ตามรอยพระราชดำริ “ปรับปรุงดินเปรี้ยว ตามทฤษฎีแกล้งดิน” ที่ บ้านควนโถ๊ะ

ย้อนไปก่อนปี 2552 พื้นที่ 4,000 ไร่ ซึ่งอยู่ในเขต หมู่ที่ 10 บ้านควนโถ๊ะ ตำบลแหลม อำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช คือเป็นที่นารกร้าง มีพืช เช่น เสม็ด กระจูด และกก ขึ้นหนาแน่น ด้วยมีสาเหตุมาจากปัญหาดินแน่นทึบและเป็นดินเปรี้ยวจัด จนไม่สามารถใช้ประโยชน์ที่ดินทำการเกษตรได้ ก่อให้เกิดความเดือดร้อนในการทำมาหากินมาอย่างยาวนาน

ทั้งนี้ เพราะการทำเกษตรโดยเฉพาะการปลูกพืชในดินเปรี้ยวจัด จำเป็นต้องมีความรู้ ความเข้าใจ ในการจัดการดินเปรี้ยวจัด แต่เกษตรกรในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังส่วนใหญ่ขาดความรู้ ความเข้าใจ ในการจัดการดินเปรี้ยวจัด ส่งผลให้ผลผลิตที่ได้จากการปลูกพืชในดินเปรี้ยวจัดให้ผลผลิตที่ต่ำ

1468908009_er11

จากสภาพปัญหาดังกล่าว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้มีพระราชดำริให้นำผลการดำเนินงานเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาดินเปรี้ยวจัด ด้วยทฤษฎีแกล้งดิน ของศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดนราธิวาส มาขยายผลและปรับใช้ในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง

ทั้งนี้ ในการคัดเลือกพื้นที่ดำเนินงาน สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงาน โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) ได้ร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยหน่วยงานต่างๆ อาทิ กรมพัฒนาที่ดิน กรมการข้าว กรมส่งเสริมการเกษตร กรมปศุสัตว์ กรมส่งเสริมสหกรณ์ ร่วมกันพิจารณาคัดเลือกพื้นที่การดำเนินงาน ในปี 2552

1468908027_er12

โดยหลักเกณฑ์พิจารณาดูจากลักษณะดิน ระบบชลประทาน ระบบการปลูกพืช ความร่วมมือของเกษตรกร และได้คัดเลือกพื้นที่ หมู่ที่ 10 บ้านควนโถ๊ะ ตำบลแหลม อำเภอหัวไทร เป็นพื้นที่ดำเนินการ

ในวันนี้ พื้นที่ 4,000 ไร่ ได้เปลี่ยนไปจากที่ทำนาปลูกข้าวไม่ได้ผล กลายเป็นผืนนาที่ต้นข้าวสามารถเจริญเติบโตและให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

1468908050_er16

ที่สำคัญอีกประการ พื้นที่แห่งนี้ได้กลายเป็นสถานที่เรียนรู้เกี่ยวกับวิธีการแก้ไขปัญหาดินเปรี้ยว ภายใต้ “โครงการถ่ายทอดเทคโนโลยีการปรับปรุงดินเปรี้ยวตามทฤษฎีแกล้งดิน”

ทั้งนี้ ปัญหาดินเปรี้ยว นับเป็นหนึ่งปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้นในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของจังหวัดนครศรีธรรมราช พื้นที่บางส่วนของจังหวัดพัทลุงและสงขลา ครอบคลุมพื้นที่ ประมาณ 1,990,337 ไร่ และมีพื้นที่ที่มีสภาพเป็นดินเปรี้ยวจัดถึง 202,731 ไร่ ซึ่งปลูกพืชไม่เจริญงอกงาม ผลผลิตที่ได้ต่ำ เกษตรกรจึงปล่อยพื้นที่นารกร้างและหันไปทำการเลี้ยงสัตว์หรือออกไปรับจ้างต่างถิ่นแทน

แนวดำเนินการในพื้นที่

สำหรับพื้นที่ หมู่ที่ 10 บ้านควนโถ๊ะ สภาพดินนั้นอยู่ในชุดดินมูโนะ อันเป็นดินชุดเดียวกับพื้นที่จังหวัดนราธิวาส  ซึ่งเป็นดินเหนียวละเอียดลึกมาก เนื้อดินเป็นดินร่วนเหนียวถึงเป็นดินร่วนเหนียวปนทรายแป้งมีสีดำหรือมีสีน้ำตาลปนเทา ปฏิกิริยาดินเป็นดินกรดจัดมาก (pH 4.5-5.0)

ดินล่างมีเนื้อดินเป็นดินเหนียวหรือดินเหนียวปนทรายแป้ง มีจุดประสีเหลือง น้ำตาล และมีจุดประสีเหลืองฟางข้าวของจาโรไซด์ ปฏิกิริยาดินเป็นดินกรดรุนแรงมากถึงกรดรุนแรงมากที่สุด (pH 3.5-4.0) และดินล่างถัดไป ช่วงความลึก 50-100 เซนติเมตร เป็นดินเลนสีเทา มีสารประกอบกำมะถันมาก ปฏิกิริยาดินเป็นดินกรดจัดถึงกรดจัดเล็กน้อย (pH 5.0-6.5) การระบายน้ำเลว การไหลบ่าของน้ำบนผิวดินช้า การซึมผ่านของน้ำปานกลาง

ปัญหาการใช้ประโยชน์ที่ดิน ดินแน่นทึบและเป็นกรดจัดมาก เนื่องจากสารประกอบกำมะถัน มีธาตุอะลูมินั่ม เหล็ก และแมงกานีส ถูกละลายออกมามากจนเป็นพิษต่อพืช ธาตุฟอสฟอรัสถูกตรึงไว้ พืชดูดไปใช้ไม่ได้

ในการดำเนินการแก้ไขปัญหาดินเปรี้ยวที่เกิดขึ้นภายใต้โครงการถ่ายทอดเทคโนโลยีการปรับปรุงดินเปรี้ยว ตามทฤษฎีแกล้งดิน ได้ดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของโครงการ ประกอบด้วย

หนึ่ง เพื่อแก้ไขสภาพดินเปรี้ยว ให้สามารถปลูกพืชได้

สอง เพิ่มประสิทธิภาพของระบบชลประทานในพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

สาม เพื่อให้เกษตรกรมีความรู้ ความเข้าใจ ในเรื่องการจัดการดินเปรี้ยวจัด

สี่ พัฒนาเทคโนโลยีการปลูกข้าว เพื่อเพิ่มผลผลิตข้าวต่อไร่

ห้า พัฒนาระบบกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ เพื่อรองรับองค์ความรู้ด้านต่างๆ เช่น พืช น้ำ ดิน และการตลาด

หก เป็นแปลงสาธิตขนาดใหญ่ ที่มีทั้งข้อมูลด้านพืช ดิน น้ำ รวมทั้งข้อมูลด้านเศรษฐกิจเพื่อเผยแพร่แก่ผู้สนใจ

วิธีการดำเนินการนั้น ระยะแรกจัดระบบชลประทาน โดยก่อสร้างอาคารกักเก็บและระบายน้ำ ปรับปรุงแปลงนา พร้อมสร้างคันนาใหม่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการกักเก็บน้ำไว้ใช้ในนาข้าวได้

ในส่วนการปรับปรุงบำรุงดินเปรี้ยวนาข้าว ด้วยการใช้หินฝุ่นหรือหินปูนหว่าน ในอัตรา 1 ตัน ต่อไร่ แล้วไถกลบ รวมถึงปลูกปุ๋ยพืชสดเพื่อปรับปรุงบำรุงดินให้มีความอุดมสมบูรณ์ เช่น ปอเทือง หรือ โสนแอฟริกัน ร่วมกับการใส่ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน เพื่อเพิ่มแร่ธาตุอาหารในดินให้แก่พืช

พร้อมกันนี้ ยังได้มีดำเนินงานพัฒนาการผลิต พัฒนามูลค่าผลผลิต การแปรรูป และพัฒนาอาชีพเสริมรายได้

โดยมีกิจกรรม ทั้งการจัดทำแปลงนาสาธิตการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวสนับสนุนเมล็ดพันธุ์ข้าวดี เช่น พันธุ์เฉี้ยงพัทลุง สังข์หยด เป็นต้น พร้อมปัจจัยการผลิต จัดตั้งศูนย์พัฒนาชุมชนโรงสีข้าวชุมชน พร้อมลานตากเมล็ดพันธุ์ และเครื่องสีข้าวรณรงค์การปลูกพืชหลังการเก็บเกี่ยว พัฒนาพืชอาหารสัตว์ให้ความรู้การจัดทำบัญชีรายรับ รายจ่าย และการบริหารจัดการกลุ่มสหกรณ์

รวมถึงการส่งเสริมอาชีพเสริม โดยรวมกลุ่มเลี้ยงปลากินพืชในกระชัง และในบ่อเพื่อแปรรูปทำปลาร้า และปลาแดดเดียว, กลุ่มทำข้าวซ้อมมือ และกลุ่มผลิตภัณฑ์กระจูด

 

ทุกอย่างเปลี่ยนไป เพราะในหลวง ชีวิตจึงดีขึ้น

นับตั้งแต่มีการดำเนินโครงการถ่ายทอดเทคโนโลยีการปรับปรุงดินเปรี้ยว ตามทฤษฎีแกล้งดิน ตามพระราชดำริ สิ่งที่เกิดขึ้นในพื้นที่ หมู่ที่ 10 บ้านควนโถ๊ะ ได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างเห็นได้ชัดเจน

“ตอนนี้ผลผลิตข้าวจากนาของชาวบ้านในโครงการมีผลผลิตเพิ่มขึ้นมาก เดิมเคยปลูกข้าวแล้วก็ไม่แตกกอ แต่ตอนนี้แตกกอเติบโตดีมาก ปริมาณผลผลิตข้าวจากการปลูกข้าวสายพันธุ์ต่างๆ ที่ได้เข้ามาส่งเสริมให้ชาวนาปลูก  ไม่ว่า พันธุ์เฉี้ยงพัทลุง พันธุ์สังข์หยด พันธุ์ชัยนาท โดยเดิมนั้นจะได้ข้าวเพียง 20-25 ถัง ต่อไร่ แต่เมื่อดำเนินการปรับปรุงดินเปรี้ยวแล้ว ทำให้ผลผลิตข้าวเพิ่มขึ้นเป็น 50-60 ถัง ต่อไร่ และในพื้นที่ใกล้น้ำยังสามารถทำนาปรังได้อีกด้วย” คุณอภิวัฒน์ บุญชูช่วย พนักงานทดสอบดิน สถานีพัฒนาที่ดินจังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าว

คุณอภิวัฒน์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ยังมีเกษตรกรจากพื้นที่อื่นๆ ได้เดินทางมาศึกษาดูงานอยู่อย่างต่อเนื่อง โดยผู้มาศึกษาดูงานจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับการปรับปรุงดินเปรี้ยว ตามทฤษฎีแกล้งดิน เช่น การใช้หินฝุ่น การปลูกปุ๋ยพืชสดในนาข้าว เป็นต้น

นอกจากนี้ จากผลที่เกิดขึ้นนี้ ไม่เพียงแต่ทำให้ชาวบ้านสามารถกลับมาใช้ประโยชน์ในพื้นที่ได้อีกเท่านั้น แต่ยังส่งผลให้คุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ดีขึ้นอีกด้วย โดย กำนันข้น มีจันทร์แก้ว กำนันตำบลแหลม กล่าวว่า เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้มีพระราชดำริให้นำโครงการแกล้งดินมาใช้ในพื้นที่แห่งนี้ ปรากฏว่าทุกอย่างดีขึ้นมาก อย่างวิถีชีวิต แต่ก่อนชาวบ้านจะออกไปทำงานรับจ้างนอกพื้นที่ ตอนนี้ปรากฏว่าทุกคนได้กลับมาอยู่บ้าน ไม่ต้องมีการอพยพโยกย้ายไปทำงานนอกพื้นที่

“จำนวนครัวเรือนในหมู่บ้านควนโถ๊ะ แต่ก่อนนี้มีกันอยู่ไม่กี่ครัวเรือน แต่ตอนนี้อยู่กันมากถึง 126 ครัวเรือน สภาพปัจจุบันผิดกับแต่ก่อนเยอะมาก ทำนาก็ได้ข้าวต่อไร่เพิ่มขึ้น อีกทั้งฐานะความเป็นอยู่ดีขึ้นกว่าอดีตอย่างมากมาย” กำนันข้น กล่าวในที่สุด