สสก.เขต 1 เตือนเกษตรกร เฝ้าระวังเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล

นายไพศาล สังข์มงคล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 1 จังหวัดชัยนาท กล่าวว่า ในพื้นที่ที่มีการปลูกข้าวอย่างต่อเนื่อง เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล นับเป็นแมลงศัตรูพืชสำคัญที่สร้างความเสียหายให้กับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวมาโดยตลอด เนื่องจากเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล เป็นแมลงปากดูด ขนาดเล็ก ลำตัวมีสีน้ำตาลจนถึงสีน้ำตาลปนดำแบ่งออกเป็นชนิดปีกสั้นและปีกยาว ชนิดปีกยาวสามารถอพยพและเคลื่อนย้ายได้ โดยลักษณะการเข้าทำลายทั้งตัวอ่อนและตัวเต็มวัยจะเข้าทำลายด้วยการดูดกินน้ำเลี้ยงบริเวณโคนต้นข้าวเหนือผิวน้ำ ทำให้ต้นข้าวแสดงอาการใบเหลือง เติบโตช้า ฉะนั้น ถ้าปล่อยให้เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลระบาดและเข้าทำลายต้นข้าวรุนแรง ต้นข้าวจะแสดงอาการไหม้แห้งคล้ายถูกน้ำร้อนลวก ทำให้ข้าวแห้งตาย

ทั้งนี้ เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล สามารถทำลายข้าวได้ทุกระยะการเติบโตและสามารถพัฒนาและปรับตัวให้เหมาะกับสภาพแวดล้อมและอาหาร เช่น เมื่อมีอาหารมากจะพัฒนาตัวเองเป็นชนิดปีกสั้นและขยายพันธุ์ได้มาก แต่เมื่ออาหารมีน้อยจะพัฒนาตัวเองเป็นชนิดปีกยาวเพื่ออพยพไปยังแหล่งอาหารอื่นๆ ต่อไป สำหรับแนวทางการป้องกันกำจัดเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลเพื่อลดปริมาณและความเสียหายที่จะเกิดขึ้นในข้าว เกษตรกรสามารถทำได้โดย

  1. เลือกปลูกข้าวที่มีการปรับปรุงพันธุ์ให้ต้านทานต่อเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล เช่น กข 41 กข 49 เป็นต้น ควรเฝ้าระวังอย่างเคร่งครัดหากปลูกปลูกข้าวพันธุ์อ่อนแอต่อเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล เช่น พันธุ์ปทุมธานี 1 ชัยนาท 1 เป็นต้น และไม่ควรปลูกข้าวพันธุ์เดียวติดต่อกันเกิน 4 ฤดูปลูก ควรปลูกสลับกันระหว่างพันธุ์
  2.  ไม่ควรปลูกข้าวแน่นเกินไป สำหรับนาหว่าน ใช้ประมาณ 15 กิโลกรัม ต่อไร่ หรือปลูกแบบนาดำ เพื่อให้ต้นข้าวแข็งแรง และการปลูกข้าวแน่นจนเกินไปทำให้สภาพแวดล้อมในแปลงเหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล และทำลายต้นข้าวได้อย่างต่อเนื่อง
  3.  ในแหล่งที่มีการระบาดและควบคุมระดับน้ำในนาได้ ปล่อยน้ำท่วมขังเหนือลำต้นข้าว จะช่วยควบคุมเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลได้ เพราะวิถีของเพลี้ยจะดูดกินน้ำเลี้ยงบริเวณโคนต้นข้าว
  4.  ไม่ควรใส่ปุ๋ยไนโตรเจนหรือยูเรียมากจนเกินไป เนื่องจากการใส่ปุ๋ยมากจะทำให้ต้นข้าวใบเขียว ลำต้นอวบน้ำ แตกกอหนาแน่น เหมาะสมต่อการเข้าทำลายและขยายพันธุ์ของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล
  5.  ในเวลากลางคืนใช้กับดักแสงไฟดักจับเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล หรือเปิดไฟเพื่อล่อให้เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลบินมาเล่นไฟ แล้วใช้ถุงตาข่ายหรือสวิงดักจับและนำไปทำลาย
  6.  ใช้เชื้อราบิวเวอเรีย อัตรา 1 กิโลกรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร ต่อพื้นที่ 1 ไร่ ควรฉีดพ่นในช่วงเวลาเย็น เพื่อหลีกเลี่ยงแสงแดดและฉีดพ่นสม่ำเสมอทุก 15 วัน
  7. ใช้สารเคมีในการกำจัดเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลในกรณีพบการระบาดอย่างรุนแรง ควรปฏิบัติตามคำแนะนำในการใช้สารเคมีอย่างเคร่งครัด

ในส่วนของชนิดสารเคมีที่แนะนำให้ใช้ในการกำจัดเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ประกอบด้วย ข้าวระยะกล้าถึงแตกกอ (อายุ 30-45 วัน) แนะนำให้ใช้สารจำพวก บูโพรเฟซิน ข้าวระยะแตกกอเต็มที่ให้ใช้สารเคมี เช่น อีโทเฟนพร็อกซ์ คาร์โบซัลเฟน ฟีโนบูคาร์บ ไฮโซโปรคาร์บ และข้าวระยะตั้งท้องถึงออกรวง ควรใช้สารเคมี เช่น ไดโนทีฟูแรน ไทอะมิโทแซม โคลไทอะนิดิน อิมิดาโคลพริด อัตราการใช้ตามฉลากบรรจุภัณฑ์ เพื่อการควบคุมการระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลให้เกิดผล เกษตรกรควรฉีดพ่นสารเคมีบริเวณโคนต้น ซึ่งเป็นแหล่งอาศัยของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล เพราะการฉีดพ่นบริเวณใบข้าวหรือปลายใบ สารเคมีจะไม่สัมผัสโดนตัวของแมลง หากพบการระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลควรแจ้งอาสาสมัครเกษตรหมู่บ้าน หรือเจ้าหน้าที่เกษตรประจำตำบลเพื่อที่จะได้ช่วยหาทางแก้ปัญหาได้อย่างทันท่วงที