ชาวบ้าน อ.เชียงของ พลิกวิกฤตน้ำแห้งในรอบปี แห่เก็บ “ไก” สาหร่ายแม่น้ำโขง

ผู้สื่อข่าวรายงานจากจังหวัดเชียงรายว่า จากกรณีแม่น้ำโขงแห้งลงอย่างมาก เนื่องจากเข้าสู่ฤดูแล้งและมีการปิดเขื่อนกั้นน้ำที่เขื่อนจิ่งหงในเขตปกครองตนเองสิบสองปันนา ของมณฑลยูนนาน ประเทศจีน ซึ่งห่างจาก จ.เชียงราย ไปทางทิศเหนือประมาณ 261 กิโลเมตร ล่าสุดมีการประสานไปยังกระทรวงการต่างประเทศขอให้แจ้งไปยังทางการจีนให้ปล่อยน้ำลงมาบ้างแล้ว ศูนย์ควบคุมแม่น้ำล้านช้าง-แม่โขง สิบสองปันนา จึงมีการปล่อยน้ำเข้าเขื่อนในวันเดียวกันในปริมาณ 587 ลูกบาศก์เมตร ต่อวินาที และระบายน้ำออกจากเขื่อน ในปริมาณ 819 ลูกบาศก์เมตร ต่อวินาที ทำให้ระดับน้ำที่หน้าที่ว่าการ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ชายแดนไทย-สปป.ลาว ลึกขึ้นประมาณ 2.30 เมตร เรือเล็กสามารถสัญจรไปมาได้

แต่อย่างไรก็ตาม แม่น้ำโขงยังคงแห้งกว่าปกติ ปราฏให้เห็นเกาะแก่งและโขดหินไปทั่วบริเวณ โดยเฉพาะสามเหลี่ยมทองคำ ที่ อ.เชียงแสน แก่งไก่ คอนผีหลง อ.เชียงของ ไปจนถึงแก่งผาได อ.เวียงแก่น เรือสินค้าขนาดใหญ่ยังไม่สามารถสัญจรไปมาได้ และต้องใช้เรือเล็กในการขนถ่ายไปมา โดยเฉพาะในเขตชายแดนประเทศเมียนมา-สปป.ลาว ที่มีเกาะแก่งและหาดทรายเป็นบริเวณกว้าง

นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าราชการ จ.เชียงราย เปิดเผยว่า ปกติระดับน้ำของแม่น้ำโขงในฤดูแล้งจะอยู่ที่ประมาณ 2 เมตร หรือมากกว่านั้น จากเดิมที่มีระดับเฉลี่ย 6-8 เมตร แต่ปรากฏว่าสัปดาห์ที่ผ่านมาลดลงเหลือต่ำสุดเพียง 1.80 เมตร จึงแก้ไขปัญหาด้วยการประสานงาน กระทั่งจีนให้มีการปล่อยน้ำเพื่อแก้ไขปัญหาในระยะสั้น ส่วนระยะยาวจะมีการขุดลอกบางส่วน แต่เนื่องจากเป็นแม่น้ำระหว่างประเทศจึงต้องใช้เวลาหารือกัน ฉะนั้น ทางเจ้าท่าก็มีเรือเล็ก เพื่อดำเนินการบางจุดที่เป็นปัญหาแล้ว รวมทั้งมีการประกาศเตือนการใช้เรือด้วยความระมัดระวัง

ด้านชาวบ้านพื้นที่ อ.เชียงของ ได้ใช้โอกาสที่น้ำลดลงอย่างมาก ลงไปหา “ไก” ซึ่งเป็นสาหร่ายน้ำจืดชนิดหนึ่ง ที่ขึ้นตามเกาะแก่งในน้ำโขงกันอย่างคึกคัก เพราะในรอบปีจะสามารถเก็บไกได้เพียง 1 ครั้ง คือในฤดูแล้งนี้เท่านั้น โดยไกที่ได้เมื่อนำมาตากให้แห้งและอบตามภูมิปัญญาชาวบ้าน จะได้สาหร่ายน้ำจืดที่หอมอร่อย สามารถนำมารับประทานหรือปรุงเป็นอาหารต่างๆ ได้ จึงเป็นที่นิยมของคนในท้องถิ่นและนักท่องเที่ยวไปหาซื้อถึงที่ อ.เชียงของ จึงเตรียมจัดงานแห่ไกน้ำโขงยาวที่สุด ในวันที่ 16 มี.ค.นี้ ที่เขตเทศบาล ต.เวียงเชียงของ

นางคำ โยงยืน วัย 70 ปี ชาวบ้าน อ.เชียงของ บอกว่า เนื่องจากไกในแม่น้ำโขงมีรสชาดดีไม่แพ้กับสาหร่ายที่นำเข้าจากต่างประเทศ หรือที่จำหน่ายทั่วไป ทำให้ตนและเพื่อนบ้านต่างพากันออกมาเก็บไกที่ติดตามโขดหินในแม่น้ำโขงเป็นประจำ ตั้งแต่เดือน มี.ค.-เม.ย. ของทุกปี หรือบางปีแล้งมากก็จะหาเก็บไกยาวไปถึงเดือน พ.ค. เพราะหากระดับน้ำสูงขึ้นจะไม่สามารถเก็บได้อีกต่อไป ซึ่งไกที่เก็บได้จะนำไปขายให้แม่ค้าในตลาด ราคากิโลกรัมละ 10 บาท แต่ละคนสามารถหาไกได้ประมาณวันละ 5-20 กิโลกรัม แล้วแต่ความชำนาญ จึงสร้างรายได้ให้วันละประมาณ 500- 2,000 บาท

ที่มา ประชาชาติธุรกิจออนไลน์