เกลืออุตสาหกรรม ริมทาง ที่บ้านดุง

ปลายปีที่แล้ว ผมเผอิญได้ปั่นจักรยานทัวร์ริ่งทางไกลกับเพื่อนสี่ห้าคน จากนครราชสีมาไปหนองคาย ช่วงท้ายๆ พวกเราต้องค้างคืนที่อำเภอบ้านดุง อุดรธานี คืนหนึ่ง ที่บ้านดุงนี้ ผมเคยไปดูแหล่งทำเกลือต้ม – เกลือตาก แบบสมัยใหม่ ที่เขตบ้านทุ่งมาแล้วเมื่อราวสองปีที่ผ่านมาครับ แต่คราวนี้ที่พักเราอยู่ริมถนนสาย 2096 ซึ่งก็มีแหล่งทำเกลืออีกเช่นเดียวกัน

แน่นอนว่าเราก็ต้องปั่นไปแวะดูกันหน่อย ก่อนจะเดินทางต่อ

แม้มีเวลาแค่ช่วงสั้นๆ แต่มันก็ทำให้เห็นว่า การแวะเที่ยวแบบเข้าถึงแหล่ง เข้าใจรายละเอียดผ่านปากคำเจ้าของพื้นที่นั้น สามารถทำได้จริงๆ และก็เต็มไปด้วยอารมณ์ของมิตรภาพด้วย

นาเกลือริมทางที่เราแวะ เป็นนาที่ทำเกลือสินเธาว์แบบอุตสาหกรรมครับ คือค่อนข้างเป็น mass product แบบเอาปริมาณมาก ไม่เน้นคุณภาพเหมือนหลายแหล่งที่เคยไปดู เขาทำโดยสูบน้ำเกลือที่ระดับความลึก 70 เมตร จากผิวดิน โดยใช้เครื่องอัดลมอัดน้ำหล่อโดมเกลือดูดเป็นน้ำเกลือขึ้นมาตากบนแปลงนาเกลือ นาน 13 วัน จนแห้งหมาดๆ จากนั้นโกยใส่ถุง ขายผู้มารับซื้อในราคา ตันละ 1,000 บาท

เกลือสินเธาว์อุตสาหกรรมแบบนี้ไม่นำมาบริโภค แต่ใช้กันในโรงงานทำโซดาไฟ โรงน้ำแข็ง โรงทำแก้ว เส้นใยไนล่อน คลอรีน โพลีเมอร์ ยางสังเคราะห์ สบู่ ผงซักฟอก และอื่นๆ อีกมาก

พี่ชายเจ้าของนาเล่าให้ฟังว่า นาเกลือบ้านดุงของพวกเขานี้ จะเริ่มทำได้ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนไปจนถึงเดือนเมษายน คือช่วงแล้งฝนจนฝนมาอีกครั้ง ถ้าโชคดี อากาศแห้งจริงๆ ก็จำทำซ้ำได้ 7-10 ครั้ง ให้ผลผลิตต่อไร่ถึงกว่า 100 ตัน นั่นหมายถึงทำรายได้สูงถึงแสนกว่าบาทต่อไร่เลยทีเดียว ทั้งยังมีขั้นตอนการจ้างงานแรงงานในหมู่บ้าน  คิดราคาเก็บเกลือใส่กระสอบ เป็นเงิน 6 บาท ต่อกระสอบ ด้วย

พี่เขาเล่าว่า เลยมีเด็กนักเรียนชั้นมัธยมปลายในอำเภอบ้านดุงมารับจ้างเก็บ บรรทุก ย้ายกระสอบเกลือฝนช่วงเกลือแห้ง ได้รายได้เสริมวันละไม่น้อยกว่า 1,000 บาททีเดียว

………………

“สามสิบปีที่แล้วไม่มีหรอกครับแบบนี้ จะเป็นแบบเกลือต้ม ใช้บ่อโยก แบบทำกันในครอบครัวน่ะ บ้านละเตาสองเตา แต่ก่อนใช้ไม้ฟืน พอพวกป่าไม้มาจับ ก็เปลี่ยนไปใช้แกลบ ไปเอาจากโรงสีมาฟรีๆ เลยนะ ต่อมาเขาขายกิโลละบาทกว่าๆ หลังมีโรงไฟฟ้า ของก็เริ่มขาดแคลน เราต้องเปลี่ยนมาใช้ไม้ยูคา หรือยางพาราที่หมดอายุแทน” พี่ชายเจ้าของนาเล่า

ผมลองถามเรื่องดินยุบ เพราะได้ข่าวลือๆ มาก่อนบ้าง พี่เขาก็ว่า

“ก็มีนะ สูบๆ ไปนี่มียุบ บางทีลึกตั้ง 3 เมตรแน่ะ เสียงดังน่ากลัวเลย แถวบ้านม่วงนั่นยุบลงไปเป็นไร่ๆ ก็มี มันเป็นเพราะไม่มีแหล่งน้ำแทนที่คอยหนุนน้ำเกลือที่ถูกสูบขึ้นมาไง ถามว่าจะมียุบอีกมั้ย มันก็มีแนวโน้มนะว่าจะเกิดอีกในอนาคตน่ะ”

จากนั้น พี่เขาบอกให้พวกเราลองปั่นเข้าไปดูหมู่บ้านด้านใน ซึ่งมีต้มเกลือกันด้วย ปรากฏว่ามีต้มกันจริงๆ แบบที่ผมเคยเห็นที่บ้านทุ่ง คือตั้งเตาในโรงเรือนหลังคาสูง ใช้ระบบสูบน้ำขึ้นมาพักให้เข้มข้น ต้มจนแห้งในกระทะเหล็กต่อเชื่อมเป็นทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดใหญ่ แต่สังเกตดูจำนวนเตาที่ทำกันก็ไม่หนาแน่นเท่าที่บ้านทุ่งนะครับ

.……………..

วิธีทำเกลือสินเธาว์อีสานแบบโบราณ คือต้มน้ำละลายดินเอียด (ดินเกลือสีขาวที่ขูดจากหน้าดินเค็ม) กรองด้วยฟางและหญ้าจนใสสะอาด กระทั่งแห้งระเหิดเป็นเกลือบริสุทธิ์รสชาติดีมากๆ นั้น ปัจจุบันเหลือน้อยเต็มที คงเพราะเนื่องจากแรงงานและเวลาที่ใช้ไปไม่คุ้มกับปริมาณเกลือที่ได้มา ไหนยังจะเรื่องคุณภาพลิ้นของผู้บริโภค ซึ่งทุกวันนี้คนกินต่างมีลิ้นชาด้านจนแทบแยกแยะรสเกลือดีเกลือเลวไม่ออกกันอยู่แล้ว

เกลือสินเธาว์ที่ขายกันในท้องตลาดปัจจุบันมาจากทั้งของโรงงานใหญ่ๆ อย่างโรงเกลือพิมาย นครราชสีมา ซึ่งใช้วิธีอัดน้ำด้วยแรงดันสูงลงไปละลายโดมเกลือใต้ดินลึก ร่วม 100 เมตร แล้วจึงสูบขึ้นมาตากแบบนาเกลือทะเล ทั้งจากโรงเรือนย่อยๆ ที่สูบน้ำเกลือขึ้นมาต้มหรือตาก แบบที่บ้านดุง ซึ่งแน่นอนว่า เมื่อทำในพื้นที่กว้าง ก็มีความสุ่มเสี่ยงต่อผลกระทบสิ่งแวดล้อม ดังที่เคยเกิดปัญหาที่อำเภอบรบือ มหาสารคาม มาตั้งแต่ พ.ศ. 2514 ทำให้พื้นที่ต้นลำน้ำเสียวต่อลำน้ำมูลในเวลานั้นเกิดมลภาวะอย่างหนัก เกิดการลุกฮือประท้วงของกลุ่มชาวบ้านในหลายพื้นที่ จนรัฐบาลต้องสั่งปิดกิจการทั้งหมดในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2523 มันเลยส่งผลให้การผลิตเกลือสินเธาว์แบบสูบน้ำนี้เริ่มกระจายตัวออกไปทำลายสภาพแวดล้อม ณ แหล่งอื่นๆ อีก เช่น ที่อำเภอกันทรวิชัย มหาสารคาม, อำเภอจัตุรัส ชัยภูมิ, อำเภอบ้านม่วง – วานรนิวาส สกลนคร และที่บ้านดุงแห่งนี้

การต่อรอง ปรับตัว พัฒนาวิธีการผลิต ตลอดจนการเข้ามีส่วนร่วมของท้องถิ่นต่อกิจกรรมที่ทั้งส่งผลกระทบและทั้งเพิ่มสัดส่วนการจ้างงานอย่างนาเกลือสินเธาว์อีสานนี้ คงเป็นเรื่องยาวซึ่งยังต้องดำเนินการแก้ไขกันต่อไป ตราบใดที่ความเค็มของเกลือเป็นสิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้ในโลกอุตสาหกรรมสมัยใหม่

และแน่นอนว่า ควรเป็นไปด้วยความยุติธรรมต่อทุกภาคส่วนเสมอกันครับ