สมคิด ถกทีมศก. รับศึกจีน-มะกัน เปิดสงครามการค้า-พณ.หวั่นทุ่มตลาดเข้าไทย

“สมคิด” เรียกหน่วยงานเศรษฐกิจ “ธปท.-คลัง-ตลท.-กลต.-พณ.” ถกด่วนประเมินผลกระทบ หลังสงครามการค้าจีน-สหรัฐ ปะทุ สินค้าส่งออกตัวไหนกระทบบ้าง เตรียมแนวทางตั้งรับ พาณิชย์-  แบงก์ชาติหวั่น สินค้าที่ทั้งสองประเทศกีดกัน อาจเอามาดัมพ์ทุ่มตลาดในภูมิภาคหรือไทย

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ได้เรียก นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พาณิชย์ (พณ.) นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) นายรพี สุจริตกุล เลขาธิการคณะกรรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และ นายชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์ ประธานตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศ ไทย (ตลท.) หารือประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจ และการเงิน โดยเฉพาะสงครามทางการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐ ว่าจะส่งผลกระทบต่อไทยอย่างไร ต้องมีแนวทางรับมืออย่างไรบ้าง เพราะไม่รู้ว่าการเจรจาของ 2 ประเทศ จะยืดเยื้อเพียงใด

สถานการณ์ไม่ชัดเจนอย่าคาดเดา มอบหมายพาณิชย์ดูแลอย่างใกล้ชิด ให้ไปศึกษาถึงผลดี ผลเสียต่อการค้าต่อไทย แม้ก่อนหน้าจนถึงตอนนี้ผลกระทบยังไม่ชัด แต่เพื่อความไม่ประมาทให้ไปดูว่าสินค้าสำคัญของไทยใดที่จะถูกกระทบในทางลบและจะหาทางออกไปทางใดได้บ้าง ส่วนเรื่องเศรษฐกิจมหภาคทุกอย่างไปได้ดี แม้จะมีสื่อเช่นดิอิโคโนมิสต์ระบุว่า ไทยจะอยู่ในสถานะเหมือนญี่ปุ่นทั้งเรื่องดอกเบี้ยไม่ขึ้นมาเป็นเวลานาน และจับตาค่าเงินของไทย

นายอภิศักดิ์ กล่าวว่า ประเมินผลกระทบในระยะสั้นมีไม่มาก และเป็นไปได้ที่ผลกระทบจะสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งด้านลบและบวก ซึ่งสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้ร่วมประชุมกับรมว.คลังและ ผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียน ที่สิงคโปร์ บางประเทศก็ระบุว่า ได้ประโยชน์จากสงครามการค้าที่กำลังเกิดขึ้น เช่น เวียดนาม ที่ได้รับ  คำสั่งซื้อจากต่างประเทศมากขึ้น สำหรับไทยต้องรอผลการศึกษาของพาณิชย์

นายสนธิรัตน์ กล่าวว่า ไทยอยู่ระหว่างประเมินผลรอบด้าน เพราะว่ามีทั้งด้านลบและด้านบวก สินค้าหลายอย่างที่เราอยู่ในวงโซ่การผลิตของสินค้าจีนที่ส่งไปยังสหรัฐ เช่น คอมพิวเตอร์ วงจรอิเล็กทรอนิกส์ และเมื่อเกิดการต่อสู้กันในรูปแบบนี้ก็จะมีสินค้าส่วนเกิน (surplus) ที่สหรัฐและจีนไม่สามารถส่งสินค้าไปยังตลาดของทั้งสองประเทศได้ สินค้าเหล่านี้ ต้องหาตลาดที่จะส่งออกทดแทน มีโอกาสที่สินค้าบางประเภทจะถูกดัมพ์ตลาดเข้ามาในภูมิภาค หรือเข้ามาในไทย

นายวิรไท เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาไทยได้หารือกับกระทรวงการคลังของสหรัฐมาอย่างต่อเนื่อง ไทยชี้แจงมาตลอดว่า ไม่มีนโยบายแทรกแซงค่าเงิน เพื่อผลประโยชน์ทางการค้าหรือเพื่อเพิ่มความได้เปรียบ แต่ที่ต้องแทรกแซง เพราะต้องดูแลค่าเงิน หลังจากมีเงินทุนไหลเข้ามามาก เชื่อว่าสหรัฐจะเข้าใจ

จากนี้ต้องระมัดระวังเรื่องมาตรการกีดกันการค้าจะเพิ่มขึ้นหรือไม่ สินค้าที่สหรัฐห้ามนำเข้า อาจเข้ามา ทุ่มตลาดในไทย รวมทั้งภาวะตลาดทุนโลกมีความผันผวน อาจส่งผลกระทบ ต่อการลงทุนชะลอตัวได้

ที่มา : ขอบคุณข้อมูลจากข่าวสด