แนะวิธีเสริมรายได้ในสวนปาล์มน้ำมัน เดือนละ 2 หมื่น ทำได้ไม่ยาก

ชุมชนคลองน้อย ตำบลคลองน้อย อำเภอเมือง จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นชุมชนที่ใช้ชีวิตริมสองฝั่งคลอง เพราะเป็นพื้นที่ราบลุ่มริมฝั่งแม่น้ำ มีแม่น้ำและลำคลองตามธรรมชาติล้อมรอบหลายสาย “สวนมะพร้าว” คืออาชีพหลักของชาวชุมชนคลองน้อย ชาวบ้านส่วนใหญ่จะปลูกมะพร้าวกันแทบทุกครัวเรือน อาชีพรองคือ การปลูกไม้ผล ได้แก่ กระท้อน มังคุด ส้มโอ มะนาว ชมพู่ทูลเกล้า กล้วย พืชผักต่างๆ และสวนปาล์มน้ำมัน

ปี 2560 ชาวสวนปาล์มน้ำมันตำบลคลองน้อย จำนวน 68 ราย รวมตัวกันเป็นแปลงใหญ่ปาล์มน้ำมันตำบลคลองน้อย เนื้อที่ 771 ไร่ ภายใต้การนำของ คุณสุมาตร อินทรมณี ในฐานะผู้จัดการเกษตรแปลงใหญ่ปาล์มน้ำมันตำบลคลองน้อยและเป็นนายกสมาคมชาวสวนปาล์ม จังหวัดสุราษฎร์ธานี

คุณสุมาตร อินทรมณี

เนื่องจากในอดีตชาวชุมชนคลองน้อย ทำสวนมะพร้าวเป็นอาชีพหลัก หลังประสบปัญหาราคามะพร้าวตกต่ำก็หันมาทำสวนปาล์มน้ำมันกันมากขึ้น แต่เกษตรกรส่วนใหญ่ขาดความรู้เรื่องการปลูก การบำรุงรักษาสวนปาล์มน้ำมันอย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อเกิดการรวมกลุ่มแปลงใหญ่มีการสนับสนุนให้สมาชิกเรียนรู้วิธีการลดต้นทุน เพิ่มผลผลิตปาล์มน้ำมัน ผสมปุ๋ยใช้เอง และใช้ปุ๋ยหมักจากทะลายปาล์ม และแนะนำให้สมาชิกใส่ปุ๋ยตามผลการวิเคราะห์ดินและใบปาล์มน้ำมัน กำหนดกติกาการเก็บเกี่ยวผลผลิตให้เป็นไปตามมาตรฐานสินค้าเกษตรทะลายปาล์มน้ำมัน

แปลงใหญ่ปาล์มน้ำมันตำบลคลองน้อย มีการบริหารจัดการกลุ่มโดยใช้ระบบการควบคุมภายใน (Internal Control System : ICS) มาใช้ ในการควบคุมคุณภาพผลผลิต โดยเน้นให้จัดทำข้อตกลงภายในกลุ่ม แบ่งการบริหารงานเป็นฝ่ายต่างๆ เช่น การควบคุมคุณภาพสินค้าเกษตร การผสมปุ๋ยใช้เอง การดำเนินการทางวิชาการ การควบคุมคุณภาพผลผลิต รวมทั้งเชื่อมโยงการตลาดกับลานเททะลายปาล์มในพื้นที่ โดยทำข้อตกลงซื้อขายปาล์มน้ำมันคุณภาพโดยยึดหลักมาตรฐานเดียวกัน

ใช้ทฤษฎีพ่อ แก้ดินกรด-น้ำท่วมในสวนปาล์ม

ปัจจุบัน สวนปาล์มน้ำมัน เนื้อที่ 10 ไร่ ของคุณสุมาตร ถูกยกให้เป็นแปลงตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม เพราะเก็บผลปาล์มออกขายได้ 4 ตัน ต่อเดือน เมื่อเทียบกับสวนปาล์มทั่วไปที่มีพื้นที่ปลูกเท่ากัน แต่มีผลผลิตเพียง 2.5-3 ตัน นอกจากนี้ ยังมีรายได้เสริมในสวนปาล์มไม่ต่ำกว่าเดือนละ 20,000 บาท สร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมันจากทั่วทั้งประเทศแวะเวียนเข้ามาศึกษาเรียนรู้วิธีการปลูกปาล์มน้ำมันจากคุณสุมาตร

สวนปาล์มน้ำมันต้นแบบ ของ คุณสุมาตร อินทรมณี

ผู้มาเที่ยวชมสวนปาล์มน้ำมันของคุณสุมาตรจะได้เรียนรู้เรื่องการจัดการดินและการใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า เช่น

  1. ทฤษฎีแกล้งดิน ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ในอดีตสวนแห่งนี้ประสบปัญหาน้ำท่วมขัง เจอน้ำขึ้น-น้ำลง ตลอด ทำให้ดินมีสภาพเป็นกรดรุนแรง ไม่เหมาะสำหรับการปลูกพืช ต้องใช้วิธีปรับสภาพดินโดยการเปิดน้ำท่วมพื้นที่ สัปดาห์ละ 1 ครั้ง ครั้งละ 12 ชั่วโมง แล้วปล่อยน้ำออก ทำทุกๆ 2 เดือน สามารถแก้ปัญหาดินเปรี้ยวให้กลายเป็นดินจืด หลังจากนั้นใส่ปูนขาว ปีละ 1 ครั้ง เพื่อปรับสภาพดินตามด้วยปุ๋ยเคมีตามค่าวิเคราะห์ดิน ทำให้ปัจจุบันผืนดินแห่งนี้มีสภาพดีเหมาะสำหรับใช้เพาะปลูกพืชได้
  2. ทฤษฎีแก้มลิง คุณสุมาตร น้อมนำแนวทางการบริหารจัดการน้ำตามแนวพระราชดำริของ รัชกาลที่ 9 เรื่องทฤษฎีแก้มลิงมาใช้ในการเก็บน้ำไว้ใช้ช่วงหน้าแล้ง
  3. การจัดการวัชพืชโดยชีววิธี เมื่อเจอปัญหาวัชพืชรกในสวนปาล์มน้ำมัน ประมาณช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน คุณสุมาตร จะปล่อยให้น้ำท่วมวัชพืชในแปลงสวนปาล์ม ประมาณ 3 วัน ก่อนจะปล่อยน้ำออก ทำให้ต้นวัชพืชล้มตายกลายเป็นปุ๋ยอินทรีย์ในแปลงสวนปาล์มต่อไป วิธีนี้ช่วยลดต้นทุนค่าสารเคมีกำจัดวัชพืช ประหยัดค่าปุ๋ย ลดการใช้แรงงาน

“หากเจ้าของสวนปาล์มน้ำมันรายใดมีพื้นที่ทำกินอยู่ใกล้แหล่งน้ำ มีน้ำขึ้น น้ำลง ตามหลักจันทรคติ แนะนำให้นำทฤษฎีแกล้งดิน ทฤษฎีแก้มลิง ไปประยุกต์ใช้ในสวนปาล์มของตัวเอง รวมทั้งขุดลอกร่องสวนโดยนำตะกอนดินมาใส่โคนต้นปาล์มเพื่อเป็นปุ๋ยชีวภาพและช่วยการระบายน้ำได้ดีขึ้นต่อไป” คุณสุมาตร กล่าว

การบริหารจัดการสวนปาล์มน้ำมันด้วยเทคนิคดังกล่าว ทำให้คุณสุมาตรมีต้นทุนการผลิตปาล์มน้ำมันโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 1 บาทกว่า ต่อกิโลกรัมเท่านั้น เพราะเขาผลิตปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพใช้เอง เสริมด้วยปุ๋ยเคมี ตามค่าวิเคราะห์ดิน เช่น ปุ๋ยเคมี สูตร 13-7-35 เนื่องจากสวนปาล์มน้ำมันในเขตพื้นที่นี้ ให้ผลผลิตมาก จึงต้องเสริมธาตุอาหารประเภทโพแทสเซียมเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม ในภาพรวม ถือว่าสวนของคุณสุมาตรใช้ปุ๋ยค่อนข้างน้อยมาก เพียงแค่ 8 กิโลกรัม ต่อต้น ต่อปี แต่สามารถเก็บผลผลิตได้ประมาณ 8 เดือน ต่อปี เรียกว่าเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ปริมาณสูงกว่าสวนปาล์มน้ำมันในพื้นที่ดอน ที่เก็บเกี่ยวผลผลิตได้แค่ 4-5 เดือน ต่อปี

ผลปาล์มสุกที่ตลาดต้องการ

รายได้เสริม เดือนละ 2 หมื่น

บ่อยครั้งที่ชาวสวนปาล์มน้ำมันประสบปัญหาขาดทุน เนื่องจากประสบปัญหาราคาปาล์มน้ำมันตกต่ำ คุณสุมาตรจึงสร้างภูมิคุ้มกันตัวเอง โดยทำเกษตรผสมผสานร่วมแปลงสวนปาล์มน้ำมัน เช่น ปลูกต้นเตยหอมริมร่องสวน  เลี้ยงผึ้งโพรง เลี้ยงปลา-หอยขมในร่องสวน และเลี้ยงไก่ไข่ ไก่พื้นเมืองในสวนปาล์ม แม้เจอปัญหาวิกฤตราคาปาล์มน้ำมันตกต่ำสักแค่ไหน คุณสุมาตรก็ไม่เดือดร้อน เพราะมีรายได้หมุนเวียนตลอดทั้งปี จากการขายไก่ไข่ ไก่พื้นเมืองและใบเตยหอม ไม่ต่ำกว่า 20,000 บาท ต่อเดือน

คุณสุมาตร บอกว่า การทำเกษตรผสมผสานในสวนปาล์ม มีประโยชน์มากมาย โดยผึ้งโพรงช่วยผสมเกสรในสวนปาล์ม เก็บน้ำผึ้งออกขายปีละ 1 ครั้ง  สวนการเลี้ยงไก่ นอกจากมีรายได้จากการขายไก่และไข่ไก่แล้ว ยังได้มูลไก่เป็นปุ๋ยคอกบำรุงต้นปาล์มและใช้มูลไก่เป็นอาหารเลี้ยงปลาได้ เพราะมูลไก่มีธาตุอาหารมากมาย ทั้งไนโตรเจนโปรตีน แคลเซียม และฟอสฟอรัส

เลี้ยงผึ้งโพรงในสวนปาล์มน้ำมัน
ปลูกต้นเตยหอมในสวนปาล์มน้ำมัน

ส่วนต้นเตยหอม ปลูกดูแลง่าย แต่อย่าใส่ปุ๋ยมาก จะทำให้เตยหอมเติบโตได้ไม่ดี ใส่ปุ๋ยเล็กน้อย ทุกๆ 5-6 เดือน ต้นเตยหอมก็เติบโตงอกงาม ตัดใบเตยออกขายได้ทุกๆ 2 วัน ในราคากิโลกรัมละ 25-30 บาท ให้กับกลุ่มลูกค้าหลักคือ ผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจขนมลอดช่อง และร้านดอกไม้ ปัจจุบันชาวสวนปาล์มน้ำมันได้หันมาปลูกต้นเตยหอมเสริมรายได้ในสวนปาล์มน้ำมันเพิ่มมากขึ้น จึงวางแผนสร้างมูลค่าใบเตยหอมโดยผลิตเป็นเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ เพราะใบเตยหอมเป็นพืชสมุนไพรที่มีสรรพคุณช่วยบำรุงหัวใจได้เป็นอย่างดี

ลานเท “คลองน้อยปาล์ม” ของ คุณสุมาตร อินทรมณี

คุณสุมาตร ฝากเชิญชวนเกษตรกรและผู้สนใจแวะเข้ามาชมแปลงใหญ่ปาล์มน้ำมันตำบลคลองน้อย หากมาในช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม จะได้ร่วมสนุกกับกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงเกษตร ช็อป ชิม ชมผลไม้ที่เป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่น เช่น กระท้อน มังคุด ฯลฯ นอกจากนี้ ยังมีงานเทศกาลของดีคลองน้อย จัดประกวดผลไม้ จัดกิจกรรมบุฟเฟ่ต์ผลไม้ และจัดแข่งขันภูมิปัญญาท้องถิ่นประเภทต่างๆ ที่ผ่านมามีกลุ่มคนไทยและต่างประเทศ รวมทั้งสถาบันการศึกษาหมุนเวียนเข้ามาศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง วิถีชีวิตชาวสวนปาล์มน้ำมัน กิจการวิสาหกิจชุมชน การทำสวนเกษตรผสมผสาน ฯลฯ ตลอดทั้งปี ภายในชุมชนแห่งนี้เปิดให้บริการที่พักแบบโฮมสเตย์ให้แก่นักท่องเที่ยวที่สนใจอีกด้วย

ผู้สนใจเรื่องปาล์มน้ำมัน สามารถแวะไปเยี่ยมชมแปลงปาล์มน้ำมันต้นแบบของ คุณสุมาตร อินทรมณี ได้ทุกวัน โดยสวนแห่งนี้ตั้งอยู่ เลขที่ 77/1 หมู่ที่ 9 ตำบลคลองน้อย อำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานี โทร. 089-728-2810

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2562