อธิบดีกรมชลฯ เปิดงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิต ประเดิมฤดูกาลผลิตใหม่ ศรีสะเกษ

เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เป็นประธานเปิดงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตเพื่อเริ่มต้นฤดูกาลผลิตใหม่ (Field Day) จังหวัดศรีสะเกษ ปี 2561 พร้อมด้วย นายธงชัย เจริญพานิชย์กุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ ผู้แทนส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เกษตรกรและชาวบ้านในพื้นที่เข้าร่วมงาน ที่ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) อำเภอห้วยทับทัน จังหวัดศรีสะเกษ

ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้สร้างกลไกการถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีต่างๆ สู่เกษตรกรผ่านศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า “ศพก.” โดยหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนได้ร่วมกันนำองค์ความรู้และเทคโนโลยีสมัยใหม่มาผสมผสานกับภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยมีการปรับปรุงกระบวนการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับสินค้าหลัก และเหมาะสมกับศักยภาพของพื้นที่ เพื่อถ่ายทอดสู่เกษตรกร ให้เกิดองค์ความรู้ที่สามารถนำไปปฏิบัติได้จริงในการประกอบอาชีพ

โดยมีเป้าหมายสำคัญ 2 ระดับ คือ การทำให้กลุ่มเป้าหมายรับรู้ถึงข้อมูลที่ต้องการเผยแพร่ และการทำให้กลุ่มเป้าหมาย นำข้อมูลไปใช้และสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้สอดคล้องกับความรู้ที่ได้รับ ดังนั้น ผู้ถ่ายทอดความรู้จึงต้องพิจารณาถึงกลุ่มเป้าหมาย ความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย วิธีการและกลไกการถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีต่างๆ ในช่วงเวลาที่เหมาะสมในการถ่ายทอด เพื่อให้การถ่ายทอดความรู้บรรลุผลสูงสุด

ปัจจุบันสภาพภูมิอากาศและสถานการณ์น้ำมีความแปรปรวน อีกทั้งในตลาดโลกมีการแข่งขันด้านราคาสินค้าเกษตรที่รุนแรง รวมถึงกลไกการค้า ที่มุ่งเน้นคุณภาพ และการตรวจสอบคุณภาพสินค้าเกษตร ตั้งแต่การผลิตที่ต้นทางและการบริโภคที่ปลายทาง ดังนั้น พี่น้องเกษตรกรจึงจำเป็นต้องมีข้อมูลและความรู้ในการปรับตัวให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ได้แก่ การบริหารจัดการน้ำ เพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ การเพาะปลูกตามความเหมาะสมของดิน และการปรับปรุงบำรุงดิน เพื่อให้เกษตรกรได้ผลผลิตที่มีคุณภาพสูงสุด การลดต้นทุนตลอดกระบวนการผลิต เพื่อให้เกษตรกรสามารถแข่งขัน ด้านราคาได้ดีขึ้น การเพิ่มผลผลิต/การพัฒนามาตรฐานการผลิต การเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรด้วยการแปรรูป การเพิ่มมูลค่าให้กับที่ดินของตน และการลดการพึ่งพากลไกราคาด้วยการทำไร่เกษตรทฤษฎีใหม่/ไร่นาสวนผสม โดยยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

สำหรับในพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ มีศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) ในพื้นที่ 22 อำเภอ 204 ตำบล รวมทั้งสิ้น 351 ศูนย์ โดยมี ศพก.หลัก จำนวน 22 ศูนย์ / ศพก.เครือข่าย จำนวน 329 ศูนย์ ไว้คอยบริการด้านการเกษตรแก่เกษตรกร กลุ่มองค์กรเกษตรกร และประชาชนในพื้นที่