วช.จับมือ3เหล่าทัพ พัฒนาอากาศยานไร้คนขับ เสริมทัพสร้างความมั่นคงของประเทศ

หนึ่งในพันธกิจสำคัญในงาน “วันนักประดิษฐ์ 2561” อันถือเป็นการเริ่มต้นในการพัฒนาประเทศอย่างบูรณาการทั้งในเรื่องเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคง คือการลงบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการพัฒนา “อากาศยานไร้คนขับ” หรือ โดรน (UAV: Unmanned Aerial Vehicle) ระหว่าง สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ กับ กองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ และสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ ซึ่งเป็นการบูรณาการด้านการวิจัยและพัฒนาร่วมกันในการผลักดันการพัฒนา “อากาศยานไร้คนขับ” ด้วยการส่งเสริมสนับสนุนด้านการวิจัยและพัฒนา รวมถึงแลกเปลี่ยนความรู้ ทรัพยากร บุคลากร ให้สามารถนำไปสู่การใช้ประโยชน์อย่างได้ผล

หลายปีที่ผ่านมาเชื่อว่าคนไทยจำนวนไม่น้อยคงคุ้นหูกับคำว่า โดรน  (Drone)  หรือ อากาศยานไร้คนขับ กันเป็นอย่างดี เพราะเป็นนวัตกรรมอัจฉริยะแบบใหม่ที่สร้างอากาศยานแบบไร้คนขับขึ้นที่ไม่ได้มีเพียงแค่ใช้ถ่ายภาพมุมสูงให้มีความสวยงามเท่านั้น หากแต่นักวิจัยได้คิดค้นขึ้นมาเพื่อใช้งานในทางทหาร สำหรับให้โดรนบินสำรวจพื้นที่หรือปฏิบัติการแทนนักบินในพื้นที่เสี่ยงอันตราย อันเป็นการสร้างความมั่นคงและรักษาอธิปไตยให้กับประเทศชาติ

พลตรี ศักดิ์สิทธิ์ เชื้อสมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานวิจัย และพัฒนาทางการทหาร กองทัพบก กล่าวถึงที่มาในการเข้าร่วมบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้ว่า กองทัพบก ได้มีการวิจัยเกี่ยวกับอากาศยานไร้คนขับอยู่แล้ว และได้มีการพัฒนามาเป็นลำดับ ตั้งแต่ระดับที่เล็ก ปานกลาง ถึงขนาดใหญ่ และการเข้ามาร่วมมือกับ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ก็เพราะต้องการจะพัฒนาอากาศยานไร้คนขับให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และบินได้ระยะไกลมากขึ้น

“ที่ผ่านมาเรามีการวิจัยมีการทดสอบเกี่ยวกับอากาศยานไร้คนขับมาโดยตลอด และได้มีการรับรองมาตรฐานของกองทัพบก อากาศยานไร้คนนักบิน ถือเป็นยุทโธปกรณ์ ชนิดหนึ่ง ที่มีส่วนช่วยในเรื่องความมั่นคง ซึ่งเราจะใช้ในเรื่องของการเฝ้าตรวจ การลาดตระเวน สนามรบ การบินเพื่อปรับในเรื่องของปืนใหญ่ การตรวจสอบความเสียหายหรือแม้กระทั่ง ในเรื่องของภัยพิบัติต่างๆ เราก็สามารถใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล อีกส่วนที่สำคัญมากคือการนำไปใช้ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ในเรื่องการลาดตระเวน และตรวจเส้นทาง ดังนั้นเราจึงได้มีการประสานมายัง วช.เพื่อร่วมมือกันในการทำงานวิจัย เพื่อที่จะต่อยอดให้มีประสิทธิภาพและนำไปสู่การใช้งานอย่างเป็นรูปธรรม”

ขณะที่ พลเรือตรีก่อเกียรติ ปั้นดี ผู้อำนวยการสำนักงานวิจัยและพัฒนาการทางการทหาร กองทัพเรือ กล่าวว่า กองทัพเรือได้มีการพัฒนาในเรื่องของอากาศยานไร้คนขับมานานแล้ว ที่ผ่านมากองทัพเรือก็มีส่วนร่วมในการพัฒนากับหลายฝ่ายด้วยกัน ทั้ง อาทิ กระทรวงกลาโหม  และสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ เป็นต้น

“เราได้พัฒนาอากาศยานไร้คนขับขนาดเล็ก เรียกว่าโครงการ นารายณ์ ซึ่งเป็นอากาศยานที่เป็นปีกหมุนขนาดเล็ก ต่อมาร่วมกับ สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ หรือ สปท. มีการพัฒนาอากาศยานลูกผสมระหว่าง ปีกหมุน กับปีกนิ่ง ขึ้นมา โดยเราเรียกโครงการนี้ว่า FUVEC เครื่องอากาศยานไร้นักบินปีกนิ่ง ขึ้น-ลงทางดิ่ง ที่ใช้ปฏิการทางทะเล สามารถขึ้นลงในเรือได้ เราก็ประสบผลสำเร็จในระดับหนึ่ง และเราก็ต้องการพัฒนามันต่อไป”

ในเมื่อต้องการให้การพัฒนายุทโธปกรณ์ดำเนินต่อไปอย่างไม่หยุดนิ่ง ดังนั้น กองทัพเรือ จึงได้ร่วมลงนามบันทึกข้อความร่วมมือในการพัฒนาอากาศยานไร้คนขับ กับ วช.  ภายใต้ชื่อโครงการ “MARCUS” เพื่อให้กองทัพเรือมีประสิทธิภาพและทันสมัย อันเป็นการเพิ่มขีดความสามารถได้มากขึ้น

“โครงการนี้มีส่วนช่วยส่งเสริมความมั่นคงทางทะเลได้ ปัญหาของกองทัพเรืออย่างหนึ่งคือการใช้อากาศยานทางทะเล เราขาดแคลนนักบินด้านนี้ และก็การใช้อากาศยานทางทะเลมีความสิ้นเปลืองสูง ดังนั้นถ้าเราได้อากาศยานไร้คนขับ มาประจำในเรือ เราก็สามารถเพิ่มขีดความสามารถในการตรวจการณ์ทางทะเลและขยายระยะเวลาการบินได้นานขึ้น ก็จะเป็นฟันเฟืองเล็กๆในการป้องกันและรักษาอธิปไตยของชาติทางทะเลอย่างได้ผล”

ปิดท้ายที่ พลอากาศตรี สฤษดิ์พร สุนทรกิจ ผู้อำนวยการสำนักงานวิจัย ศูนย์วิจัยพัฒนาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี การบินและอวกาศ กองทัพอากาศ  ได้ให้เหตุผลถึงการเข้าร่วมบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับ วช. ในครั้งนี้ว่า กองทัพอากาศได้เริ่มวิจัยและพัฒนาเรื่องอากาศยานไร้คนขับมานานถึง 15 ปี ปัจจุบันกองทัพอากาศมี ขีดความสามารถในการสร้างอากาศยานไร้คนขับได้หลายแบบด้วยกัน ที่มาร่วมกับ วช. ในครั้งนี้เพราะเห็นว่า อากาศยานไร้คนขับนอกจากจะใช้งานด้านความมั่นคงได้แล้ว หากแต่ยังสามารถมาใช้งานทางด้านกิจการพลเรือน เรื่องของการพัฒนาประเทศ เรื่องของการช่วยเหลือประชาชน และภัยพิบัติต่างๆได้อีกด้วยอันเป็นการพัฒนาประเทศแบบบูรณาการ

“สิ่งที่เราต้องการพัฒนาต่อไปคือนอกจากตัวอากาศยานแล้ว เรายังตั้งใจจะพัฒนาตัวเซ็นเซอร์  แอปพลิเคชั่นซอฟแวร์ที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำมาสนับสนุนประเทศ อันเป็นการขานรับนโยบาย ไทยแลนด์ 4.0 ยกตัวอย่าง ตอนนี้เรากำลังทำซอฟแวร์ เรื่องการสำรวจภูมิประเทศเพื่อแปลงภูมิประเทศเป็น ภูมิประเทศดิจิตอล จากนั้นจะใช้ข้อมูลดิจิตอลในการวิเคราะห์ในการไหวของน้ำและปริมาณน้ำ ซึ่งจะช่วยในการบริหารจัดการน้ำของประเทศ ในภาพรวมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในเรื่องของความมั่นคงเรามีเซ็นเซอร์ตัวหนึ่งที่สามารถมองทะลุต้นไม้ลงไปได้  เพราะฉะนั้นในภาระกิจของการรักษาความมั่นคง หรือการปราบปรามยาเสพติด ป้องกันการลักลอบขนสินค้าหนีภาษี ก็จะดำเนินการได้ง่ายขึ้น เพราะเราสามารถจะสแกนไปใต้ต้นไม้ ว่ามีผู้ที่ทำผิดกฏหมาย ผู้ไม่หวังดี อยู่ตรงนั้นหรือไม่”

พลอากาศตรี สฤษดิ์พร ยังกล่าวต่อว่า  ในเรื่องของการช่วยเหลือเกษตรกร นั้นทางกองทัพอากาศก็ได้ใช้เทคนิคที่เรียกว่า มัลติสเปกตัม เซนเซอร์  โดยตัวเซนเซอร์จะประกอบด้วยตัวตรวจจับความถี่ เพราะฉะนั้นสามารถช่วยกระทรวงเกษตรในการแยกแยะพืชผลทางเกษตร ว่ามีปริมาณการผลิตเท่าไร อยู่ในช่วงไหน ของการผลิต  ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาเรื่องผลผลิตที่ไม่ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคอย่างถูกจุด

นับเป็นอีกหนึ่งบันทึกทางประวัติศาสตร์ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ร่วมกับหน่วยงานต่างๆเพื่อผนึกกำลังแรงกายและแรงใจในการคิดค้นและพัฒนานวัตกรรมสิ่งใหม่ๆในการพัฒนาประเทศชาติให้มีความมั่นคง และทันยุคสมัย สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ไทยแลนด์ 4.0