ผู้ส่งออกยอมจ่ายเพิ่ม 500 บ. ซื้อข้าวนิ่ม หวังจูงใจชาวนาเพาะปลูกแทนข้าวเจ้า ชี้ตลาดโลกสดใสหอมมะลิถึง 1,300 ดอลล์

ผู้ส่งออกข้าว เดินเกมชิงตลาดโลก ประกาศรับซื้อข้าวขาวพื้นนิ่มนำตลาด 500 บาท/ตัน หวังกระตุ้นชาวนาหันมาเพาะปลูกแทนข้าวขาวแบบเดิม ชี้ผู้บริโภคทั่วโลกนิยม มองส่งออกครึ่งหลังยังสดใสทะลุ 10 ล้านตัน ราคาข้าวขยับได้อีก หอมมะลิอาจทุบสถิติถึง 1,300 ดอลล์/ตัน

ร.ต.ท. เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เปิดเผยว่า ตลาดส่งออกข้าวไทยครึ่งหลัง ปี 2561 แนวโน้มยังดีต่อเนื่อง จากความต้องการนำเข้าของประเทศต่างๆ มีอยู่มาก เช่น ล่าสุดฟิลิปปินส์นำเข้า 4 แสนตัน อินโดนีเซีย เตรียมประมูลเร็วๆ นี้ ตลาดข้าวนึ่งกลับมาอีกครั้ง รวมถึงข้าวหอมมะลิราคาสูงถึง 1,250 เหรียญสหรัฐ ถือว่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ คิดเป็นราคาข้าวเปลือกสูงถึงตันละ 17,000-18,000 บาท ซึ่งมีแนวโน้มราคาสูงต่อถึง 1,300 เหรียญสหรัฐในระยะสั้นๆ เพราะช่วง 2-3 เดือนจากนี้ปริมาณข้าวมีน้อย บางประเทศประสบภัยแล้ง แต่ความต้องการนำเข้าทั่วโลกยังสูง จึงเชื่อว่าทั้งปี 2561 ไทยจะส่งออกได้ตามเป้าเกิน 10 ล้านตัน แน่นอน จากช่วง 5 เดือนแรกปีนี้ส่งออกข้าวแล้ว 4.21 ตัน เพิ่มขึ้น 6.2% เทียบช่วงเดียวปีก่อน โดยเป็นอันดับสองของโลก รองจากอินเดียส่งออกได้ 4.77 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้น 4.6% ตามด้วยเวียดนาม 2.52 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 16% ปากีสถาน 1.52 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 26%

ทั้งนี้ ในปีนี้สมาคมจะครบรอบ 100 ปี ก็จะเน้นส่งเสริมให้ชาวนาพัฒนาข้าวขาวพื้นนิ่ม เพื่อไม่ให้เสียเปรียบพม่าและเวียดนาม ที่มีการผลิตและส่งออกเป็นข้าวขาวพื้นนิ่ม โดยเฉพาะตลาดหลักคือ จีน นำเข้าถึงปีละ 7-8 ล้านตัน แต่ไทยไม่อาจตอบสนองได้เพราะไม่มีการปลูกอย่างจริงจัง ดังนั้น สมาคมร่วมกับกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จัดทำโครงการพลังประชารัฐพัฒนาข้าวไทย โดยเดือนมิถุนายนจะร่วมกันสำรวจพื้นที่ 8 จังหวัดในภาคกลาง อาทิ สุพรรณบุรี ราชบุรี นครปฐม เป็นต้น เพื่อส่งเสริมให้เป็นจังหวัดนำร่องในการปลูกข้าวนาปรัง 2561 ที่เป็นพันธุ์ข้าวขาวพื้นนิ่ม เช่น พันธุ์พิษณุโลก 80 พันธุ์ กข 21 พันธุ์ กข 71 และพันธุ์ กข 77 เบื้องต้นหารือกลุ่มเกษตรกรแล้วหมื่นไร่ คาดว่าปีแรกนี้จะได้ผลผลิตข้าวเปลือก 10,000 ตัน หรือข้าวสาร ประมาณ 20,000 ตัน

“สมาคมจะรับซื้อผลผลิตทั้งหมดและซื้อในราคานำตลาดตันละ 500 บาทสูงกว่าข้าวเจ้าทั่วไป ส่วนราคารับซื้อนั้นน่าจะเกิน 9,000 บาท/ตัน เพราะราคาส่งออกสูงกว่าข้าวขาวพื้นแข็งตันละ 60-150 เหรียญสหรัฐ เช่น ขณะนี้ข้าวขาว 5% ราคาตันละ 460 เหรียญสหรัฐ แต่เวียดนามส่งออกข้าวขาวพื้นนิ่ม ตันละ 500-600 เหรียญสหรัฐ ตามชนิดพันธุ์ข้าว และเมื่อข้าวพื้นนิ่มราคาดีขึ้นก็จะดึงราคาข้าวพื้นแข็งขึ้นตามด้วย โดยเป็นการปรับตัวให้สอดรับกับอนาคตค้าข้าว ให้แข่งขันได้ เมื่อไม่สต๊อกข้าวเก่าจากนี้ส่งออกจะเหลือ 9 ล้านตัน ไม่ถึง 10 ล้านตัน อีกทั้งคู่แข่งปรับตัวรับความต้องการผู้ซื้อ เช่น เวียดนาม พม่า หันปลูกข้าวพื้นนิ่มเป็นหลักเพราะตลาดโลกนิยม ต่อไปก็กัมพูชา ดังนั้น รัฐและเอกชนต้องร่วมมือกันใช้การตลาดนำการผลิตโดยไม่กระทบตลาดข้าวหอมมะลิเพราะเป็นข้าวพรีเมียม” ร.ต.ท. เจริญ กล่าว

ร.ต.ท. เจริญ กล่าวว่า ราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น กระทบเพียงเล็กน้อยและยังไม่จำเป็นต้องปรับราคา เพราะเชื่อว่าราคาจะสูงระยะสั้นเท่านั้น ตอนนี้ราคาเริ่มลดลงแล้ว แต่ห่วงค่าเงินบาทแข็งค่าและผันผวนไม่มีเสถียรภาพ จะเป็นปัจจัยกระทบต่อการส่งออกข้าวของไทยมากกว่า เพราะบาทแข็งทำให้ราคาข้าวไทยสูงขึ้นจนแข่งขันได้ยาก ซึ่งค่าเงินบาทที่เหมาะสมขณะนี้ไม่ควรเกิน 33 บาท ต่อเหรียญสหรัฐ ซึ่งขณะนี้ค่าเงินบาทอยู่ 31.75 บาท ต่อเหรียญสหรัฐ

ที่มา : ขอบคุณข้อมูลจากมติชนรายวัน