ก.ศึกษาดันผลงานอาชีวะสู่ธุรกิจจริง

กระทรวงศึกษาฯร่วมกระตุ้นเศรษฐกิจภาคตะวันออกและEEC จัดกิจกรรมจับคู่ธุรกิจ(Matching) นำผลงานนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ของอาชีวศึกษาเพื่อเข้าสู่ระบบธุรกิจจริง

พลเอกสุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ที่รับหน้าที่กำกับดูแลอาชีวศึกษา กล่าวว่า กระทรวงศึกษาฯมีนโยบายมุ่งขับเคลื่อนนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์อาชีวศึกษาสู่ระบบธุรกิจอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง ซึ่งที่ผ่านมา ได้มีการจัดตั้งศูนย์ประสานงานผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา

โดยนำระบบ Big Data ให้อาชีวศึกษาประสานข้อมูลกับบริษัทและโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ เพื่อให้ทราบถึงความต้องการ ตลอดจนการผลิตและพัฒนากำลังคนเพื่อให้ตรงกับความต้องการ ซึ่งเปิดไปแล้ว 2 แห่ง คือ ภาคใต้ชายแดน และภาคตะวันออกและจะดำเนินการให้ครบอีก 4 ภาคทั่วประเทศ ในเร็วๆนี้

นอกจากนั้นยังขับเคลื่อนให้มีผู้เรียนอาชีวศึกษาเพิ่มขึ้น เพื่อการสร้างงานและกำลังคนที่มีทักษะฝีมือรองรับกับความต้องการที่ประสบภาวะขาดแคลน โดยผลการดำเนินงานที่ผ่านมาพบว่ามีปริมาณและคุณภาพที่เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน เช่น ที่ภาคใต้ชายแดน เดิมมียอดผู้เรียนอาชีวศึกษาประมาณ 11% แต่ในปีการศึกษาที่จะเปิดเทอมใหม่นี้ มียอดเพิ่มขึ้นเกือบ 30% ของนักเรียน ม.3 ที่เข้าเรียนต่อสายอาชีวศึกษา

นอกจากนี้ที่ผ่านมายังมีงานขับเคลื่อนให้อาชีวศึกษาร่วมกับ กศน. ค้นหาและร่วมกันพัฒนาสินค้า นวัตกรรม พร้อมจัดหาทีมที่ปรึกษาทางธุรกิจให้ ซึ่งดำเนินการเป็นครั้งแรกที่ภาคใต้ชายแดน ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

ล่าสุดกระทรวงศึกษาธิการ ได้ผลักดันให้นวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ของอาชีวศึกษาเข้าสู่ระบบธุรกิจจริง โดยการจัดกิจกรรมให้อาชีวศึกษาภาคตะวันออกทั้งหมด นำนวัตกรรมที่ได้รับรางวัลระดับภาค ปี 2559 และ ปี 2560 จำนวน 120 ชิ้นงาน มาจัดแสดง พร้อมเชิญชวนนักอุตสาหกรรม-นักธุรกิจ บริษัทต่างๆ มาดูและร่วมพิจารณาว่าสามารถจะนำเข้าสู่ระบบธุรกิจได้อย่างไร โดยจัดงานขึ้นระหว่างวันที่ 8-9 เมษายน พ.ศ. 2561 ณ วิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ จ.ชลบุรี

ทั้งนี้ผู้ประกอบการสามารถให้ความร่วมมือในการขับเคลื่อนนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ของอาชีวศึกษาเข้าสู่ระบบธุรกิจจริง ได้ใน 4 ลักษณะ คือ
1. ผู้ประกอบการมาสั่งซื้อสิ่งประดิษฐ์
2. ผู้ประกอบการมาแนะนำให้เพิ่มหรือพัฒนางานเล็กน้อย แล้วสั่งซื้อ
3. ผู้ประกอบการมาให้โจทย์ใหม่ แล้วสั่งซื้อ
4. ผู้ประกอบการมาเสนอตัวเป็นที่ปรึกษาทางธุรกิจให้แก่นักศึกษาอาชีวศึกษา

โดยผู้ประกอบการที่เข้ามาแล้วแสดงตัวเข้าช่วยเหลือจะได้รับเกียรติบัตรเชิดชูเกียรติจากกระทรวงศึกษาธิการ โดยพลเอกสุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการฯ ภายในงานวันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2561

“เป็นที่น่ายินดีว่าขณะนี้มีโรงงานอุตสาหกรรมและนักธุรกิจยื่นความจำนงที่จะเข้ามานำนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ผลงานอาชีวศึกษาภาคตะวันออก ไปใช้ในงานผลิตและธุรกิจแล้วกว่า 30 บริษัท ซึ่งทั้งหมดอยู่ในระบบธุรกิจอุตสาหกรรมของพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรือEEC” พลเอกสุรเชษฐ์กล่าว