“อนันต์ ตั้งตรงเวชกิจ” ผนึกพันธมิตรต่อยอด “น้ำตาลบุรีรัมย์” สู่อุปกรณ์การแพทย์

อ้อย ถือเป็นหนึ่งในพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ ในอดีตใช้ผลิตเป็นพืชอาหารคือ น้ำตาลทราย ต่อมาอ้อยมีบทบาทสำคัญในการผลิตพืชพลังงานคือ เอทานอล ผลพลอยได้นำไปใช้ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ ส่วนกากอ้อยใช้ผลิตไฟฟ้า มาถึงยุคอุตสาหกรรม 4.0 อ้อยและน้ำตาลกำลังปรับโฉมก้าวไปอีกขั้น ซึ่ง “อนันต์ ตั้งตรงเวชกิจ” ประธานกรรมการบริหาร บริษัท น้ำตาลบุรีรัมย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BRR กลุ่มผู้บุกเบิกอุตสาหกรรมอ้อยน้ำตาลของภาคตะวันออกเฉียงเหนือมายาวนานกว่า 50 ปี ได้ให้สัมภาษณ์ “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงแผนธุรกิจและทิศทางการลงทุนในอนาคต

ทุ่ม 600 ล้าน ตั้ง “โรงรีไฟน์”

เป้าหมายของแผนธุรกิจ 5 ปี ที่ผ่านมามุ่งพัฒนาเรื่องไร่อ้อยอย่างเต็มที่ เพื่อสร้างความมั่นคงให้วัตถุดิบหลัก คาดว่าฤดูการผลิต ปี 2560/2561 คาดว่าจะมีปริมาณอ้อยเข้าหีบสูงถึง 3 ล้านตันอ้อย คิดเป็นปริมาณน้ำตาล 350,000-360,000 ตัน เพิ่มขึ้นจากฤดูการผลิต ปี 2559/2560 อยู่ที่ 2.9 ล้านตันอ้อย ปัจจุบัน มีเกษตรกรชาวไร่อ้อยที่ร่วมกับโรงน้ำตาลบุรีรัมย์ 15,000 ครอบครัว บนพื้นที่ 250,000 ไร่ เป็นเกษตรกรรายย่อยมีพื้นที่ปลูกเฉลี่ย 20 ไร่ ต่อครัวเรือน กลุ่มน้ำตาลบุรีรัมย์ถือว่ามีความโดดเด่นด้านการผลิตวัตถุดิบคุณภาพ โดยมีปริมาณผลผลิตอ้อยต่อไร่เฉลี่ยสูงกว่ามาตรฐานทั่วประเทศถึง 12.7 ตัน/ไร่ และมีเกษตรกร ประมาณ 20-30% จากจำนวนเกษตรกรทั้งหมดสามารถปลูกอ้อยได้ผลผลิตสูงถึง 20 ตันต่อไร่ ขณะที่ค่าความหวาน (CCS) เฉลี่ยอยู่ที่ 13.7 โดยอ้อย 1 ตัน สามารถผลิตน้ำตาลได้สูงถึง 123 กิโลกรัม ขณะที่เฉลี่ยทั่วประเทศไทย อยู่ที่ 110 กิโลกรัม ต่อตัน ทั้งนี้ ปี 2560 บริษัทมีผลการดำเนินงานเฉลี่ยประมาณ 5,000-6,000 ล้านบาท

เมื่อมีความเข้มแข็งในวัตถุดิบหลัก จึงผลิตผลพลอยได้ต่างๆ ตามมา เช่น กากอ้อย นำไปผลิตโรงไฟฟ้าชีวมวล จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ บริษัท บุรีรัมย์พลังงาน จำกัด (BEC) บริษัท บุรีรัมย์เพาเวอร์ จำกัด (BPC) และบุรีรัมย์เพาเวอร์พลัส จำกัด (BPP) มีกำลังการผลิต โรงละ 9.9 เมกะวัตต์ (MW) เท่าๆ กัน ซึ่งผลิตเพื่อขายทั้งหมด ส่วนกากน้ำตาล (โมลาส) ขายให้โรงงานผลิตเหล้า

สำหรับ ฟิลเตอร์เค้ก หรือขี้เถ้าน้ำตาล นำไปทำปุ๋ยเคมีอินทรีย์ในนามโรงงานปุ๋ยตรากุญแจ มีปริมาณการผลิต 40,000 ตัน/ปี จำหน่ายให้ชาวไร่อ้อยของกลุ่มในราคาถูก และปีนี้มีแผนลงทุน 393.75 ล้านบาท เพื่อผลิตน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ (refined sugar) กำลังผลิต 1,200 ตัน/วัน คาดว่าจะติดตั้งเครื่องจักรได้เสร็จทันในฤดูการผลิต ปี 2561/2562 รวมทั้งมีแผนลงทุนเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และประหยัดพลังงานในการผลิตอีก 185.72 ล้านบาท

ต่อยอดบรรจุภัณฑ์-อุปกรณ์แพทย์

ขณะเดียวกันเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา บริษัทได้จดทะเบียนจัดตั้ง “บริษัท ชูการ์เคน อีโคแวร์ จำกัด” ขึ้น เพื่อผลิตสินค้าเกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์ด้านอุปโภคและบริโภค อุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องใช้ที่ทำจากชานอ้อยและวัสดุธรรมชาติอื่นๆ เช่น จาน ชาม จากชานอ้อย ตามแผนจะเริ่มการก่อสร้างโรงงานเฟสแรก มูลค่า 300 ล้านบาท กำลังการผลิต 800,000-1,000,000 ชิ้น/วัน คาดว่าจะเริ่มผลิตจำหน่ายได้ต้นปี 2562 วางแผนตลาดเป้าหมายทั้งภายในประเทศและส่งออก

นอกจากนี้ กลุ่มน้ำตาลบุรีรัมย์ ได้จับมือกับพันธมิตรโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง เพื่อร่วมกันผลิตอุปกรณ์การแพทย์ที่ใช้ในโรงพยาบาล ซึ่งทำจากวัตถุดิบชานอ้อย เช่น โถปัสสาวะ และถาดรองสิ่งปฏิกูล สำหรับใช้ในโรงพยาบาล และธุรกิจบริการทางสุขภาพ เพื่อให้สามารถจัดการได้ง่าย แทนที่จะใช้แบบสเตนเลสที่จำเป็นต้องล้างใช้ใหม่ ทำให้เกิดความยุ่งยากในการจัดการ คาดว่าจะจัดจำหน่ายได้ในกลางปีนี้ ซึ่งนับเป็นการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่แล้วทำให้เกิดกำไรสูงสุด

ผุด 2 โรงงานใหม่ บุรีรัมย์-สุรินทร์

เพื่อรองรับความต้องการใช้น้ำตาลที่มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทางกลุ่มน้ำตาลบุรีรัมย์ได้ขอใบอนุญาตจัดตั้งโรงงานน้ำตาลใหม่ จำนวน 2 แห่ง กำลังผลิตแห่งละ 20,000 ตันอ้อย มูลค่าลงทุนแห่งละประมาณ 4,000 ล้านบาท โดยจะเริ่มลงมือโรงงานแรกที่อำเภอชำนิ จังหวัดบุรีรัมย์ก่อน ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จและเริ่มผลิตได้ใน ปี 2563-2564 และที่จังหวัดสุรินทร์ จะเริ่มก่อสร้างหลังจากทำโรงงานที่ อ.ชำนิ แล้วเสร็จ เมื่อโรงงานแห่งใหม่แล้วเสร็จทั้งหมดภายใน 5 ปี กลุ่มน้ำตาลบุรีรัมย์จะมีกำลังผลิตรวมประมาณ 70,000 ตันอ้อย

ปัญหาการเปิดเสรี-การคำนวณราคาอ้อย

สำหรับปัญหาเรื่องการเปิดเสรีในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลนั้น ทุกอย่างคงจะคลี่คลายในเร็วๆ นี้ โดยที่ผ่านมาการใช้ตัวเลขราคาน้ำตาลหน้าโรงงานอาจจะหยิบยกกันคนละตัว ซึ่งต้องทำความเข้าใจให้ตรงกัน แต่ไม่น่าจะมีปัญหาอะไรมาก ตอนนี้ทางสำนักงานอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) กำลังดำเนินการ คงจะได้ข้อสรุปในเร็วๆ นี้ อย่างไรก็ตาม นโยบายการเปิดเสรีตอนนี้ คิดว่าเสรีแล้ว และการคำนวณราคาอ้อยที่จะแบ่งปันผลประโยชน์ควรจะไปในทิศทางเดียวกัน

“ผมเชื่อว่าอุตสาหกรรมเกษตรทุกชนิด ถ้าเกษตรกรไม่เข้มแข็ง ตัวโรงงานไปไม่ได้อยู่ดี แล้วแต่มุมมอง ถ้าอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลเปิดเสรีเลย โรงงานซื้ออ้อยเท่าไรก็ได้ ของเยอะก็ซื้อต่ำ ของน้อยก็ซื้อแพง แข่งขันเหมือนพืชเกษตรทั่วไป แต่ถามว่ายุติธรรมสำหรับเกษตรกรหรือไม่ ผมว่าไม่แฟร์ แต่สิ่งที่ธุรกิจอ้อยและน้ำตาลดำเนินการภายใต้ระบบ 70 : 30 ที่ทำอยู่ทุกวันนี้ ผมถือว่าแฟร์ ถ้าระยะยาว ความยุติธรรม โดยทุกฝ่ายทั้งชาวไร่อ้อยและโรงงานสามารถเดินไปด้วยกันได้ ผมว่าจะทำให้ธุรกิจมีเสถียรภาพมากกว่า”

 

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์