เปิดผลวิจัย ทะเลไทยกำลังเผชิญคลื่นปัญหาถาโถม ชายฝั่งกัดเซาะ สัตว์น้ำลดลง ขยะทะเลเพิ่มจำนวน

เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2561  ที่ผ่านมา ณ ห้องออดิทอเรียม อาคารเฉลิมราชกุมารี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  มีการจัดงานงานแถลงข่าวเรื่อง สถานการณ์ทะเลไทย พ.ศ.2560 : ผลประโยชน์แห่งชาติทางทะเลของ…(ใคร)…ไทย ? เพื่อรายงานสถานการณ์ผลประโยชน์แห่งชาติทางทะเล พ.ศ.2560  รวมถึงสรุปประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องกับทะเลไทย รวมถึงข้อเสนอแนะเชิงนโยบายฉบับย่อผลประโยชน์แห่งชาติและความมั่นคงทางทะเล   นอกจากนี้วันเดียวกันยังมีการทำพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนาและขับเคลื่อนงานวิจัย “ผลประโยชน์แห่งชาติและความมั่นคงทางทะเล” ระหว่าง 3 หน่วยงาน คือ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ  และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เพื่อสร้างความร่วมมือการทำงานวิจัยอันนำไปสู่การแก้ไขปัญหาทางทะเลของประเทศให้ตรงจุดลและเกิดประสิทธิผลมากที่สุด

ด้านศาสตราจารย์ ดร.เผดิมศักดิ์ จารยะพันธุ์  นักวิจัยจากภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้อธิบายความหมายของคำว่า “ผลประโยชน์แห่งชาติทางทะเล” ไว้ว่า คือผลประโยชน์ที่คนไทยทุกคน พึงได้รับจากทะเลหรือเกี่ยวเนื่องกับทะเลทั้งภายในและภายนอกน่านน้ำไทย โดยหมายรวมถึงพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเล เกาะ พื้นดินท้องทะเล หรืออากาศเหนือท้องทะเลด้วย  โดยเป็นมูลค่าที่สามารถประเมินออกมาในรูปตัวเงินและไม่ใช่ตัวเงิน โดยปัจจุบัน (ปี 2561) ไทยมีพื้นที่ทางทะเลรวม 323,488.32 ตารางกิโลเมตร หรือคิดเป็น 60% ของพื้นที่ทางบก ความยาวชายฝั่งทะเลเท่ากับ 3,151.13 กิโลเมตร  ประเทศไทยมีการใช้ประโยชน์จากทะเล 4 ภาคส่วนคือ 1.การพาณิชยนาวี 2.การประมง 3.การผลิตพลังงาน และ 4.การท่องเที่ยวจังหวัดชายทะเล ข้อมูลระบุว่าปี 2559 มูลค่าการนำเข้าและส่งออกสินค้าทางทะเลอยู่ที่ 9.6 ล้านล้านบาท หรือปริมาณ 209 ล้านตัน สินค้าส่วนใหญ่คือปิโตรเลียม  ด้านธุรกิจอู่ต่อ อู่ซ่อมบำรุงเรือ รายได้มีแนวโน้มลดลงเหลือ 12.2 พันล้านบาทในปี 2560   ด้านประมงในปี 2555 – 2558 ไทยมีปริมาณและมูลค่าการส่งออกอาหารทะเลค่อยๆลดลงเรื่อยๆ  ด้านการท่องเที่ยว ไทยมีนักท่องเที่ยวมาเที่ยวทะเล 94 ล้านคน จากจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งหมด 265 ล้านคน มีรายได้ 1 ล้านล้านบาท จากรายได้การท่องเที่ยวทั้งหมด 21. ล้านล้านบาท  สัตว์น้ำที่จับได้มีค่อยๆมีสติลดลงเรื่อยๆ และในปี 2558 มีดัชนีชี้วัดความเสื่อมคุณภาพของทะเล พบการเกยตื้นของสัตว์ทะเลหายากอย่างเต่าทะเล โลมา พะยูนและวาฬ รวม 345 ครั้ง ในส่วนของปะการังปัจจุบันประเทศไทยเหลือปะการังที่มีสภาพสมบูรณ์จัดอยู่ในระดับดีถึงดีมากเพียง 5.7 % จากจำนวนปะการังทั้งหมด  ด้านคุณภาพน้ำทะเลกรมควบคุมมลพิษระบุว่ามีความเสื่อมโทรมมากที่สุดคือ อ่าวไทยรูปตัว “ก”

ด้านปัญหาขยะทะเลพบว่า ขยะชายหาดส่วนใหญ่เป็นพลาสติกจำพวกถุง หลอด ขวด ฝาจุก ภาชนะบรรจุอาหาร คิดเป็น 49% ของขยะที่พบทั้งหมด  โดยผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิจัยจาก            ม.เกษตรศาสตร์ ระบุว่า  การเพิ่มขึ้นของประชากรคือสาเหตุหลักที่มีการใช้ประโยชน์จากทะเลมากขึ้น ควรมีการบริหารจัดการตั้งแต่ขยะบนบก ที่เชื่อมต่อการทำงานกับการบริหารจัดการขยะชายหาดและขยะในทะเล โดยมาตรการที่มีการดำเนินการไปแล้วคือการติดตั้งที่ทิ้งบุหรี่บริเวณชายหาดต่างๆ ของประเทศ แต่ถือว่าเป็นเพียงจุดเล็กๆของปัญหาขยะทะเลที่กำลังประสบอยู่

นอกจากนี้จากการเก็บข้อมูลของนายศักดิ์อนันต์ ปลาทอง นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  พบว่าไทยกำลังประสบปัญหาสถานการณ์การกัดเซาะชายฝั่ง โดยความยาวของชายฝั่งที่มีการกัดเซาะกินระยะทาง 145.73 กิโลเมตร/ชั่วโมง คิดเป็นเปอร์เซ็นต์ 4.63 จากความยาวชายฝั่งทั้งหมด  โดยสาเหตุสำคัญของการกัดเซาะเกิดจากการเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติ การพัฒนาพื้นที่ชายฝั่ง และการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะที่ไม่เหมาะสมจนก่อให้เกิดการกัดเซาะเพิ่ม

ด้านปัญหาปะการังที่มีจำนวนลดลง ผศ.ดร.ธรรมศักดิ์ ยีมิน นักวิจัยจากสมาคมวิทยาศาสตร์ทางทะเลแห่งประเทศไทยและมหาวิทยาลัยรามคำแหง ระบุว่าปัจจุบัน ไทยมีพื้นที่แนวปะการังกินบริวเณ 153 ตารางกิโลเมตร คิดเป็นมูลค่าประมาณ 36,450 ล้านบาท/ปี โดยมีมูลค่าด้านการท่องเที่ยวคิดเป็นเงิน 84,357 ล้านบาทต่อปี  จึงจำเป็นต้องมีแนวทางด้านการจัดการการท่องเที่ยว แนวทางการจัดการน้ำเสีย แนวทางการจัดการเพื่อลดปริมาณตะกอนลงสู่ทะเล และแนวทางการจัดการประมงที่ส่งผลกระทบต่อแนวปะการัง เพื่อแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น  ทั้งนี้ศาสตราจารย์ ดร.เผดิมศักดิ์ ได้กล่าวให้ข้อมูลเสริมว่า ในปี 2561  ประเทศไทยมีสิ่งติดตั้งที่ใช้ในกิจการปิโตรเลียมในทะเลอยู่ 452 แท่น การรื้อถอนแท่นที่มีอยู่เมื่อหมดอายุการใช้งานเป็นอีกความท้าทายด้านทะเลของประเทศที่น่าจับตามอง ทั้งในประเด็นสัมปทานการรื้ออน ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นก่อนและหลังทำการรื้อถอน