เปิดมุมมองใหม่ ‘สถาบันจิตเวช’ ที่พึ่งของ ‘ผู้สูงอายุ’ แห่งอนาคต

ถ้าพูดถึงโรงพยาบาลจิตเวช ร้อยทั้งร้อยย่อมนึกถึงสถานที่รักษา “คนบ้า” หรือ “คนวิกลจริต”

เเต่โดยข้อเท็จจริงเเล้ว ที่แห่งนี้ไม่ได้รักษาเฉพาะผู้ป่วยที่มีอาการทางจิตเท่านั้น ยังทำการผ่าตัดเเละรักษาผู้ป่วยปกติ ที่มีความผิดปกติทางสมอง อันเนื่องมาจากสาเหตุต่างๆ ด้วย

สำหรับโรงพยาบาลจิตเวชแห่งแรกในประเทศไทยได้ถือกำเนิดขึ้นตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ก่อตั้งเมื่อ วันที่ 1 พฤศจิกายน 2432 มีชื่อเรียกว่า “โรงพยาบาลคนเสียจริต” ตั้งอยู่ที่ปากคลองสาน ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น “โรงพยาบาลโรคจิต ธนบุรี” และ “โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา” ตามลำดับ

แต่ด้วยลักษณะของโรงพยาบาลที่มีหลังคาสังกะสีทาด้วยสีแดง คนในยุคหนึ่งจึงเรียกที่แห่งนี้ว่า “โรงพยาบาลหลังคาแดง”

นพ.ปรีชา ศตวรรษธำรง รองประธานมูลนิธิ โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา ในพระราชูปถัมภ์ เล่าย้อนว่า ในสมัยก่อนผู้ป่วยเข้ามาที่นี่แล้วไม่มีทางได้กลับบ้าน เพราะโรคนี้ยังไม่มียารักษา ดังนั้นโรงพยาบาลคนเสียจริตจึงเป็นเหมือนที่คุมขัง ควบคุม ไม่ให้ผู้ป่วยเป็นอันตรายต่อตนเองและสังคม โดยแต่เดิมอาคารผู้ป่วยจะเป็นเรือนไม้ชั้นเดียว ปลูกเป็นแถวยาว ด้านหน้าโปร่ง มีลูกกรงกั้นระเบียงเพื่อความปลอดภัย อยู่บนพื้นที่ประมาณ 5 ไร่ มีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาประมาณ 2,000 ราย

ต่อมาประมาณปี 2500 มียารักษาผู้ป่วยจิตเวชเข้ามา ในช่วงเวลาใกล้เคียงกันก็เริ่มมีเรื่องโรคทางสมองเข้ามาด้วย โดยปี 2508 ในหลวง ร.9 ได้พระราชทานเครื่องผ่าตัดสมองเป็นเครื่องแรกของประเทศไทย
แต่ด้วยภาพลักษณ์ในอดีต ทำให้หลายคนยังไม่เข้าใจ และมองว่าสถาบันจิตเวชเป็นที่รักษาผู้ป่วยวิกลจริต

นพ.ปรีชา บอกว่า ความจริงแล้วโรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยารักษาใหญ่อยู่ 2 โรค คือ 1.โรคทางสมองและระบบประสาท 2.โรคทางจิต
“โรคทางสมอง เป็นโรคที่ค่อนข้างรู้สาเหตุชัดเจน เช่น ถ่ายรูปลงคอมพิวเตอร์ก็เห็นว่าเป็นสมองตาย สมองตัน หรือเนื้องอก หรือกระทบกระเทือนหรือช้ำก็เห็นหมด

แต่โรคทางจิตเกิดจากสารเคมีไม่สมดุล เราถ่ายรูปแล้วก็ไม่เจออะไร สมองก็ปกติแต่มันก็เป็นโรคทางสมอง เกิดมาไม่เหมือนชาวบ้าน สารเคมีหลั่งผิดปกติ แต่บางครั้งโรคทางสมองก็แสดงอาการคล้ายโรคทางจิต เช่น เนื้องอกมันอยู่ในตำแหน่งของอารมณ์ความคิด การแสดงออกของคนไข้ก็จะคล้ายกับโรคทางจิตได้”

นพ.ปรีชา บอกอีกว่า สำหรับโรคที่พบมากคือ โรคจิตเพศ มักเป็นตั้งแต่วัยหนุ่มสาว ส่วนใหญ่จะชอบแยกตัวอยู่คนเดียว ไม่เข้าสังคม ทำงานกับคนก็ระแวงคน บางทีมีอารมณ์หงุดหงิด นอนไม่หลับ ปรับตัวเข้ากับใครไม่ได้ หากเป็นมากก็จะมีอาการหูแว่ว ประสาทหลอน คิดว่าจะมีใครเข้ามาทำร้าย ทั้งนี้โรคทางจิตเป็นโรคที่รักษาไม่หายขาด ต้องกินยาต่อเนื่อง แต่คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยอยากจะมารักษา

“อาจเพราะรู้สึกไม่สบายใจถ้าจะมาที่นี่ กลัวคนถามว่าเป็นโรคจิตหรือเปล่า ทั้งที่ผู้ป่วยอาจจะเป็นโรคทางสมอง ดังนั้นสังคมต้องเข้าใจคนไข้ ซึ่งจริงๆ แล้วคนไข้ที่ป่วยทางจิตหากรับการรักษาแล้วก็สามารถอยู่ร่วมกับสังคมได้ ถ้าเราเข้าใจโอกาสหายก็มาก โอกาสเป็นซ้ำก็น้อยลง”

นพ.ปรีชา ย้ำอีกว่า ต้องเข้าใจว่าปัญหาสุขภาพจิตเป็นปัญหาใหญ่ของคนในชาติ แต่เรายังไม่เข้าใจ ซึ่งความจริงแล้วสุขภาพจิตมีผลต่อสุขภาพกายด้วย เนื่องจากการทำงานของสมองมี 2 ระบบ คือส่วนที่บังคับได้ เช่น ให้ยกมือ ให้นอน กับระบบที่เป็นศูนย์อยู่ข้างในเรียกว่าระบบประสาทอัตโนมัติ เป็นศูนย์ควบคุมและทำงานระบบร่างกายภายใน อย่าง หัวใจ หลอดเลือด กระเพาะอาหาร การหลั่งสารและฮอร์โมนต่างๆ

“ระบบประสาทอัตโนมัติเป็นส่วนที่เราบังคับไม่ได้ มันจะทำงานตามอารมณ์ของเรา เช่น ถ้าอารมณ์แปรปรวนหรือโกรธจัด หัวใจจะเต้นแรง เราจะไปบังคับให้มันเต้นช้าไม่ได้ ซึ่งระบบนี้เองที่เป็นตัวก่อโรค ผมเชื่อว่าถ้าคนสุขภาพจิตดี โรคทางกายก็จะน้อยลง และเมื่อโรคน้อยค่าใช้จ่ายก็น้อยด้วย เหมือนอย่างที่พระว่า จิตเป็นนาย กายเป็นบ่าว

“ถ้าจิตเรานิ่ง มีสติ มีอะไรเข้ามาอย่าตื่นตระหนก หาทางออก หาทางแก้ ถ้าเรากลัวตลอดก็ไม่ต้องทำอะไรตลอดกาล” นพ.ปรีชา กล่าว
แต่อย่างไรก็ตาม โรคทางจิตบางครั้งก็ไม่สามารถควบคุมได้ ดังนั้น สถาบันจิตเวช ก็ยังมีความสำคัญอยู่

โดยเฉพาะในกลุ่ม ผู้สูงอายุ เพราะอย่างที่รู้กันดีว่าโลกกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ สถาบันจิตเวชจึงเป็นอีกที่พึ่งสำคัญของคนชราในอนาคต แล้วตัวผู้สูงอายุเองก็เป็นวัยที่พบว่ามีความผิดปกติทางสมองได้ง่ายและมากที่สุดหากเทียบกับวัยอื่น

ผู้ป่วยโรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยาในอดีต

นพ.ปรีชา บอกว่า เหตุที่พบว่ากลุ่มผู้สูงอายุมีโอกาสเป็นโรคทางสมอง เพราะคนที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป มักจะพบว่าเป็นโรคทางสมอง อย่าง โรคสมองเสื่อม หรืออัลไซเมอร์

ซึ่งโรคสมองเสื่อมจะมีทั้งกลุ่มที่ทราบสาเหตุ เช่น มาจากโรคหลอดเลือดตีบตัน อาจจะเป็นในคนที่เป็นโรคเบาหวาน ความดันสูง ไขมันสูง ทำให้หลอดเลือดตันทีละน้อยๆ ในส่วนของความคิดความจำ นอกจากนี้ยังพบในกลุ่มที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือใช้สารเสพติดบางอย่าง ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำลายสมอง นำไปสู่การเป็นโรคสมองเสื่อมได้ รวมถึงการบาดเจ็บในบางส่วนของสมอง เป็นต้น และอีกกลุ่มคือโรคสมองเสื่อมที่ไม่ทราบสาเหตุ

“เหตุที่ผู้สูงอายุส่วนใหญ่เป็นโรคสมองเสื่อม เพราะเมื่ออายุมากขึ้นมีโอกาสที่สมองฝ่อมาก ทำให้สร้างสารสื่อประสาทด้านความจำและความคิดน้อยลง ปัจจุบันยังไม่มียารักษา ยาที่มีอยู่ในตอนนี้เป็นเพียงการชะลอสมองเสื่อม ซึ่งมีราคาค่อนข้างสูงพอสมควร

“ส่วนใหญ่การรักษาจะแนะนำคนไข้ที่เริ่มมีอาการสมองเสื่อม พยายามให้ใช้สมองบ่อยๆ เช่น ฝึกความจำ เล่นไลน์คุยกับเพื่อนบ่อยๆ หากิจกรรมทำ เพราะโรคนี้ถ้าอยู่เฉยไม่ได้ใช้สมองไม่ได้โต้ตอบก็จะยิ่งช้า ยิ่งเฉื่อย ดังนั้น จะต้องกระตุ้นให้ใช้เรื่อยๆ อย่าไปบอกว่าคนแก่แล้วต้องอยู่เฉยๆ แบบนี้ไม่ดี ร่างกายก็เช่นกันถ้ามีการเคลื่อนไหวบ่อยๆ ก็จะเสื่อมช้า” นพ.ปรีชา อธิบาย

และว่า สำหรับผู้ป่วยกลุ่มนี้นอกจากการรักษาแล้วที่สำคัญคือ ความเข้าใจ เพราะคนสูงอายุเขามีความเสื่อมแต่ก็ไม่ได้เสื่อมจนไม่รู้เรื่อง เขารู้นะว่าพฤติกรรมเขาช้าลง ทำอะไรก็ช้าลง อยากได้อะไรก็ไม่ได้อย่างที่ใจคิด สิ่งที่ตามมาก็จะหงุดหงิด พาล บางรายก็ซึมเศร้า ดังนั้นถ้าลูกหรือครอบครัวไม่เข้าใจก็ยิ่งกดดันคนไข้ อาการจะยิ่งแย่มากขึ้น

นพ.ปรีชา กล่าวอีกว่า นอกจากโรคสมองเสื่อมแล้ว โรคทางสมองที่พบในผู้สูงอายุยังมีโรคอัมพฤกษ์ โรคพาร์กินสัน ซึ่งเหล่านี้ก็มาจากอาการเซลล์เสื่อม สร้างสารไม่พอ ส่งผลถึงการเคลื่อนไหว ส่วนโรคทางจิตที่พบมากในกลุ่มผู้สูงอายุคือ โรคซึมเศร้า ส่วนใหญ่มีสาเหตุจากการเตรียมตัวไม่ดี อาจจะมาจากอาการป่วย จากการสูญเสียการลาจาก ความสามารถช้าลง เมื่อคิดในทางลบก็จะส่งผลต่อความคิดและจิตใจ

“ดังนั้น คนรุ่นใหม่ควรจะต้องเตรียมตัวให้ดี เดี๋ยวนี้คนอายุยืนมากขึ้น ต้องเตรียมเงินไว้ใช้หลังเกษียณอายุอย่างน้อย 20 ปี เพราะถ้าเรามีเงินใช้ เราไม่ต้องพึ่งพาคนอื่น สุขภาพจิตก็จะดี”

นพ.ปรีชา อธิบายว่า เพื่อรองรับผู้สูงอายุที่ป่วยโรคทางสมองในอนาคต ซึ่งคาดว่าจะมีจำนวนมาก โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยาจึงเตรียมสร้างอาคารเพื่อเฉลิมพระเกียรติ ๖๐ พรรษา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งจะมีทั้งส่วนที่รักษาโรคทางสมองและโรคทางจิตที่ครบครัน และสะดวกสำหรับผู้สูงอายุมากขึ้น

เนื่องจากโรงพยาบาลมีความเก่าแก่มากกว่าร้อยปี อาคารส่วนใหญ่ที่มีอยู่เดิมค่อนข้างเก่าและโทรมมาก โดยเฉพาะอาคารโรคสมองระบบประสาท อาคารผู้ป่วยนอกจิตเวชที่มีขนาดเล็ก และมีสภาพแออัดเป็นอย่างมาก

สำหรับอาคารเพื่อเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา สมเด็จพระเทพฯ เป็นอาคารสูง 12 ชั้น พื้นที่ใช้สอย 20,448 ตารางเมตร งบประมาณในการก่อสร้างประมาณ 600 ล้านบาท โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล 300 ล้านบาท อีก 300 ล้านบาท จากผู้มีกุศลจิตร่วมบริจาค โดยมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา ในพระราชูปถัมภ์ฯ เป็นผู้จัดหา

การลงนามสัญญาก่อสร้างจะดำเนินการใน วันที่ 22 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา กำหนดระยะเวลาในการก่อสร้าง 900 วัน อาคารจะแล้วเสร็จปลายปี พ.ศ. 2563 สำหรับผู้มีจิตกุศลสามารถร่วมบริจาคสมทบทุนเพื่อสร้างอาคารได้ที่มูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา ในพระราชูปถัมภ์ พร้อมเชิญชวนผู้มีจิตศรัทธา บริจาคเงินเพื่อมาสมทบทุนในการจัดซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็นในการรักษาผู้ป่วย
นอกจากนี้ มูลนิธิยังได้จัดประมูลเสื้อยืด “รักที่จะมอบ ชอบที่จะให้” เพื่อนำไปประมูลหารายได้ในการก่อสร้างอาคารและซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ด้วย