เผยแพร่ |
---|
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และนักวิชาการที่เกี่ยวข้องต่างๆ รวมทั้งทีมวิจัยมหาวิทยาลัยรังสิต เดินหน้าวิจัยพัฒนาสารสกัดจากกัญชา เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ ทั้งโรคทางสมอง โรคลมชัก พาร์กินสัน โรคสมองเสื่อม โดย นพ. ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่ากระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ตั้งคณะทำงานวิชาการขึ้นมารวบรวมข้อมูลและศึกษาความเป็นไปได้ในการนำมาใช้เป็นยานั้น ล่าสุดในสังคมออนไลน์มีการตั้งคำถามว่า ปัญหาอาจมีประโยชน์หรือไม่ เพราะมีการนำไปผสมในอาหาร หรือในขนม อย่างที่เคยมีการจับกุมคือ กัญชาบราวนี่นั้น
เมื่อวันที่ 16 เมษายน ภญ. ผกากรอง ขวัญข้าว เภสัชกรชำนาญการ โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า สูตรตำรับสมัยโบราณมีการนำกัญชาไปประกอบอาหาร เพียงแต่ใส่ในปริมาณเล็กน้อย ใช้ใบ 1-2 ใบ เท่านั้น ซึ่งคนโบราณเชื่อว่าจะช่วยเจริญอาหาร หรือทำให้อาหารรสชาติดีขึ้น ส่วนจะช่วยเรื่องการรักษาโรค หรือส่งผลดีต่อสุขภาพอย่างไรนั้น ยังไม่มีการนำมาศึกษาวิจัยอย่างเป็นรูปธรรม เนื่องจากกัญชา จัดเป็นพืชเสพติดประเภทที่ 5 ซึ่งถูกควบคุมทั้งหมด แม้จะให้ทดลองวิจัยได้แต่เป็นเพียงห้องปฏิบัติการ ไม่สามารถวิจัยในมนุษย์ ดังนั้น แม้วิจัยออกมาได้ก็ไม่สามารถเดินหน้าต่อยอดใช้จริง
“คนสมัยก่อนที่นำมาประกอบอาหารนั้น และไม่มีการติดยา ก็เพราะว่าเขาใช้ในปริมาณน้อยๆ ไม่ได้ใช้หนักแบบคนที่ติดในปัจจุบัน ซึ่งทุกวันนี้สังคมเปลี่ยนแปลง จึงจำเป็นต้องมีการควบคุม ซึ่งเห็นด้วยต้องมีการควบคุมกัญชา แต่ก็น่าจะเปิดให้มีการวิจัยพัฒนา อย่างไรก็ตาม นอกจากกัญชา ใบกระท่อมก็เป็นอีกชนิดที่น่าสนใจในการพัฒนาเป็นยา เพราะภูมิปัญญาของคนสมัยก่อน จัดกระท่อมเป็นพืชที่ช่วยอาการท้องเสียได้ แต่ปัจจุบันมีการวิจัยพัฒนาและศึกษา พบว่าช่วยลดอาการปวดได้ รวมทั้งช่วยเรื่องโรคทางจิตเวช อย่างคนที่เครียดๆ จะกินยานอนหลับ ก็น่าจะใช้กระท่อมช่วยแทนยา ซึ่งถือเป็นตำราโบราณที่ใช้กันมา แต่ไทยก็ยังติดเรื่องกฎหมายอยู่” ภญ. ผกากรอง กล่าว
ที่มา : ขอบคุณข้อมูลจากมติชนรายวัน