หลัก FAST ช่วยรักษาชีวิต ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง

จู่ๆ ก็ได้ยินว่า เพื่อนร่วมงานเกิดอาการตัวชาไปครึ่งซีก แขนขาอ่อนแรง ญาติต้องพาไปส่งโรงพยาบาลเป็นการด่วน

นี่เป็นสัญญาณเริ่มต้นของ “โรคหลอดเลือดสมอง”

“โรคหลอดเลือดสมอง” เป็นโรคที่เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตของผู้คนทั่วโลกในแต่ละปีสูงเป็น อันดับ 2 ในประชากรที่อายุมากกว่า 60 ปี และเป็น อันดับ 5 ในประชากรที่อายุมากกว่า 15-59 ปี ถือเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญ เนื่องจากมีแนวโน้มผู้ป่วยเพิ่มขึ้นและเสียชีวิตเพิ่มมากขึ้น

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศไทยและทั่วโลกกำลังเข้าสู่ภาวะสังคมผู้สูงอายุ จึงต้องตระหนักถึงผลกระทบของโรคนี้ต่อประชากรในประเทศมากยิ่งขึ้น

พญ.ทวีรักษ์ นิธิยานนทกิจ อายุรแพทย์ด้านอายุรกรรมสมองและประสาทวิทยา โรงพยาบาลพระรามเก้า กล่าวว่า โรคหลอดเลือดสมองชนิดสมองขาดเลือด (Ischemic Stroke) เป็นชนิดของหลอดเลือดสมองที่พบได้กว่า 85% ของโรคหลอดเลือดสมองทั้งหมด เกิดจากการอุดตันของหลอดเลือดจนทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ ส่วนใหญ่แล้วมักเกิดร่วมกับภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง

ซึ่งมีสาเหตุมาจากไขมันที่เกาะตามผนังหลอดเลือด จนทำให้เกิดเส้นเลือดตีบแข็ง โดยในปัจจุบันหากผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองแบบขาดเลือดมารับการรักษาภายในเวลา 4 ชั่วโมงครึ่ง สามารถให้ยาละลายลิ่มเลือด เพื่อช่วยให้สมองในบริเวณที่ขาดเลือดกลับมาทำงานได้ตามปกติ

 

พญ.ทวีรักษ์ นิธิยานนทกิจ

ดังนั้น อาการที่เป็นทันทีทันใดและสังเกตง่ายๆ ในเบื้องต้นตามหลัก FAST ได้แก่ F (Face) ผู้ป่วยจะมีอาการหน้าเบี้ยว หรือปากเบี้ยวด้านใดด้านหนึ่ง หรือผู้ป่วยบางท่านอาจมีอาการระหว่างรับประทานอาหาร เช่น อาหารไหลออกจากปาก หรือน้ำลายไหลออกจากมุมปากด้านใดด้านหนึ่ง ทดสอบง่ายๆ ได้โดยให้ผู้ป่วยลองยิ้ม หรือยิงฟัน

A (Arms) อาการแขนขาอ่อนแรง ผู้ป่วยจะขยับแขนขาด้านใดด้านหนึ่งไม่ได้ โดยอาจจะเป็นเฉพาะขา หรือเป็นทั้งแขนขาซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นด้านเดียวกัน ทดสอบง่ายๆ โดยการให้ผู้ป่วยลองยกแขนขาทั้งสองข้าง ถ้าตกด้านใดด้านหนึ่ง แสดงว่ามีความผิดปกติ

S (Speech) ผู้ป่วยจะมีอาการพูดไม่ชัด พูดอ้อแอ้ เหมือนลิ้นคับปาก หรือบางคนมีอาการพูดไม่ออก หรือฟังคำสั่งไม่รู้เรื่อง ญาติบางคนคิดว่าผู้ป่วยสับสน ทดสอบได้ง่ายๆ ด้วยการให้ผู้ป่วยพูดตามในคำง่ายๆ เช่น กรุงเทพมหานคร หรือชี้ให้ดูปากกา นาฬิกา แล้วถามว่าของสิ่งนั้นเรียกว่าอะไร หรือให้ทำตามคำสั่งง่ายๆ เช่น ชูสองนิ้ว เป็นต้น

และ T (Time) เพราะเวลาเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง รีบนำผู้ป่วยที่สงสัยว่ามีภาวะโรคหลอดเลือดสมองจากการสังเกตหลัก FAST ไปโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดโดยเร็วที่สุด เพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับสมองตามระยะเวลาที่มากขึ้น

ทุกคนสามารถป้องกันโรคหลอดเลือดสมองได้โดยหมั่นตรวจวัดความดันโลหิตอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง หากพบว่ามีความดันโลหิตที่มากกว่า 140/80 mmHg ควรพบแพทย์และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร โดยลดอาหารที่มีรสเค็มลง และรับประทานยาลดความดันโลหิตอย่างสม่ำเสมอ ไม่ควรหยุดรับประทานยาลดความดันโลหิตเองโดยที่แพทย์ไม่ได้สั่งให้งด เนื่องจากโรคความดันโลหิตสูงเป็นโรคที่เป็นแล้วมักจะเป็นตลอดชีวิต และไม่ค่อยแสดงอาการ

ควรเข้ารับการตรวจหัวใจด้วยว่ามีความผิดปกติของการเต้นหัวใจหรือไม่ หยุดสูบบุหรี่ งดการดื่มสุรา ในกรณีที่มีน้ำหนักเกินควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อย สัปดาห์ละ 3 ครั้ง ควรเป็นการออกกำลังกายในรูปแบบที่ทำให้หัวใจเต้นเร็วขึ้นกว่าปกติอย่างน้อย 10-20 ครั้ง ต่อนาที ครั้งละครึ่งชั่วโมง

ที่สำคัญคือ ควรตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี เพื่อตรวจวัดระดับน้ำตาลและไขมันในเลือด ถ้าปฏิบัติได้ตามนี้ก็จะสามารถลดความเสี่ยงของการเกิดโรค