กท.เกษตรดึงท้องถิ่นแก้ ”ยางตก” ทำ-ซ่อมถนน ใช้ยางกว่า 7.4 หมื่นตัน มูลค่า 7 พันล้านบ.

เมื่อที่ 28 กุมภาพันธ์ นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการประชุมและบรรยายพิเศษ “โครงการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำ” ซึ่งเป็นโครงการที่กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจัดขึ้น เพื่อซักซ้อมความเข้าใจในแนวทางการดำเนินการแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำ และช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราให้มีรายได้เพิ่มขึ้น โดยมีนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ดร.ธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท รองผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย ด้านอุตสาหกรรมยางและการผลิตยาง ผู้แทนจากกรมทางหลวง ท้องถิ่นจังหวัด นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด และผู้อำนวยการสำนักการช่าง สังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ กว่า 200 คน เข้าร่วมประชุม ณ โรงแรมรอยัลริเวอร์ กรุงเทพมหานคร

นายกฤษฎา กล่าวว่า ยางพาราเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ สามารถทำรายได้เข้าประเทศได้ ปีละหลายแสนล้านบาท แต่ในปัจจุบันพบว่าเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราได้รับผลกระทบจากปัญหาราคายางพาราตกต่ำ ทั้งนี้อาจมีสาเหตุหลายประการ อาทิ ผลผลิตยางพาราล้นตลาด อุปสงค์และอุปทานของสินค้า ความผันผวนของเศรษฐกิจโลก ซึ่งรัฐบาลภายใต้การนำของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เข้าใจและตระหนักถึงปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกรชาวสวนยางพารา จึงได้กำหนดแนวทางและมาตรการในการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกยางพารา และเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนจากปัญหาราคายางพาราตกต่ำ รวมทั้งสนับสนุนให้ส่วนราชการ/หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องสำรวจความต้องการและพิจารณาจัดทำโครงการหรือกิจกรรมที่มีส่วนผสมของยางพารา เพื่อเป็นการสนับสนุนและช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราให้มีรายได้เพิ่มขึ้น ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงมหาดไทย โดยกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นในการดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่มีส่วนผสมของยางพารา เช่น โครงการก่อสร้างหรือซ่อมแซมถนนที่มีส่วนผสมของยางพารา หรือสิ่งก่อสร้างอื่นๆ ที่ใช้ยางพาราจากงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในวันนี้ ก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่าการจัดประชุมในครั้งนี้จะเป็นการกำหนดแนวทาง การระดมความคิดในการขับเคลื่อนนโยบายแก้ไขปัญหาราคายางตกต่ำ โดยมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินการได้อย่างสัมฤทธิ์ผลต่อไป

ด้านนายสุทธิพงษ์ กล่าวต่อว่า วันนี้รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมโครงการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำในวันนี้ สำหรับกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นนั้น ก็ได้ให้ความสำคัญในด้านการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกยางพารา เพื่อแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำ รวมทั้งให้ส่วนราชการ หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เร่งสำรวจความต้องการและพิจารณาจัดทำโครงการหรือกิจกรรมที่มีส่วนผสมของยางพารา โดยกรมได้กำหนดเป้าหมายการใช้ยางพารา ประมาณการไว้ที่ 74,000 ตัน โดยการคิดคำนวณจากข้อบัญญัติ/เทศบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2561 ข้อมูลเงินสะสมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และแผนพัฒนาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 4 ปี (พ.ศ. 2561-2564) และกำลังสนับสนุนนโยบายเร่งด่วนนี้ให้เป็นรูปธรรม โดยขอให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดทำโครงการก่อสร้าง/ปรับปรุงถนนที่มีส่วนผสมของยางพารา หรือสิ่งก่อสร้างอื่นๆ ที่ใช้ยางพาราเป็นลำดับแรกอย่างน้อย 1 โครงการ เพื่อให้การแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล ในการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกยางรายย่อย และจากการสรุปผลการรายงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ ได้รายงานว่า มีการใช้งบประมาณเงินสะสมแล้ว 5,473 ล้านบาท ใช้ยางพาราประมาณ 3,940 ตัน และทางองค์การบริหารส่วนจังหวัด ก็ได้รายงานว่า มีการใช้งบประมาณเงินสะสมแล้ว 44 จังหวัด คิดเป็น 1,872 ล้านบาท ใช้ยางพาราไป 1,173 ตัน มีองค์การบริหารส่วนจังหวัด รายงานว่าอยู่ระหว่างการปรับแผน 15 จังหวัด และมีองค์การบริหารส่วนจังหวัด รายงานว่าไม่มีโครงการที่ใช้ยางพารา 16 จังหวัด

นายสุทธิพงษ์กล่าวต่อว่า ในการดำเนินการที่ผ่านมาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอาจจะยังไม่เข้าใจวิธีการปฏิบัติในการแก้ปัญหายางพาราตกต่ำเท่าที่ควร วันนี้จึงได้จัดประชุมโครงการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำ เพื่อมอบนโยบายและแนวทางการดำเนินงาน รวมถึงได้เสนอวิธีการปฏิบัติที่ถูกต้องตามระเบียบกฎหมาย โดยได้เชิญหน่วยงานผู้ที่เกี่ยวข้องที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญมาถ่ายทอดองค์ความรู้วิธีปฏิบัติที่ถูกต้อง ให้กับสำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัดและองค์การบริหารส่วนจังหวัดที่ถือเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าวในพื้นที่ โดยได้เชิญท้องถิ่นจังหวัดทุกจังหวัด นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดทุกจังหวัด และผู้อำนวยการกองช่าง องค์การบริหารส่วนจังหวัดทุกจังหวัด เนื่องจากเห็นว่าองค์การบริหารส่วนจังหวัดที่เป็นหน่วยงานที่สามารถดูแลโครงการได้ครอบคลุมพื้นที่ทั้งจังหวัด รวมทั้งยังมีขีดความสามารถ ศักยภาพในการให้คำแนะนำ และสนับสนุนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบอื่นในจังหวัดเดียวกัน และกรมหวังว่าหลังจากการประชุมในครั้งนี้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะสามารถกลับไปสนับสนุนการดำเนินงานให้เกิดประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ มีแนวทางปฏิบัติที่ถูกต้องและเป็นไปในแนวทางเดียวกัน สามารถร่วมมือกันแก้ไขปัญหาได้อย่างทั่วถึง และมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

 

ที่มา : มติชนออนไลน์