“หนองคาย” เตรียมรับโรงงานน้ำตาล เปิดเวทีรับฟังความเห็น ปชช. หวั่นกระทบสิ่งแวดล้อม-จราจร

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (27 มีนาคม 61) บริษัท ไอเอสอีที (ประเทศไทย) จำกัด (บริษัทที่ปรึกษา) ที่ได้รับมอบหมายจาก บริษัท วิวรรธน์การเกษตร จำกัด ให้ดำเนินการศึกษาและจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมฯ นำเสนอต่อสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อดำเนินการพิจารณาให้ความเห็นตามที่กำหนดใน พ.ร.บ. ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 ก่อนดำเนินโครงการต่อไป

โดยได้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ที่อยู่ในรัศมี 5 กม. จากจุดตั้งโครงการ ที่ครอบคลุมในพื้นที่ 2 ตำบล คือ ต.จุมพล และ ต.กุดบง ในเขต อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย ครั้งที่ 1 ต่อร่างข้อเสนอโครงการและขอบเขตการศึกษารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการโรงงานผลิตน้ำตาลทราย 20,000 ตันอ้อย/วัน ขึ้น โดยระยะเวลาในการศึกษาโครงการ ประมาณ 2 ปี หากได้รับอนุญาตจึงจะสามารถดำเนินการก่อสร้างได้

ช่วงเช้าเริ่มขึ้นเวลา 09.10 น. จัดที่ศาลาวัดจอมนาง ต.จุมพล อ.โพนพิสัย มี นายปิยะ ปิจนำ นายอำเภอโพนพิสัย เป็นประธานพิธีเปิด ส่วนในช่วงบ่ายจัดขึ้นที่ห้องประชุม อบต. กุดบง ต.กุดบง อ.โพนพิสัย มีนายกิตติวัฒน์ ธนพัฒน์ไพบูลย์ ผู้ชำนาญการสิ่งแวดล้อม บริษัท ไอเอสอีที (ประเทศไทย) จำกัด ได้นำเสนอข้อมูลรายละเอียดของโครงการ พร้อมตอบข้อซักถามร่วมกับ นายอวยชัย เจริญยิ่งสุขจินดา ผู้แทนของ บริษัท วิวรรธน์การเกษตร จำกัด

ซึ่งการประชุมรับฟังความคิดเห็นครั้งนี้ เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนผู้มีส่วนได้เสีย รวมทั้งส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เข้ามามีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น หรือข้อห่วงกังวลต่อขอบเขตและแนวทางการศึกษาการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการ และเพื่อสรุปประเด็น ข้อกังวล และข้อเสนอแนะจากประชาชน ผู้มีส่วนได้เสียจากการประชุมรับฟังความคิดเห็นครั้งนี้ และคาดว่าจะมีการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนฯ ครั้งที่ 2 อีกครั้ง ในปลายเดือนมิถุนายน 61 นี้ จะมีผู้เข้าร่วมประชุมรับฟังความคิดเห็นที่ศาลาวัดจอมนาง ต.จุมพล ไม่รวมตัวแทนจากบริษัทที่ปรึกษาและเจ้าของโครงการ รวม 196 คน และที่ห้องประชุม อบต. กุดบง จำนวน 51 คน

นายกิตติวัฒน์ ธนพัฒน์ไพบูลย์ ผู้ชำนาญการสิ่งแวดล้อม บริษัท ไอเอสอีที (ประเทศไทย) จำกัด ได้นำเสนอข้อมูลรายละเอียด ของโครงการว่า โครงการโรงงานผลิตน้ำตายทราย 20,000 ตันอ้อย/วัน ของบริษัท วิวรรธน์การเกษตร จำกัด ตั้งอยู่ในที่บ้านนาอ่าง ต.จุมพล อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย ซึ่งโครงการตั้งอยู่ในพื้นที่ต่อเนื่องกับพื้นที่ของโรงไฟฟ้าชีวมวล ขนาด 30 เมกะวัตต์ มีขนาดพื้นที่โดยรวม ประมาณ 1,009-3-72 ไร่ โดยแบ่งเป็นพื้นที่ตั้งโรงงาน ประมาณ 704-0-71 ไร่ พื้นที่บ่อผันน้ำของโครงการ ประมาณ 5-3-1 ไร่ และพื้นที่แปลงทดลองปลูกอ้อยและบ่อพักน้ำที่นำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ ประมาณ 300 ไร่ จึงมีการใช้ระบบสาธารณูปโภคร่วมกัน และทำให้สะดวกในงานของการบริหารจัดการในภาพรวม ทั้งในส่วนของความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ ทำเลที่ใกล้แหล่งพื้นที่ปลูกอ้อย ซึ่งเป็นวัตถุดิบของโครงการเป็นสำคัญ จากรายงานผลการสำรวจพื้นที่ปลูกอ้อยที่จัดทำโดยสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาล ประจำปี 2559/2560 พบว่า จ.หนองคาย มีพื้นที่ปลูกอ้อยโดยรวม ประมาณ 64,352 ไร่ ซึ่ง อ.โพนพิสัย ที่เป็นพื้นที่โครงการ มีพื้นที่ปลูกอ้อย ประมาณ 3,666 ไร่ ประกอบกับขนาดของพื้นที่ที่จะดำเนินการก่อสร้างโรงงานและระบบสาธารณูปโภคต่างๆ ในการดำเนินงานต้องการพื้นที่ขนาดใหญ่และเพียงพอในการออกแบบ ประกอบกับอยู่ใกล้กับแหล่งวัตถุดิบเพื่อสะดวกในการขนส่งและลดต้นทุนของเกษตรกรที่ปลูกอ้อย

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาข้อมูลพื้นที่ที่มีศักยภาพและมีความเหมาะสมในการปลูกอ้อย โดยพิจารณาจากความเหมาะสมของดินในระดับต่างๆ ที่จัดทำโดยสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย พบว่า พื้นที่ส่งเสริมการปลูกอ้อยที่สำคัญของโครงการคือ จ.หนองคาย มีความเหมาะสมและศักยภาพในการปลูกอ้อย ปัจจุบันโครงการอยู่ระหว่างการให้ความรู้กับเกษตรกรและผู้สนใจในการปลูกอ้อย โดยมีทีมอาจารย์และนักวิชาการเกษตรดำเนินการศึกษาความเหมาะสมของชุดดินและพันธุ์อ้อยที่จะปลูกในพื้นที่ ดังนั้น การตั้งโรงงานผลิตน้ำตาลทราย ในเขต ต.จุมพล อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย จึงมีความเหมาะสมต่อแหล่งวัตถุดิบของโครงการ

หลังการประชุมชี้แจงรายละเอียดโครงการ ได้เปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมประชุมแสดงความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ ข้อวิตกกังวล ซึ่งทั้ง 2 จุด ที่มีการประชุมรับฟังความคิดเห็น มีคล้ายๆ กัน คือวิตกกังวลในเรื่องของผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะในเรื่องของน้ำเสีย มลพิษทางอากาศ เสียง และปัญหาการจราจร อีกทั้งยังมีความเป็นห่วงในเรื่องของน้ำดิบที่จะนำมาใช้ในโรงงาน ที่อาจจะกระทบกับแหล่งน้ำของชุมชน

ซึ่งนายกิตติวัฒน์ ก็ได้ชี้แจงรายละเอียดในแต่ละเรื่องให้ผู้ที่เข้าประชุมได้ทราบข้อเท็จจริง เกี่ยวกับมาตรการต่างๆ ที่จะทำให้ทุกอย่างอยู่ในมาตรฐาน เช่น มีการนำแผ่นพลาสติกปูพื้นบ่อบำบัดน้ำเสีย การก่อสร้างโรงงานที่มิดชิด มีการปลูกพรรณต้นไม้ที่มีความเหมาะสม เป็นต้น ส่วนในเรื่องของการจราจร จะมีการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ เช่น มีลานจอดสำหรับรถบรรทุกอ้อย ไม่ให้รถบรรทุกอ้อยเข้าในพื้นที่ชุมชนในช่วงเวลาเร่งด่วน เป็นต้น ส่วนเรื่องน้ำดิบที่จะใช้ในโรงงาน จะมีการขุดบ่อน้ำดิบขนาดใหญ่ ความจุไม่ต่ำกว่า 1 ล้าน ลบ. ม. จะมีการกักเก็บน้ำในช่วงฤดูฝนไว้ใช้ในโรงงาน โดยจะไม่มีการสูบน้ำจากแหล่งน้ำในชุมชนอย่างเด็ดขาด นอกจากนี้ ยังจะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อควบคุมดูแล ซึ่งมีประชาชนและผู้นำชุมชนเข้ามาร่วมเป็นคณะกรรมการมากกว่าครึ่งหนึ่ง จะมีหน้าที่ตรวจสอบตั้งแต่เริ่มต้นการก่อสร้างโรงงานจนถึงโรงงานก่อสร้างแล้วเสร็จ และเปิดดำเนินการ

นายปิยะ ปิจนำ นายอำเภอโพนพิสัย กล่าวว่า โครงการนี้ถือเป็นโครงการที่ดีที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจของ อ.โพนพิสัย โดยเฉพาะในเขตเมือง ต.จุมพล และกุดบง ซึ่งอำเภอโพนพิสัย ในอนาคตไม่เกิน 2 ปี เมื่อมีการเชื่อมต่อระบบรถไฟ จาก สปป. ลาว มาหนองคาย ขณะนี้อำเภอโพนพิสัยมีความพร้อมจะเป็นศูนย์กลางทางด้านเศรษฐกิจ ไม่เฉพาะการขายน้ำตาลไปที่จีน เนื่องจากขณะนี้มีการก่อสร้างโรงฆ่าสัตว์ที่ได้มาตรฐานและใหญ่ที่สุดในประเทศ มีสหกรณ์ผู้เลี้ยงโควากิว ซึ่งเมื่อผลิตแล้วสามารถส่งขายไปยังต่างประเทศได้ นอกจากนี้ ยังมีจุดผ่อนปรนไทย-ลาว ที่มีมูลค่าการค้าเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ อยู่ที่ 5-7 แสนบาท/วัน ขณะนี้ตนได้ทำเรื่องขอเพิ่มจำนวนวันให้เปิดมากขึ้น

 

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์