ตำนานนักศึกษาหญิงรุ่นแรกของกรมอาชีวศึกษา ปี 2505 สถาบันแม่โจ้ สมัครสอบแข่งขันกันมากสุด

ประเทศไทย มีการศึกษาด้านการเกษตรมาช้านาน นับร้อยปี เพื่อผลิตบุคลากรออกมาประกอบอาชีพเกษตร สมกับเป็นประเทศเกษตรกรรม

คนรุ่นเก่าที่เคยเรียนมาจากโรงเรียนเกษตรกรรมที่บางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา ผู้มาสมัครเรียนหรือถูกเกณฑ์มาเรียนล้วนเป็นชายฉกรรจ์ ล้วนไร้สุภาพสตรี เพราะความเชื่อว่า ชายนั้นมีความแข็งแรงอดทนกว่าผู้หญิงมากนัก การอยู่อย่างลำบากต้องทนทุกข์ทรมาน กว่าจะเรียนสำเร็จมาประกอบอาชีพส่วนตัวเป็นส่วนใหญ่

จวบจนกรมอาชีวศึกษาสายเกษตรกรรม สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ อยากให้มีการรับนักศึกษาหญิงเข้าเรียนเป็นครั้งแรกบ้าง เพื่อส่งเสริมสตรีให้ทัดเทียมชาย ว่ากันอย่างงั้น

แม้แต่ในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ก็ยังมีนิสิตหญิงเรียนปนกับนิสิตชาย ไม่เห็นมีปัญหาเลย กลับทำให้ความเป็นอยู่ในสถาบันสงบสุข เปลี่ยนนิสัยชายได้อ่อนนุ่ม ไม่มีการทะเลาะวิวาท หรือประพฤติไม่ดีตามภาษาชาย ล้วนผิดกับที่เกิดขึ้นในกรมอาชีวะเกษตรหลายแห่งที่ผ่านมาในอดีต และเป็นการยุติความสงบลงของอารมณ์ชายฉกรรจ์ที่แข็งกร้าวลงได้อย่างชะงัดเลยทีเดียว

จึงมีความเห็นว่าในวงการศึกษาปี 2505 ควรจะส่งเสริมให้มีการรับนักศึกษาหญิงรุ่นแรกที่มีสถาบันการเกษตรที่มีฐานะทัดเทียมกันทั้งหมด 5 แห่ง ได้แก่ วิทยาลัยเกษตรกรรมแม่โจ้ เชียงใหม่ วิทยาลัยเกษตรกรรมบางพระ ชลบุรี วิทยาลัยเกษตรกรรมไสใหญ่ นครศรีธรรมราช วิทยาลัยเกษตรกรรมสุรินทร์ และวิทยาลัยเกษตรกรรม พระนครศรีอยุธยา ล้วนเคยรับนักศึกษาชายมาแล้วทั้งสิ้น

เมื่อหลักสูตรในปี 2505 เป็นหลักสูตรใหม่ เป็นระดับมัธยมศึกษาปีที่ 4 ถึง 6 รวม 3 ปี นักศึกษาหญิงเรียนจบ ม.ศ. 5 ผ่านวิชาสามัญได้ก็สามารถสอบเข้าต่อในระดับมหาวิทยาลัยได้ เปิดโอกาสให้ชายหญิงได้เรียนต่อ ถ้าสอบเทียบ ม.ศ. 5 ไม่ได้ ก็ผ่านมาเรียนระดับชั้น ม.ศ. 6 ต่อ จบแล้วได้วุฒิการศึกษาระดับ ปวช. (ประโยคอาชีวศึกษาแผนกเกษตรกรรม) เพื่อไปสมัครหางานทำได้ทันที!!

โดยปกติแล้ว วิทยาลัยเกษตรกรรม หรือโรงเรียนเกษตรกรรมที่มีฐานะการศึกษาแตกต่างกัน สังกัดกรมอาชีวศึกษา รับนักศึกษาชายมาเรียนเท่านั้น เพราะมองว่านักศึกษาที่มาเรียน สะดวกทั้งที่พัก อาหาร การปฏิบัติงาน ความอดทน แข็งแกร่งเหนือกว่านักศึกษาหญิงที่จะเข้ามาเรียน

แต่ทว่า ในปี 2505 กรมอาชีวศึกษาประกาศรับสมัครนักศึกษาหญิงเข้ามาเรียนรุ่นแรก สร้างความเซอร์ไพรส์ในวงการเกษตรอาชีวะ!!

ผู้สันทัดกรณีด้านการศึกษาเกษตร กล่าวว่า “การเรียนวิชาการเกษตรสมัยก่อนเป็นงานหนัก ใช้ความอดทน และความแข็งแกร่งเท่านั้น ถึงจะผ่านวิชาการปฏิบัติ ถ้าหากเป็นนักศึกษาหญิง เกรงว่าจะเรียนไม่จบ เพราะอดทนสู้ชายไม่ได้”

แต่ทว่ามีผู้ให้ความคิดเห็นอีกคนหนึ่ง

“สมัยนี้มีเครื่องจักรเครื่องมือมาทดแทนแรงงานคนมากแล้ว และการมีนักศึกษาหญิงเข้ามาเรียน ทำให้เป็นสหการศึกษาที่ทำให้นักศึกษาชายเรียบร้อยดีขึ้น การสอนก็จะง่ายขึ้น เพราะมีหญิงปนมาเรียนหลายคน”

ซึ่งสร้างความทัดเทียมชาย-หญิงให้เท่ากัน หญิงก็มีความสามารถไม่แพ้ชาย

หลังจากได้มีการรับสมัครสอบทั่วทุกรายภาคในเดือนมีนาคม-เมษายน 2505 ปรากฏว่า วิทยาลัยเกษตรกรรมแม่โจ้ได้รับความสนใจจากนักศึกษาหญิงชายมากที่สุด มาสมัครสอบกันคับคั่งมากกว่าสถาบันอื่น

ถึงเวลาวันสอบวิชาข้อเขียนเข้าสอบในสถาบันแม่โจ้ มีนักศึกษาชายหญิงมาสมัครสอบหลายร้อยคน หลังสอบข้อเขียนเสร็จแล้วทางสถาบันจะได้ประกาศสอบวิชาภาคปฏิบัติในวันต่อมา

ประเพณีการสอบวิชาภาคปฏิบัติ ที่แม่โจ้ยึดถือเป็นนโยบายหลักมาช้านานแล้ว ก็คือ

นักศึกษาชายที่ต้องสอบภาคปฏิบัตินั้น จะต้องเดินหรือวิ่งจากระยะทางจากในเวียง หรือเมืองเชียงใหม่ถึงสถาบันแม่โจ้ ในถนนทางเก่า มีระยะทางประมาณ 17 กิโลเมตร จะวิ่งหรือเดินก็ได้ ต้องอยู่ในกำหนดเวลาที่คณะกรรมการสอบแข่งขันเป็นผู้กำหนด และควบคุมเวลา

แต่สำหรับนักศึกษาหญิงนั้น ให้วิ่งหรือเดินจากระยะเวลาที่กำหนดไว้ คือจากอำเภอสันทราย เดินมาตามถนนถึงแม่โจ้ 7 กิโลเมตร ตามที่กำหนดไว้ ใครเข้าถึงช้ากว่ากำหนดถือว่าสอบไม่ผ่าน

มาถึงตอนนี้ ผู้เขียนได้พบ คุณจิระอาภา หาญสมุทร สาวแม่โจ้ 27 จากสันป่าตอง ที่มีวัยเกิน 70 ปีแล้ว อดีตพนักงาน ธ.ก.ส. (ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร) ได้กล่าวถึงเรื่องราวในอดีตให้ฟังว่า

“สมัยนั้นมาสมัครสอบ ได้ยินชื่อเสียงแม่โจ้มานาน เพราะเป็นคนท้องถิ่น จึงมาสมัครสอบเข้าแม่โจ้เป็นรุ่นแรกของผู้หญิง ช่วงสอบข้อเขียนก็ผ่านไปด้วยดี พอมาสอบภาคปฏิบัติต้องเดินไกล จากอำเภอสันทรายถึงแม่โจ้ ระยะ 7-8 กิโลเมตร เวลากำหนดด้วย ฉันเดินจบเป็นคนสุดท้าย มันเหนื่อย ระหว่างเดินรองเท้ากัดเท้าฉันจนเลือดซิบออกมา พรรคพวกเชียร์ให้สู้ๆ ตะโกนให้ถอดรองเท้าเดิน ฉันน้ำตาไหล สงสารทรมานร่างกาย อดทนเพื่ออนาคต แม้สุขภาพไม่แข็งแกร่ง แต่แม่โจ้ได้เป็นเบ้าหลอมจิตใจฉันจนกล้าแกร่ง” เธอกล่าวด้วยรอยยิ้มทั้งน้ำตาเมื่อนึกถึงอดีตที่ผ่านมา เสริมต่อไปว่า

คุณสมฤทธิ์ อุทัยฉาย

“เมื่อเข้าไปเรียนแล้วไม่ใช่ว่าจะผ่านสบายได้นะ ฉันและเพื่อนต้องทดลองงานอีก 15 วัน จะต้องใช้จอบเป็นอุปกรณ์ถางหญ้า ขุดดิน ถอนหญ้าในนาข้าว ตากแดดและฝนก็ไม่ได้หยุดพัก ร่างกายฉันอ่อนเพลีย ล้า จนจะไปไม่ไหว วันหนึ่งฉันทำงานตามคำสั่งของอาจารย์ในแปลงหญ้าต้องลงน้ำไปดึงและถอนหญ้าจนเป็นลม เพื่อนๆ หามไปส่งห้องพยาบาล เพื่อปฐมเบื้องต้น มีเสียงอาจารย์พูดมาว่า ถ้าไม่ไหวก็ลาออกไปอยู่บ้านเสียดีกว่า ร่างกายไม่แข็งแรงจะเรียนลำบาก ลูกแม่โจ้ต้องอดทน และแข็งแกร่งจึงจะผ่านได้”

“ตั้งแต่วันนั้น ฉันจำเสียงพูดของอาจารย์ตลอด ทำให้ฉันไม่โกรธท่าน กลับมีพลังใจที่เข้มแข็ง ขอบคุณอาจารย์ที่ทำให้ฉันเข้มแข็งและเรียนจบมาทำงาน และมีอนาคตที่ดีเพราะแม่โจ้ บ่มเพาะจิตใจฉันจนออกไปต่อสู้กับโลกภายนอกอย่างองอาจและเข้มแข็ง…ฉันภูมิใจที่ได้เกิดมาเป็นลูกแม่โจ้ ที่สร้างชีวิตใหม่ให้ฉันอย่างสมบูรณ์แบบ ดังชายอกสามศอก ทำงานไม่เคยกลัวลำบาก แก้ปัญหาได้ งานหนักไม่เคยฆ่าคน ฉันไม่เคยย่อท้อต่ออุปสรรคใดๆ ในชีวิต เพราะได้ผ่านสถาบันแม่โจ้ที่พร่ำสอนฉันมา 3 ปีเต็มๆ ฉันเปรียบเสมือนว่า…จิตชายในกายหญิง…” สาวแกร่งของแม่โจ้ รุ่น 27 บอก

ย้อนมาถึงปี 2505 หลังผ่านชีวิตการสอบแข่งขันในสนามสอบผ่านไปแล้ว มีนักศึกษาหญิงกว่า 30 คน ชายอีก 170 คน เข้าเรียนหลักสูตรใหม่ชั้น ม.ศ.4 (มัธยมศึกษาปีที่ 4) เป็นปีแรก ตามลำดับรุ่น 27 รุ่นแรกที่มีการรับนักศึกษาสาวเข้ามาเรียนเป็นสหศึกษา

ทุกคนต้องปฏิบัติตามกฎข้อบังคับการเรียนเช้า ภาคบ่าย ทำงาน ที่อาจารย์ต้องจ่ายงานให้ทำแปลงผัก ขนาด 1×8 เมตร คนละ 10 แปลง มีจอบเป็นอาวุธประจำตัวทั้งชายหญิง

ด้านที่พักนักศึกษาชาย พักหอพักประจำทางวิทยาลัยจัดให้ ส่วนนักศึกษาหญิง ต้องพักบ้านอาจารย์บ้าง เช่าหอพักเอกชนอยู่ใกล้ๆ แม่โจ้ หรือบ้านญาติที่อยู่ใกล้สถาบัน อาหารการกินหาซื้อกินเองสำหรับผู้หญิงที่ไม่มีอุปสรรค

ปีแรกผ่านพ้นไป เป็นธรรมดามีนักศึกษาลาออกไปบ้าง เรียนซ้ำชั้นบ้าง ถูกออกเพราะความประพฤติบ้าง ส่วนหญิงจะอยู่กันเกือบครบกันหมด เพราะเป็นความหวังของหญิงรุ่นแรกของสถาบัน

ปีที่สอง ก็มีการทัศนศึกษา การฝึกงาน และการสอบ เทียบชั้น ม.ศ.5 เพื่อหวังได้วุฒิการศึกษา มีสิทธิ์สอบขึ้นไปเรียนปี 3 หวังจบออกไปหางานทำ

ในขณะที่เรียน ม.ศ.5 ก็มีรุ่นน้องผู้หญิงเข้ามาใหม่ ต้องผ่านประเพณีต้อนรับน้องใหม่อย่างนิ่มนวลด้วยสโลแกนลูกแม่โจ้ ต้องปลูกฝังด้วยค่านิยมของความรัก สามัคคีใจหนึ่งเดียว ปรองดอง มีเพลงสถาบันหลายเพลงต้องฝึกร้องได้ทุกคน เพลงชาติ และศาลแม่โจ้ เป็นสิ่งที่ลูกแม่โจ้เทิดทูนดุจดั่งชีวิต รัฐธรรมนูญการปกครอง ห้ามฉีก กฎระเบียบวางไว้อย่างเข้มแข็ง ห้ามละเมิด มีบทลงโทษถ้าใครทำผิดกติกา

หลังจบหลักสูตร 3 ปี บางรายก็ได้สอบเทียบ ม.ศ.5 ได้ บางรายก็ลาออกไปเรียนต่อ จบ 3 ปีหมดหลักสูตร

ภายหลังบรรดานักศึกษาสาวรุ่นแรกของแม่โจ้ พร้อมเพื่อนชายร่วมรุ่นที่ 27 จบหลักสูตรการศึกษาครบ 3 ปีแล้ว ฝ่ายชายบางคนก็เรียนต่อในสถาบันเดิม ในหลักสูตร “เทคนิคเกษตร” อีก 2 ปี ต้องสอบเข้ามาใหม่ ฝ่ายหญิงมุ่งหางานทำ บางคนก็จะไปเรียนต่ออีก ถ้ามีการรับสมัคร

วุฒิการศึกษาของผู้เรียนจบหลักสูตร 3 ปี หรือ มอ.ศอ 6 หรือเรียกว่า ปวช. (ประโยคอาชีวศึกษา แผนกเกษตรกรรม) ความมุ่งมั่นและมีความพยายามของบรรดาสาวแม่โจ้รุ่นแรกเสมือนเป็นรุ่นทดลองของกรมอาชีวะ ที่ได้รับนักศึกษาเข้ามาเรียนเพื่อต่อยอดการศึกษาต่อไปภาคหน้า ออกมารับใช้สังคม อาชีพเกษตรกรรม…หลายคนไปเรียนจบระดับปริญญาตรีก็มี

ทุกคนกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า เมื่อเวลาผ่านพ้นมาไม่นานต่างนึกถึงบุญคุณสถาบันเกษตรแม่โจ้ ที่ได้สร้างและฝึกนักศึกษาจนเบ้าหลอมเป็นเนื้อเดียวกัน ทั้งความแข็งแกร่ง อดทน มีมานะ รัก สามัคคีกันดี เป็นจุดขายของแม่โจ้จนบรรดานักศึกษาหญิงเข้ามาเรียน 30 คน จบการศึกษา 28 คน

ต่างประสบผลสำเร็จในหน้าที่การงาน และครอบครัวอย่างแท้จริง สามารถถ่ายทอดความรู้ด้านการเกษตรและการปฏิบัติหน้าที่ไม่แพ้ชายอกสามศอก

ขอยกตัวอย่างให้กับผู้ประสบผลงานรายแรก คุณมาลี อุตเจริญ เป็นชาวจังหวัดลำพูน ทำงานที่กรมส่งเสริมการเกษตร จนก้าวมาสู่ตำแหน่งหน้าที่บริหารงานการเกษตรที่ 7 เป็นเกษตรอำเภออยู่หลายอำเภอ หมุนเวียนในจังหวัดลำพูน และเชียงใหม่

รายที่สอง คุณสมฤทธิ์ อุทัยฉาย สาวชาวแพร่ หัวหน้ากลุ่มส่งเสริมและพัฒนาการผลิต สำนักงานเกษตรจังหวัดนนทบุรี เป็นตำแหน่งสุดท้าย

รายที่สาม คุณพวงทอง เชษฐธง เจ้าหน้าที่บริหารงานการเกษตร 7 เกษตรอำเภอเมืองเชียงใหม่ ชาวเชียงใหม่จากอำเภอแม่แตง

ทั้งสามคนที่กล่าวมานั้น ต่างเป็นชาวภาคเหนือ และสนใจการเกษตร จึงสามารถสอบเข้ามาเรียนแม่โจ้ เป็นนักศึกษาหญิงรุ่นแรก รุ่นที่ 27

ทุกปีบรรดาสาวอดีตนักศึกษาเข้าสู่สูงวัยกันแล้ว ต่างท่องเที่ยวพักผ่อนกันไปกับครอบครัว เวลาผ่านพ้นปีใหม่ไม่นาน ก็จะพากันมางานเลี้ยงชุมนุมสังสรรค์รุ่นกันเป็นประจำทุกปีอย่างมีความสุข สนุกสนาน

ทุกคนได้ก้าวสู่ความสำเร็จมาถึงวันนี้ ต่างเป็นหนี้บุญคุณสถาบันแม่โจ้ที่บ่มเพาะเบ้าหลอมพวกเขามาจนแข็งแกร่งจนถึงวันนี้ได้ ต้องต่อสู้เอาชนะอุปสรรคจากคัมภีร์ “งานหนักไม่เคยฆ่าคน”

ปัจจุบัน นักศึกษาสาวรุ่นแรกต่างเกษียณอายุกันหมดแล้ว จากหน่วยงานต่างๆ ในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ ธ.ก.ส. ฯลฯ นี่คืออดีตและตำนานที่พวกเธอสร้างชื่อเสียง

เป็นหญิงแกร่งแห่งวงการเกษตร