กระพี้จั่น เนื้อไม้ใช้ทำกระดาษ หรือด้ามเครื่องมือก็ได้

ชื่อวิทยาศาสตร์ Millettia brandisiana Kurz

ชื่อวงศ์ LEGUMINOSAE

ชื่ออื่นๆ จั่น ปี้จั่น (ภาคเหนือ, ทั่วไป) กระพี้จั่น (ภาคกลาง)

เปิ้ลเป็นจาวเหนือ แต่ก็ดังทั่วประเทศแม้ว่าถิ่นกำเนิดจะมีอยู่ในเอเชียเขตร้อน

แต่สำหรับในประเทศไทย พอผู้นำท่านเอ่ยคำว่า “กระพี้” คนก็หาความหมายกันมากมาย ทำให้มีคนรู้จักคำว่า “กระพี้จั่น” เป็นผลพลอยได้ให้เปิ้ลดังไปเลย กระพี้ ความหมายจากพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน คือ ส่วนของเนื้อไม้ที่หุ้มแก่นหรือเนื้อเยื่ออ่อนๆ ที่อยู่ระหว่างเปลือกกับแก่น หรือแกนต้นไม้ มีลักษณะอ่อนยุ่ยง่าย คนบางคนไปตีความว่า “ไม่เป็นแก่นสาร” แต่เปิ้ลว่าถ้าไม่มีแก่น มีแกนของต้นไม้ เปลือกไม้จะหุ้มอะไรละจ๊ะ สำหรับ “จั่น” อาจารย์เปลื้อง ณ นคร ท่านว่าหมายถึง ช่อดอกหมากหรือช่อดอกมะพร้าว เมื่อยังอ่อนและมีกาบหุ้มอยู่ มีคนปีนไปรัดปลายช่อแล้วกรีดหรือปาดให้น้ำหวานหยดออกมา อร่อยดี ส่วนความหมายอื่น มีทั้งเป็นเครื่องมือดักจับสัตว์ เครื่องประดับข้อมือเป็นทองฝังเพชรพลอย หรือถ้าชื่อเบี้ยรูปแบนๆ เรียกว่า “เบี้ยจั่น” เป็นเครื่องประดับที่คอคล้ายทับทรวง เห็นไม๊ละคะว่าเป็นความหมายดีๆ ทั้งนั้น เปิ้ลจึงภูมิใจตัวเองมาก แต่อย่าเรียกสั้นๆ ว่า “พี้” นะ เดี๋ยวใครเขาคิดว่าเปิ้ลพี้กัญชา สิ่งที่เปิ้ลภูมิใจอีกหลายอย่างคือ เปิ้ลเป็นต้นไม้ประจำโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ถ้าเข้าไปในโรงเรียนแล้วเดินไปสุดอาคารก่อนถึงแปลงเกษตรของนักเรียนสาธิต จะเห็นเปิ้ลยืนต้นเรียงรายโชว์ดอกม่วงขาวสะพรั่งตา และยังเป็นไม้มงคลพระราชทานประจำจังหวัดแม่ฮ่องสอน คิดดูซิคะ ถ้าพูดถึงแม่ฮ่องสอน คนก็ต้องคิดถึงดอกบัวตอง ที่ดอยแม่อูคอ ทุ่งบัวตองใหญ่ที่สุดในประเทศ

แต่เปิ้ลก็มีชื่อเสียงตีคู่มาได้ เปิ้ลเองก็งงๆ อยู่ที่ว่าชื่อตัวเองแปลกดีแต่ละคำ แต่พอรวมเป็นกระพี้จั่น จะมีความหมายอย่างไรก็ช่างเถอะ เพราะถ้าใครเห็นดอกที่ออกประมาณเดือนมีนาคมถึงเมษายนจะตะลึงแน่นอน คือออกเป็นแบบช่อแยกแขนงตามปลายกิ่งช่อยาวๆ เกือบคืบ ดอกมีกลีบเลี้ยงปลาย แยกเป็น 5 แฉก สีม่วงดำ แต่กลีบดอก 5 กลีบเล็กๆ คล้ายดอกถั่ว สีม่วงแกมขาว ไม่มีกลิ่น หรือเป็นเพราะเปิ้ลสูงได้ถึง 15 เมตร ทำให้กลิ่นลอยขึ้นไปบนฟ้าหมด

ถ้าใครอยากจะปลูกกระพี้จั่นในรั้วบ้าน ขอบอกเคล็ดลับสักนิดนะ คือเปิ้ลทิ้งใบปีละครั้งช่วงออกดอก ถ้าน้ำน้อยจะทิ้งใบไปหมดเหลือแต่ดอก ถ้าต้องการให้เหลือใบบ้างก็ให้น้ำเพิ่มขึ้น ไว้เป็นร่มบังแดด แต่จะสวยไปอีกแบบ เพราะสีเขียวของใบสลับสีดอกม่วงแกมขาวดูเด่นดี พอดอกเริ่มพัฒนาเป็นฝัก เป็นเมล็ด ก็นำไปเพาะปลูกได้ และเปิ้ลภูมิใจอีกอย่างที่เขาจัดให้เป็นยาสมุนไพรพื้นบ้านทางภาคอีสาน ใช้บำรุงเลือด ส่วนประโยชน์อื่นเขาใช้ต้นทำเยื่อกระดาษ ทำเครื่องมือก่อสร้างทั่วไปได้ ยอดอ่อนก็กินอร่อยจ้า!

ปล. เปิ้ลเคยอยู่ในทำเนียบรัฐบาล ปลูกไว้ตั้งแต่ พ.ศ. 2520 แล้วเจอพายุลมแรง ฝนหนัก เมื่อ พ.ศ. 2555 ก็เลยล้มที่ข้างตึกนารีสโมสร พิสูจน์แล้วว่าถูกด้วงกัดกิน รากเน่า ไม่ใช่มึนล้มเพราะ “พี้” กัญชาหรอกนะเจ้าค่ะ…!

 

…………………

เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันศุกร์ที่ 30 มีนาคม พ.ศ.2561