เปิดแผนกรมชลฯ รองรับ EEC ปั้นโครงข่ายน้ำตะวันออก-ดึงน้ำสระแก้ว

จากแนวทางของรัฐบาลว่าด้วยระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ EEC ซึ่งจะก่อให้เกิดการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมในบริเวณจังหวัดภาคตะวันออก อันได้แก่ ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา และจันทบุรี ทั้งนิคมอุตสาหกรรมเดิมที่มีอยู่แล้ว นิคมอุตสาหกรรมรายใหม่ ตลอดจนเกษตรกร และภาคบริการ งานนี้กรมชลประทาน และการประปาส่วนภูมิภาค ดูจะรับบทหนักในการเตรียมความพร้อมเรื่องปัญหา

ที่ว่าด้วย “น้ำ” ทั้งเพื่อตอบสนองความต้องการที่จะเพิ่มมากขึ้น และสร้างความไว้วางใจให้เหล่านิคมอุตสาหกรรม ว่าจะไม่มีเหตุการณ์แบบการท่วมนิคมอมตะนคร เมื่อปี 2556

อีกข้อมูลจากกรมชลฯระบุว่า ในระยะเวลา 10 ปี จะสามารถสร้างพื้นที่เพิ่มความจุน้ำในการรองรับการมาของ EEC ให้ถึง 354 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) โดยคาดว่าจะมีน้ำสำหรับใช้การสูงถึง 781 ล้าน ลบ.ม.ในปี 2569 เพียงพอกับความต้องการใช้น้ำเพื่ออุตสาหกรรมที่เอกชนคาดการณ์ว่าจะเพิ่มเป็น 476 ล้านลบ.ม. จากปัจจุบัน 315 ล้านลบ.ม. และอาจสูงถึง 561 ล้านลบ.ม.เมื่อถึงปี 2579 ในขณะที่กรมชลฯเตรียมผันน้ำนอกพื้นที่จากจังหวัดสระแก้วมาช่วยหนุนในระยะยาว รองรับกับความหวังดันเศรษฐกิจไทยกลับมายิ่งใหญ่ในอาเซียนผ่านแนวทาง EEC

เปิด 6 แนวทางจัดการน้ำ EEC

“เกรียงศักดิ์ พุ่มนาค” ผู้อำนวยการส่วนบริหารจัดการน้ำและรักษา สำนักงานกรมชลประทานที่ 9 ระบุว่า แนวทางหลักที่กรมชลประทานวางไว้ เป็นแผนรองรับความต้องการใช้น้ำในระยะเวลา 10 ปี ประกอบด้วย

1.ปรับปรุงแหล่งน้ำเดิม 7 แห่ง ประกอบด้วย อ่างเก็บน้ำคลองใหญ่ จังหวัดระยอง อ่างเก็บน้ำหนองค้อ จังหวัดชลบุรี อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล จังหวัดระยอง อ่างเก็บน้ำบ้านบึง จังหวัดชลบุรี อ่างเก็บน้ำมาบประชัน จังหวัดชลบุรี อ่างเก็บน้ำคลองหลวง จังหวัดชลบุรี และอ่างเก็บน้ำคลองสียัด จังหวัดฉะเชิงเทรา

โดยอ่างเก็บน้ำมาบประชัน อ่างเก็บน้ำบ้านบึง อ่างเก็บน้ำคลองหลวง อ่างเก็บน้ำคลองสียัด ยังไม่ได้รับงบประมาณ ส่วนอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล อ่างเก็บน้ำคลองใหญ่ และอ่างเก็บน้ำหนองค้อ ได้รับงบประมาณแล้ว และกำลังก่อสร้าง

การปรับปรุงแหล่งน้ำทั้ง 7 แห่ง จะเพิ่มความจุน้ำในอ่างเก็บได้เพิ่ม 102 ล้าน ลบ.ม. จากความจุเดิม 770 ล้าน ลบ.ม. รวมเป็น 872 ล้าน ลบ.ม.

2.พัฒนาแหล่งน้ำใหม่ 4 แห่ง ในลุ่มน้ำคลองวังโตนด จังหวัดจันทบุรี ประกอบด้วย อ่างเก็บน้ำคลองประแกด อ่างเก็บน้ำคลองพะวาใหญ่ อ่างเก็บน้ำคลองหางแมว อ่างเก็บน้ำวังโตนด ซึ่งจะทำให้มีความจุน้ำในพื้นที่รวม 308.5 ล้าน ลบ.ม. จัดสรรเพื่อการเกษตร 170 ล้าน ลบ.ม. และจะสามารถผันน้ำเพื่อใช้รองรับ EEC ได้อีก 100 ล้าน ลบ.ม.

3.เชื่อมโยงแหล่งน้ำและรับผันน้ำ 2 แห่ง ทำให้สามารถผันน้ำมาใช้ในพื้นที่ EEC รวมถึงเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดภาคตะวันออกได้เพิ่ม 20 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี โดยเป็นการปรับปรุงคลองพานทองเพื่อผันน้ำไปอ่างเก็บน้ำบางพระ และโครงการผันน้ำประแสร์-บางพระ เพื่อรองรับการบริหารจัดการร่วมจากการผันน้ำจากกลุ่มวังโตนด ทำให้สามารถผันน้ำไปเก็บยังอ่างเก็บน้ำอื่น เมื่อน้ำในอ่างเกินความจุ

โดยคลองชลประทานพานทองจะกลายเป็นเส้นเลือดสำคัญในการส่งน้ำเข้าสู่อ่างเก็บน้ำบางพระ เพื่อให้อ่างเก็บน้ำบางพระกลายเป็นศูนย์กลางบริหารจัดการน้ำในจังหวัดชลบุรี ทั้งเพื่อการอุปโภค บริโภค อุตสาหกรรม รวมไปถึงการท่องเที่ยว และภาคบริการที่จะขยายตัวขึ้นรองรับ EEC

4.สูบน้ำกลับท้ายอ่าง 2 โครงการ คือ ปรับปรุงระบบสูบน้ำอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล จังหวัดระยอง และก่อสร้างระบบสูบผันน้ำคลองสะพาน-อ่างเก็บน้ำประแสร์ ซึ่งจะทำให้มีน้ำใช้การได้เพิ่มอีก 55 ล้าน ลบ.ม.

5.แผนงานป้องกันน้ำท่วม ประกอบด้วย การป้องกันน้ำท่วมในพื้นที่อำเภอเมือง จังหวัดระยอง ผ่านการสร้างสถานีสูบน้ำคลองทับมา และสถานีสูบน้ำหนองโพรง และการป้องกันน้ำท่วมลุ่มน้ำท่าลาด-คลองหลวง บริเวณอำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี

6.การหาแหล่งน้ำสำรอง และบริหารจัดการความต้องการน้ำ โดยบริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรือ อีสท์วอเตอร์ จะทำให้มีน้ำเพื่อการใช้สำหรับรองรับระเบียงเศรษฐกิจฯเพิ่มขึ้น 77 ล้าน ลบ.ม.

แผนรองรับทั้ง 6 ของกรมชลฯเพื่อรองรับ EEC ระยะเวลา 10 ปีนี้ มีงบประมาณ 15,221 ล้านบาท ทั้งนี้ไม่รวมแผนที่ 6 ของอีสท์วอเตอร์ โดยคาดว่าจะเพิ่มปริมาณน้ำใช้การอีก 354 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี จากเดิม 427 ล้าน ลบ.ม. เป็น 781 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งโครงการทั้งหมดคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2566

อ่างเก็บน้ำบางพระ

ผันคลองพระสะทึงเข้าอ่างสียัด

ขณะที่ อีสท์วอเตอร์ เปิดเผยตัวเลขจากการสำรวจผู้ประกอบการ พร้อมคาดการณ์ปริมาณการใช้น้ำ ทั้งจากลูกค้าเดิมและลูกค้าใหม่ รวมถึงนอกพื้นที่อุตสาหกรรม และอุตสาหกรรมที่ไม่ได้ใช้น้ำโดยตรงจากบริษัทจัดการและพัฒนาทรัพยากรภาคตะวันออก ว่าปี 2560 ในภาคอุตสาหกรรมมีการใช้น้ำรวมอยู่ที่ 315 ล้าน ลบ.ม. ในขณะที่การคาดการณ์ต่อเนื่องว่าปี 2564 จะกลายเป็น 395 ล้าน ลบ.ม. และปี 2569 กลายเป็น 476 ล้าน ลบ.ม. และอาจสูงถึง 561 ล้าน ลบ.ม.ในปี 2579

“เฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์” รองอธิบดีฝ่ายวิชาการ กรมชลประทาน เปิดเผยว่า เพื่อการรองรับความต้องการใช้น้ำใน EEC ในระยะ 20 ปีข้างหน้าให้เพียงพอนั้น ได้มีการวางแผนผันน้ำส่วนเกินจากอ่างเก็บน้ำคลองพระสะทึง จังหวัดสระแก้ว มาเก็บในอ่างเก็บน้ำสียัด

ปีละประมาณ 70-120 ล้าน ลบ.ม. เพื่อใช้ในพื้นที่ และผันต่อไปยังสถานีสูบน้ำพานทอง ก่อนเข้าเส้นท่อเดิมจากคลองพระองค์ไชยานุชิตไปลงอ่างเก็บน้ำบางพระ แต่ยังติดปัญหาใหญ่ที่ว่าเป็นโครงการผันน้ำข้ามลุ่มแม่น้ำ พื้นที่อยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน ซึ่งยังต้องศึกษาความเหมาะสม และผลกระทบสิ่งแวดล้อมต่อไป

“อ่างเก็บน้ำคลองสียัดออกแบบให้มีความจุ 420 ล้าน ลบ.ม. มากกว่าปริมาณน้ำท่าเฉลี่ยถึงปีละ 285 ล้าน ลบ.ม. ทำให้มีพื้นที่เหลือ จึงมีแนวคิดผันน้ำส่วนเกินจากอ่างเก็บน้ำคลองพระสะทึงมาเติมทุกปี” รองอธิบดีกรมชลประทานกล่าว

ทั้งนี้อ่างเก็บน้ำคลองพระสะทึง มีความจุ 65 ล้าน ลบ.ม. มีน้ำท่า หรือน้ำไหลผ่านและใช้การได้ 190 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี ทางกรมชลประทานมีแนวทางผันน้ำด้วย

สถานีสูบน้ำใหม่ซึ่งมีแผนจะใช้สูบน้ำจากคลองชลประทานพานทองเข้าสู่อ่างเก็บน้ำบางพระ