มน.ชู “มะม่วงมหาชนก” วิจัยพบสารต้านมะเร็ง ต่อยอดให้ความรู้สู่เกษตรกร

ผศ.ดร. พีระศักดิ์ ฉายประสาท อาจารย์ประจำคณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร (มน.) จังหวัดพิษณุโลก เปิดเผยว่า หลังจากได้รับทุนวิจัยจากสํานักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และทำการวิจัยมะม่วงมหาชนก ที่สามารถต้านโรคมะเร็งได้ และช่วยลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งหลายชนิด โดยพบว่าการวิจัยจากผู้บริโภคมีความต้องการอาหารที่มาจากธรรมชาติ มีประโยชน์ต่อสุขภาพและช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆ ในปัจจุบัน ส่วนใหญ่ในผักและผลไม้จะพบสารต้านอนุมูลอิสระ เช่น แคโรทีนอยด์ ซึ่งไม่แสดงสีให้เห็น เนื่องจากถูกสีเขียวของคลอโรฟิลล์บดบังไว้ แต่เมื่อผักและผลไม้แก่ตัว คลอโรฟิลล์จะสลายตัวไป สารสีแคโรทีนอยด์จึงปรากฏสีให้เห็น เช่น เหลือง ส้ม แดง

“แคโรทีนอยด์แบ่งเป็น 2 กลุ่ม ตามลักษณะโครงสร้างทางเคมี คือแคโรทีน และเบต้าแคโรทีน ซึ่งในปัจจุบันพบว่าแคโรทีนอยด์มีประโยชน์ทางด้านช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันที่ดีขึ้น ช่วยในการรวมตัวเองเข้ากับเยื่อบุเซลล์เหมือนกับวิตามินอี ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งหลายชนิด และช่วยลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจได้ถึง 40% อีกทั้งยังสามารถลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคต้อกระจกและโรคจอประสาทตาเสื่อม นอกจากนี้สารต้านอนุมูลอิสระที่น่าสนใจอีกชนิดหนึ่ง คือแอนโธไซยานิน ซึ่งเป็นสารที่ให้สีแดง ม่วง และน้ำเงิน สารสกัดแอนโธไซยานินเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยชะลอความเสื่อมของเซลล์ ช่วยลดอัตราเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจ และเส้นเลือดอุดตันในสมอง ช่วยยับยั้งจุลินทรีย์ที่ก่อโรคในระบบทางเดินอาหารได้อีกด้วย”

ผศ.ดร. พีระศักดิ์ ระบุว่า มะม่วงมหาชนกเป็นมะม่วงพันธุ์ลูกผสมที่เกิดจากการผสมกันระหว่างพันธุ์ซันเซท และพันธุ์หนังกลางวัน มีคุณสมบัติที่โดดเด่นกว่ามะม่วงพันธุ์อื่น คือเปลือกผลเมื่อแก่หรือสุกจะมีผิวสีแดงม่วงสวยงาม หรือเหลืองเข้มปนแดง ดังนั้น จึงมีการศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อการเกิดสีแดง และปริมาณแอนโธไซยานินในผลมะม่วงมหาชนก พบว่าการฉีดพ่นสารเมทิลจัสโมเนส ความเข้มข้น 80 ไมโครลิตร ต่อมิลลิลิตร สามารถช่วยปรับปรุงคุณภาพ เช่น วิตามินซี ปริมาณน้ำตาลกลูโคส ฟรุกโตส ซูโครส และพบการเพิ่มขึ้นของปริมาณแคโรทีนอยด์ เท่ากับ 1.43 มิลลิกรัม ต่อ 100 กรัม น้ำหนักสด มากกว่าการไม่ฉีดพ่นสาร

“อีกทั้งการใช้สารเมทิลจัสโมเนส และเอทิฟอนมีผลในการเพิ่มระดับของแคโรทีนอยด์ระหว่างการสุกแก่มากกว่ามะม่วงที่ไม่ใช้สาร 50% โดยพบมากที่สุดในช่วงวันที่ 5-6 ของการเก็บรักษา (ระยะพร้อมรับประทาน) อีกทั้งการประยุกต์ใช้สารเมทิลจัสโมเนส และเอทิฟอน ยังสามารถควบคุมกระบวนการสุกและปรับปรุงคุณภาพทางโภชนาการของผลมะม่วงได้อย่างมีประสิทธิภาพ”

“ในอนาคตทางมหาวิทยาลัยนเรศวรจะต่อยอดไปให้ความรู้แก่เกษตรกรที่ปลูกมะม่วงมหาชนกมากขึ้น เพื่อประโยชน์ต่อสุขภาพต่อไป”

ที่มา : ขอบคุณข้อมูลจาก กรรณิการ์ สิงหะ