เข้าเฝ้าฯทูลละอองธุลีพระบาทสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่เสด็จพระราชดำเนินมาเปิดงานเทศกาลโคนมแห่งชาติ ประจำปี 2561 เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2561 ที่ผ่านมา พร้อมทั้งถวายรายงานความก้าวหน้าในการเลี้ยงโคนมที่ได้รับพระราชทาน และบอกเล่าถึงความภาคภูมิใจที่ได้สานต่ออาชีพการเลี้ยงโคนมจากรุ่นพ่อแม่มาจนถึงรุ่นของตัวเอง
นางสาวสมฤทัย ยอดทองหลาง อายุ 25 ปี จากสหกรณ์โคนมพิมาย จำกัด จังหวัดนครราชสีมา ได้รับ โคพระราชทาน ชื่อแรม อายุ 2 ปี 11 เดือน และได้รับการอบรมการเพิ่มขีดความสามารถยุวเกษตรกรโคนมในการเลี้ยงโคนม เพื่อเพิ่มผลผลิตฟาร์มโคนมที่ปฏิบัติได้และเห็นผลจริงในปีงบประมาณ พ.ศ.2560 กล่าวว่า ตนรู้สึกภูมิใจที่ได้ประกอบอาชีพที่พระองค์ท่านทรงพระราชทานให้ ซึ่งเป็นอาชีพที่มั่นคงสามารถเลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้อย่างยั่งยืน ปัจจุบันครอบครัวได้เลี้ยงโคนม 63 ตัว แม่โครีด 35 ตัว โคสาว 14 ตัว โคพักท้อง 1 ตัว และลูกโค 13 ตัว ปริมาณน้ำนมโคเฉลี่ย 570 กิโลกรัม/วัน หรือมีอัตราการรีดเฉลี่ย 15.04 กิโลกรัม/ตัว/วัน ซึ่งการรีดนมโคขึ้นอยู่กับสภาพอากาศด้วย ถ้าช่วงไหนอากาศเย็น โคจะให้น้ำนมมากขึ้น แต่ถ้าอากาศร้อน ผลผลิตจะลดลง ตนก็ต้องดูแลเรื่องอาหาร ยาบำรุง การให้อาหารหยาบและอาหารข้นเพราะแต่ละวันอากาศจะไม่เหมือนกัน โคจะเปลี่ยนแปลงไปตามฤดูกาล จึงต้องควบคุมเรื่องอาหารเป็นหลัก การเลี้ยงโคนมต้องอาศัยความใส่ใจและดูแลใกล้ชิด และต้องทำด้วยใจรักจริงๆ ซึ่งครอบครัวของตนทำอาชีพเลี้ยงโคมาแล้ว 26 ปี ตนได้ช่วยพ่อแม่เลี้ยงโคนมมาตั้งแต่เด็กๆ จนกระทั่งเรียนจบการศึกษา จึงได้เข้ามาบริหารจัดการให้อาหารโคภายในฟาร์ม การดูแลแปลงหญ้า การดูแลการให้วัคซีนป้องกันโรค การดูแลสุขภาพโคนม เต้านม และรักษาความสะอาดในโรงเรือนและคอกรีดนม
“หนูคิดว่าอาชีพการเลี้ยงโคนมเป็นอาชีพที่ยั่งยืน เป็นอาชีพที่ควรภาคภูมิใจเพราะในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้พระราชทานให้เรา ความใฝ่ฝันตอนเด็ก คืออยากจะเป็นปลัดอำเภอ จึงเรียนจบด้านรัฐประศาสนศาสตร์มา แล้วไปเป็นทำงานที่เทศบาล แต่พอทำแล้วรู้สึกไม่ใช่ตนเอง เพราะหนูผูกพันและรักอาชีพการเลี้ยงโคนมมากกว่า สุดท้ายก็เลยตัดสินใจลาออกแล้วมาเลี้ยงโคนม ซึ่งทำแล้วมีความสุขมากกว่า และยังทำให้มีรายได้ที่มั่นคง แม้ว่าจะไม่ถึงกับร่ำรวย สำหรับเป้าหมายชีวิตในอนาคต ต้องการสืบสานอาชีพการเลี้ยงโคนมต่อจากพ่อแม่ เพราะอาชีพเลี้ยงโคนมเป็นอาชีพที่ดี ตนจะสานต่ออาชีพนี้ด้วยการผลักดันให้เยาวชนในหมู่บ้านเห็นความสำคัญและมาร่วมกันสานต่ออาชีพจากรุ่นพ่อรุ่นแม่ พยายามทำให้เขาเห็นจุดแข็งของการเลี้ยงโคนมให้มากที่สุด เพราะตอนนี้เยาวชนแถวบ้านกำลังหันไปทำอาชีพอื่น และคาดว่าจะทำการขยายฟาร์มแต่จะพยายามผลิต โคทดแทนจากฟาร์มของตัวเอง โดยที่ไม่ต้องไปซื้อโคจากที่อื่นเพราะเป็นการประหยัดต้นทุน”นางสาวสมฤทัย กล่าว
นายพัฒนพล เพียงแก้ว อายุ 21 ปี จากสหกรณ์โคนมโคกก่อ จำกัด จังหวัดมหาสารคาม กล่าวว่า ตนได้รับโคพระราชทาน ชื่ออุ้มบุญ อายุ 2 ปี 4 เดือน ขณะนี้โคตัวนี้ได้ตั้งท้อง 5 เดือน 11 วันแล้ว เมื่อตนได้รับ โคพระราชทานไปแล้ว ได้นำไปผสมเทียมด้วยตนเอง ตนรู้สึกภูมิใจและดีใจมาก จะเลี้ยงดูโคตัวนี้ให้ดีที่สุด ตอนนี้ตนแยกโคพระราชทานออกมาเลี้ยงเดี่ยว เพราะต้องดูแลใกล้ชิด แม้การเลี้ยงโคนมจะเหนื่อย แต่ก็มีความสุข ปัจจุบันโคนมที่ครอบครัวเลี้ยงอยู่มีทั้งหมด 45 ตัว แบ่งเป็นแม่โครีด 20 ตัว โคพักท้อง 10 ตัว และลูกโค 15 ตัว ปริมาณน้ำนมโค เฉลี่ย 400-500 กิโลกรัม/วัน มีรายได้ 6,400 บาทต่อวัน ตนเลี้ยงวัวมา 7 ปีแล้ว มีรายได้เพิ่มขึ้นเป็นวันละ 6,954 บาท นับเป็นรายได้ที่ช่วยเลี้ยงดูคนในครอบครัวได้อย่างดี
สำหรับหน้าที่หลักภายในฟาร์ม ได้นำความรู้จากการเข้ารับการอบรมของกรมส่งเสริมสหกรณ์มาใช้ประโยชน์ โดยสามารถตรวจท้องโคนมและผสมเทียม การดูแลสุขภาพและรักษาสัตว์ ซึ่งสามารถลดรายจ่าย ในการตรวจท้องและผสมเทียมเป็นอย่างมาก หลังจากที่ตนได้ไปอบรมจากกรมฯ ตนได้นำความรู้มาพัฒนาฟาร์มและยังได้ออกให้บริการให้แก่สมาชิกสหกรณ์ในด้านการตรวจท้องและการผสมเทียมซึ่งเป็นการสร้างรายได้ให้กับตนเองได้โดยไม่ต้องรบกวนพ่อแม่ นอกจากนี้กิจวัตรประจำวัน ตนได้รีดนมวัวช่วงเช้า-เย็น ให้ฟางและอาหารวัว และขนนมไปส่งที่สหกรณ์ และล้างอุปกรณ์เครื่องรีดนมทั้งเช้า-เย็น โดยมีความคาดหวังในอนาคต อยากมีฟาร์มโคนมเป็นของตัวเอง มีแม่โครีดสัก 500 ตัว และจะคัดเลือกแม่พันธ์ดีๆ มาไว้และพัฒนาฟาร์มให้มีมาตรฐาน มีเครื่องมือ เครื่องใช้ที่ได้มาตรฐานและทันสมัยมากขึ้น เพราะส่วนตัวตนชอบเลี้ยงวัวเนื่องจากถูกปลูกฝังมาตั้งแต่เด็กๆ และเห็นว่าอาชีพนี้จะสามารถสร้างรายได้ให้กับครอบครัวได้ในทุกวัน และตนจะพยายามพัฒนาความรู้และความเชี่ยวชาญด้านการเลี้ยงโคนมและรักษาอาชีพนี้ให้คงอยู่ต่อไป
นายภาณุวัฒน์ พวกจันทึก อายุ 18 ปี จากสหกรณ์โคนมด่านขุนทด จำกัด จังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า ตนรู้สึกดีใจและภูมิใจมากที่ได้มาสานต่ออาชีพจากพ่อแม่ ซึ่งโคนมที่ได้รับพระราชทานไปนั้นมีสุขภาพแข็งแรง เพิ่งจะคลอดลูก และเริ่มรีดนมได้แล้ว ตนเริ่มทำฟาร์มโคนมมาได้ 3 ปีแล้ว ส่วนตัวชอบอาชีพการเลี้ยงโคนมอยู่แล้ว เพราะเป็นอาชีพที่อิสระ ไม่ต้องไปเป็นลูกจ้างใคร ปัจจุบันในฟาร์มของครอบครัวมีโคนมทั้งหมด 37 ตัว รีดนมได้ 20 ตัว ได้น้ำนมวันละ 360 กิโลกรัมต่อวัน มีรายได้เฉลี่ย 6,400 บาทต่อวัน แต่เดิมที่บ้านทำฟาร์มสุกร แต่รายได้ไม่ค่อยแน่นอน จึงได้หันมาทำเกษตรแบบผสมผสาน และเริ่มเลี้ยงโคนม และเมื่อเทียบกันแล้วพบว่าการเลี้ยงโคนมให้ผลผลิตและรายได้ที่ดีกว่าการทำฟาร์มสุกร แต่ฟาร์มโคนมของตนมีอุปสรรคนิดหน่อยโดยเฉพาะเรื่องการให้อาหาร เพราะว่าต้องผสมอาหารข้างนอกแล้วยกขึ้นรถไถเอามาใส่ในถังให้โคกิน และหญ้าที่ปลูกไว้มีไม่เพียงพอให้โคกินได้ตลอด ส่วนงานหลักๆ ที่ทำในฟาร์ม จะช่วยผสมอาหารให้วัวภายในฟาร์ม ทำความสะอาดวัวก่อนรีดนมและทำทะเบียนโคนมแต่ละตัวที่เลี้ยงอยู่ภายในฟาร์มทั้งหมด ทั้งนี้ หากตนเรียนจบการศึกษาแล้วก็จะมาทำฟาร์มโคนมเป็นอาชีพหลัก และจะซื้อโคนมมาเลี้ยงเพิ่ม และมีความตั้งใจที่จะสานต่ออาชีพการเลี้ยงโคนมจากรุ่นพ่อแม่ไปสู่รุ่นลูกหลานในอนาคตต่อไป