กรมส่งเสริมการเกษตร จับมือ ม.แม่โจ้ สร้างนวัตกรรมการตัดช่อผล เพื่อผลผลิตลำไยเป็น เกรด AA

คุณนเรศ ฝีปากเพราะ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 6 จังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า คณะอนุกรรมการป้องกันแก้ไขปัญหาผลไม้ภาคเหนือ ได้ประมาณการผลผลิตลำไยในฤดู 8 จังหวัดภาคเหนือ ปี 2561 มีพื้นที่ที่ให้ผลผลิต 637,127 ไร่ และคาดการณ์ผลผลิต จำนวน 386,303 ตัน มากกว่าผลผลิตลำไยในฤดู ปี 2560 ประมาณ ร้อยละ 2.28 ซึ่งผลผลิตออกสู่ตลาดมากในช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม ประมาณ 329,254 ตัน หรือประมาณ ร้อยละ 85.23 และที่สำคัญสาธารณรัฐอินโดนีเซียมีการงดนำเข้าลำไยสดในช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม ทำให้เกิดผลกระทบต่อปริมาณผลผลิตสดลำไยที่ไม่สามารถนำเข้าได้ ประมาณ 28,000 ตัน

ทางคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ (Fruit board) จึงได้ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดำเนินการโครงการรณรงค์การผลิตลำไยคุณภาพ ให้ผลผลิตลำไยเป็น เกรด AA เพื่อกระตุ้นการบริโภคสดภายในประเทศและลดการพึ่งพาตลาดอินโดนีเซีย โดยใน ปี 2561 นี้ กรมส่งเสริมการเกษตร ได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ดำเนินการถ่ายทอดเทคโนโลยีการตัดช่อผล เพื่อผลิตลำไยเป็น เกรด AA ให้แก่ Core Team และนำไปขยายผลสู่เกษตรกร โดยผ่านศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้า (ศพก.) และการส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ เป้าหมาย จำนวน 6,543 ราย พื้นที่ 44,790 ไร่

ผศ. พาวิน มะโนชัย สาขาไม้ผล ภาควิชาพืชสวน คณะผลิตกรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้กล่าวว่า ทางรอดของเกษตรกรชาวสวนลำไย จำเป็นต้องทำในเรื่องของการลดต้นทุนการผลิต การปรับปรุงผลผลิตให้ได้คุณภาพ เน้นความปลอดภัยของผลผลิต เพิ่มผลผลิตต่อหน่วยพื้นที่ให้สูง เลือกช่วงการผลิตให้เหมาะสม สร้างเครือข่ายการผลิตและการตลาด จากการศึกษาทดลองของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ พบว่า คุณภาพของลำไยไม่ได้ขึ้นอยู่กับปัจจัยใดปัจจัยหนึ่งเพียงอย่างเดียว แต่ขึ้นอยู่กับหลายๆ ปัจจัย ได้แก่ พันธุ์ลำไย ความสมบูรณ์ของต้น สภาพแวดล้อม การเข้าทำลายของโรคและแมลง การปฏิบัติดูแลรักษา บ่อยครั้งที่เกษตรกรมักพบอยู่เสมอว่าผลผลิตลำไยด้อยคุณภาพ คือมีผลขนาดเล็ก เนื้อแฉะน้ำ ทั้งๆ ที่ต้นลำไยสมบูรณ์และได้รับการปฏิบัติดูแลรักษา เช่น ให้น้ำ ให้ปุ๋ย ป้องกันโรคและแมลงอย่างสม่ำเสมอ แต่ก็ยังมีผลขนาดเล็ก สาเหตุหลักเนื่องมาจากต้นลำไยติดผลดก จึงทำให้เกิดการแก่งแย่งอาหารที่ใบสร้างขึ้น จนไม่เพียงพอที่จะนำไปสร้างผลที่มีคุณภาพ

การตัดช่อผล ใช้กรรไกรตัดปลายช่อผลประมาณครึ่งหนึ่งของความยาวช่อ หรือไว้ผลไม่เกิน 50 ผล ต่อช่อ

แนวทางในการปฏิบัติที่ได้ผลดีและมีการทดลองในหลายๆ พื้นที่ พบว่า มี 2 วิธี ที่ได้ผลแน่นอนในการทำลำไยคุณภาพ เกรด AA คือ

  1. การตัดแต่งกิ่ง รูปทรงของการตัดแต่งกิ่งมีผลต่อคุณภาพของผลผลิต จากการทดลองแต่งกิ่งลำไย 4 ทรง คือ ทรงฝาชีหงาย ทรงเปิดกลางพุ่ม ทรงสี่เหลี่ยม และทรงครึ่งวงกลม พบว่า ทรงฝาชีหงาย ให้ผลผลิตที่มีคุณภาพดีกว่าทรงอื่นๆ ทั้งนี้ อาจเป็นเพราะมีจำนวนกิ่งต่อต้นน้อย และผลผลิตส่วนหนึ่งของทรงฝาชีหงายเกิดจากกิ่งกระโดงที่สมบูรณ์ เมื่อผลแก่ช่อผลจะโน้มหลบในทรงพุ่ม ทำให้ผลมีขนาดใหญ่และสีผิวเหลือง
  2. การปลิดผลและตัดช่อผล การเพิ่มขนาดและคุณภาพของผลลำไยจากต้นที่ติดผลดก ได้ทดลองตัดช่อผลลำไยออกบางส่วน พบว่า สามารถเพิ่มขนาดของผลลำไยได้ โดย
  3. ใช้กรรไกรตัดปลายช่อผล ประมาณครึ่งหนึ่งของความยาวช่อ หรือไว้ผลไม่เกิน 50 ผล ต่อช่อ หรือ
  4. อาจตัดช่อเว้นช่อทิ้งเป็นช่องไฟ ระยะห่าง ประมาณ 25-30 เซนติเมตร หรือ
  5. ใช้วิธีผสมผสานกัน ทั้งตัดช่อผลและตัดช่อเว้นช่อทิ้งเป็นช่องไฟ ก็สามารถเพิ่มขนาดผลได้อย่างชัดเจน และมีรายได้ต่อต้นมากกว่าต้นที่ไม่ตัดช่อ ระยะตัดที่เหมาะสม ควรตัดในระยะที่ผลลำไยมีขนาดไม่เกิน 0.5 เซนติเมตร หรือผลลำไยมีขนาดเท่าเมล็ดถั่วเขียว วิธีตัดช่อถ้าเป็นต้นเล็กใช้กรรไกร ในกรณีที่ต้นสูงควรใช้กรรไกรด้ามยาวตัด ถึงแม้จะเป็นวิธีการที่ยุ่งยาก สิ้นเปลืองแรงงาน แต่เป็นวิธีการที่ได้ผลแน่นอน ในอนาคตถ้ามีการจัดทรงพุ่มลำไยให้ต้นเตี้ย ก็สามารถปฏิบัติง่ายขึ้น ปัญหาที่สำคัญคือ เกษตรกรยังเสียดาย ไม่กล้าตัดช่อผล แต่ที่สวนของ “ป้าลำดวน” อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ ทางมหาวิทยาลัยแม่โจ้ได้ทดลองตัดช่อผล 3 ต้น สามารถขายลำไยได้มากกว่าลำไยที่ปล่อยให้ติดดกตามธรรมชาติ 20 ต้น”
การตัดช่อผล แบบตัดช่อเว้นช่อทิ้งเป็นช่องไฟ ระยะห่างประมาณ 25-30 เซนติเมตร

สำหรับการปรับปรุงสีผิวลำไยให้สวยสีเหลืองทองที่ตลาดต้องการ มีแนวทางดังนี้

  1. ใช้เทคนิคการตัดแต่งกิ่ง หลักการคือ ทำอย่างไร ให้ผลผลิตอยู่ในทรงพุ่มหรือช่อผลหลบเข้าทรงพุ่ม
  2. การห่อผล โดยใช้กระดาษหนังสือพิมพ์ห่อก่อนที่ผลลำไยจะแก่ ประมาณ 1-2 เดือน และต้องป้องกันเชื้อราด้วย พร้อมทั้งผูกมัดกระดาษด้านปลายช่อให้หลวม เพื่ออากาศจะได้ระบาย ลำไยต้นหนึ่งๆ อาจไม่จำเป็นต้องห่อทุกช่อ ช่อผลที่อยู่ในร่มหรือใกล้กับพื้นดินโดยปกติจะมีสีผิวที่สวยอยู่แล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องห่อผล
  3. การป้องกันโรคและแมลง โรคที่สำคัญที่มีผลต่อคุณภาพของผลคือ โรคราดำ สังเกตได้จากมีคราบสีดำเกาะตามผิวผล ซึ่งจะเกิดหลังจากที่มีแมลงพวกเพลี้ยแป้งและเพลี้ยหอยเข้าทำลาย โดยดูดกินน้ำเลี้ยง แล้วถ่ายมูลหวานออกมา ซึ่งเป็นอาหารของพวกเชื้อรา การป้องกันกำจัด จึงควรป้องกันที่ต้นเหตุคือ ป้องกันกำจัดเพลี้ยแป้งและเพลี้ยหอย โดยใช้ปิโตรเลียมออยล์หรือสารคลอไพรีฟอสฉีดพ่น การใช้สารป้องกันกำจัดแมลง ควรพ่นก่อนการเก็บเกี่ยวอย่างน้อย 1 เดือน

เกษตรกรที่สนใจการตัดช่อผล เพื่อให้ได้ลำไยคุณภาพ เกรด AA ช่วงนี้สามารถนำไปปฏิบัติทดลองตัดช่อผล/ตัดช่อแบบเว้นช่องไฟ/ตัดแบบผสมผสาน ในสวนสัก 2-3 ต้น แต่ต้องตัดช่อผลทั้งต้น 30-50% ไม่ต้องเสียดาย แล้วท่านจะพบความเปลี่ยนแปลงระหว่างการตัดช่อผลและต้นที่ปล่อยให้ดกตามธรรมชาติว่า คุณภาพ ขนาด และราคาของลำไยมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน “เกษตรกรต้องตัดช่อผล เพื่อให้ได้ลำไยคุณภาพ เกรด AA” สนใจในรายละเอียด ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมที่ ผศ. พาวิน มะโนชัย โทร. (081) 881-9694, อาจารย์สถาพร ฉิมทอง โทร. (087) 230-4020, สำนักงานเกษตรจังหวัด 8 จังหวัดภาคเหนือ ใกล้บ้านท่าน หรือ น.ส. ศิริลักษณ์ กมล นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 6 จังหวัดเชียงใหม่ โทร. (081) 287-3063