กรมส่งเสริมสหกรณ์ จับมือ กรุงไทย พัฒนาระบบการเงินสหกรณ์ อำนวยความสะดวกสมาชิกซื้อสินค้าโดยไม่ต้องใช้เงินสด

กรมส่งเสริมสหกรณ์ จับมือธนาคารกรุงไทย ลงนามความร่วมมือพัฒนาระบบบริหารจัดการทางการเงินให้แก่สหกรณ์และสมาชิกสหกรณ์ ก้าวสู่ยุคสังคมไร้เงินสด โดยเตรียมทำบัตรให้สมาชิกสหกรณ์เป็นบัตรเงินสด ใช้ทำธุรกรรมทางการเงินได้สะดวกยิ่งขึ้น พร้อมร่วมมือทำระบบ QR Code อำนวยความสะดวกการจ่ายค่าสินค้าในร้านค้าสหกรณ์และศูนย์กระจายสินค้าสหกรณ์ทั่วประเทศ

นายธีระ วงศ์เจริญ ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการสัมมนา “สหกรณ์ไทยก้าวทัน เทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมทางการเงิน” พร้อมทั้งเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (เอ็มโอยู) ระหว่างกรมส่งเสริมสหกรณ์ กับ บมจ. ธนาคารกรุงไทย เพื่อร่วมกันพัฒนาระบบบริหารจัดการทางการเงินให้แก่สหกรณ์และสมาชิกสหกรณ์ ผ่านโครงการบัตรสมาชิกสหกรณ์ Co-Op Member Card ผ่านเครื่อง Mobile EDC สำหรับสหกรณ์ ณ โรงแรมริเวอร์ไซด์ บางพลัด กรุงเทพฯ

สำหรับโครงการดังกล่าว ธนาคารกรุงไทยได้ประสานความร่วมมือกับกรมส่งเสริมสหกรณ์ในการส่งเสริมระบบการบริหารจัดการทางการเงินให้กับสหกรณ์และสมาชิกสหกรณ์ ด้วยการจัดทำบัตรสมาชิกสหกรณ์เป็นบัตรเงินสด มีอายุการใช้งาน 3 ปี โดยผู้ถือบัตรไม่ต้องเปิดบัญชีกับธนาคาร เพียงแค่เติมเงินเข้าบัตรผ่านช่องทางต่างๆ ของธนาคาร จากนั้นสมาชิกสามารถนำบัตรดังกล่าวไปเบิกเงินสดจากตู้ เอทีเอ็ม ของทุกธนาคารได้ทันที ขณะเดียวกันบัตรสมาชิกนี้ยังเหมาะสำหรับนำไปประยุกต์ใช้เป็นบัตรสำหรับโครงการต่างๆ เพื่อประโยชน์ในการบริหารจัดการเงินสด และช่วยตอบสนองนโยบายระบบการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ หรือ National e-payment ของรัฐบาลด้วย

ด้าน นายพิเชษฐ์  วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยว่า โครงการบัตรสมาชิกสหกรณ์นี้ นอกจาก จะสามารถสร้างระบบการบริหารจัดการด้านการเงินที่มีประสิทธิภาพของสหกรณ์ทั่วประเทศแล้ว ยังช่วยสร้างความมั่นคงในการดำเนินงานให้กับสหกรณ์ โดยการนำไปต่อยอดเพื่อเชื่อมโยงธุรกิจระหว่างสหกรณ์ต่อไปได้ ซึ่งที่ผ่านมาทางสหกรณ์ในจังหวัดต่างๆ ได้ไปประชาสัมพันธ์ให้กับสมาชิกสหกรณ์ได้รับทราบถึงโครงการดังกล่าวแล้ว เบื้องต้นได้ตั้งเป้าหมายส่งเสริมให้สหกรณ์การเกษตรขนาดใหญ่ระดับอำเภอ 822 แห่ง ทั่วประเทศ เข้าร่วมโครงการ แต่ในระยะแรกจะนำร่องในสหกรณ์ที่มีความพร้อมสมัครเข้ามาร่วมโครงการประมาณ 120 แห่ง

ทั้งนี้ ภายหลังจากที่สหกรณ์สมัครเข้าร่วมโครงการแล้ว ธนาคารกรุงไทยจะติดตั้งเครื่อง Mobile EDC ไว้ที่สหกรณ์แห่งนั้น เพื่อใช้ในการเติมเงินเข้าบัตร และสามารถนำไปใช้ได้ทั้งการจ่ายเงินกู้ เงินปันผลเฉลี่ยคืน หรือจ่าย ค่าผลผลิตทางการเกษตรที่สหกรณ์รับซื้อจากสมาชิก อีกทั้งยังสามารถใช้บัตรในการส่งเสริมทำธุรกิจและเชื่อมโยงเครือข่ายระหว่างสหกรณ์ได้ พร้อมกันนี้สมาชิกยังสามารถใช้บัตรดังกล่าว รูดซื้อสินค้าต่างๆ จากร้านค้าสหกรณ์ได้เช่นกัน ซึ่งการดำเนินการครั้งนี้ จะเป็นประโยชน์ในการบริหารจัดการเงินสดได้อย่างมีประสิทธิภาพ และให้สมาชิกมีความปลอดภัยจากการถือเงินสดจำนวนมาก แต่เบื้องต้นบัตรดังกล่าวจะทำธุรกรรมได้ระหว่างสมาชิกเท่านั้น ส่วนในอนาคตจะพัฒนาช่องทางเพิ่มขึ้น โดยเพิ่มคุณสมบัติเป็นบัตร Visa เพื่อสร้างความสะดวกให้สมาชิกสามารถนำบัตรไปซื้อสินค้าจากร้านค้าทั่วไปได้ด้วย

Advertisement

นอกจากนี้ ธนาคารกรุงไทยยังร่วมพัฒนาระบบชำระค่าสินค้าผ่านรหัสคิวอาร์โค้ด (QR Code) เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกในการซื้อขายสินค้าระหว่างสหกรณ์กับสมาชิก มีเป้าหมายส่งเสริมให้ร้านค้าสหกรณ์และศูนย์กระจายสินค้าสหกรณ์ทั่วประเทศ ใช้ระบบ QR Code ในการชำระค่าสินค้า ซึ่งสมาชิกที่มาซื้อสินค้าสามารถใช้สมาร์ทโฟนแสกนรหัส QR Code เพื่อตัดเงินจากบัญชีธนาคารของสมาชิกได้ทันที โดยที่ไม่ต้องใช้เงินสด ซึ่งทำให้สะดวกรวดเร็ว และเป็นการเพิ่มทางเลือกในการให้บริการแก่สมาชิกได้อีกด้วย

ภายหลังพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างกรมส่งเสริมสหกรณ์และธนาคารกรุงไทยแล้ว ยังมีการสัมมนา “สหกรณ์ไทยก้าวทันเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมทางการเงิน” เพื่อให้สหกรณ์ได้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับขั้นตอนการเตรียมการและการบริหารจัดการการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถนำเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมทางการเงินไปให้บริการแก่สมาชิก เนื่องจากการพัฒนาเทคโนโลยีทางการเงินในปัจจุบันนับว่ามีความสำคัญและมีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว ส่งผลทำให้รูปแบบการดำเนินธุรกิจและรูปแบบการค้ามีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไม่หยุดนิ่ง ซึ่งสหกรณ์จำเป็นต้องพัฒนาระบบการจัดการธุรกิจให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ซึ่งบัตรสมาชิกสหกรณ์ Co-op Member Card เป็นระบบที่บริหารจัดการบนเครือข่ายคอมพิวเตอร์ ซึ่งจะเป็นเครื่องมือช่วยเพิ่มประสิทธิภาพด้านธุรกรรมทางการเงินระหว่างสหกรณ์กับสมาชิก ช่วยลดขั้นตอนการทำงานของสหกรณ์ลง และยังลดความผิดพลาดจากการทำงานด้วย ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการบริหารจัดการเงินสดอย่างมีประสิทธิภาพและสามารถลดปริมาณในการเก็บรักษาเงินสดไว้ที่สหกรณ์จำนวนมาก ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงในการดำเนินธุรกรรมของสหกรณ์ได้อีกทางหนึ่งด้วย

Advertisement