ฤดูฝน ระวังการระบาดของหนูทำลายพืช และแพร่เชื้อโรคฉี่หนู

หนู เป็นศัตรูพืชที่สำคัญ ทำลายผลผลิตพืชในทุกฤดูกาล แพร่ขยายพันธุ์รวดเร็วมาก เป็นอันตรายต่อมนุษย์ แพร่โรคฉี่หนู ทำให้คนเจ็บป่วยถึงตายได้ เกษตรอุตรดิตถ์ แนะนำการป้องกันกำจัดหนู และเตือนระวังการติดเชื้อโรคฉี่หนู

“นายอดุลย์ศักดิ์ ไชยราช” หัวหน้ากลุ่มยุทธศาสตร์และสารสนเทศ สำนักงานเกษตรจังหวัดอุตรดิตถ์ แนะนำว่า หนูเป็นศัตรูพืชที่สำคัญ มีมากมายหลายประเภท ได้แก่ หนูพุกใหญ่ หนูพุกเล็ก หนูนาเล็ก หนูนาใหญ่ หนูหริ่งหางสั้น หนูหริ่งหางยาว หนูท้องขาว หนูป่ามาเลย์ หนูบ้านมาเลย์ หนูฟันขาวใหญ่ หนูฟานเหลือง หนูท้องขาวสิงคโปร์ หนูจี๊ด ซึ่งมักจะระบาดทำลายในนาข้าว สวนไม้ผล ในไร่นา ยุ้งฉาง คอกปศุสัตว์ บ้านเรือน ฯลฯ

แนะนำให้ป้องกันกำจัดหนูอย่างต่อเนื่องและกว้างขวาง หนู นอกจากจะเป็นศัตรูพืชที่สำคัญแล้ว ยังเป็นพาหะแพร่เชื้อ “โรคเลปโตสไปโรซีส” หรือ “โรคฉี่หนู” (leptospirosis หรือ Wail’s disease) เป็นปัญหาสำคัญทางสาธารณสุข อัตราการแพร่เชื้อจะมีมากในช่วงฤดูฝน ในสภาพที่มีน้ำท่วมขังนานๆ เช่นแปลงนาข้าว หรือสภาวะน้ำท่วม น้ำขังที่ล้นมาจากท่อระบายน้ำ หรือแหล่งขยะโสโครกต่างๆ เชื้อโรคที่ปนมากับปัสสาวะหนู เมื่อสัมผัสถูกตัวคน จะเข้าทางแผลเล็กๆ ที่ผิวหนัง รอยขีดข่วน ซอกเล็บ เยื่อบุตา ปาก จมูก และไชเข้าทางผิวหนังที่เปียกชื้นชุ่มน้ำนานๆ โรคฉี่หนู มีสัตว์ที่มีกระดูกสันหลังหลายชนิด ที่เป็นพาหะนำเชื้อโรคแพร่กระจายมาสู่คนได้ทางปัสสาวะ สัตว์กินพืชจะเป็นพาหะได้เป็นเวลานาน เพราะปัสสาวะเป็นด่าง เหมาะแก่การเจริญเติบโตของเชื้อในไต สัตว์ต่างๆ โดยเฉพาะหนูแล้ว ที่สามารถเป็นพาหะแพร่เชื้อโรคได้ ได้แก่ สุกร โค กระบือ สำหรับ สุนัข แมว จะเป็นพาหะได้ไม่นาน เพราะไตมีสภาวะเป็นกรด

สัตว์จำพวกหนู เป็นสัตว์ที่ติดเชื้อโดยไม่แสดงอาการ เป็นรังของโรคได้นานหลายเดือน หรือตลอดชีวิต โดยเฉพาะหนูพุก จะเป็นหนูประเภทที่เป็นพาหะเชื้อโรคนี้มากที่สุด ถึงร้อยละ 30 ของชนิดหนูทั้งหมด ส่วนหนูบ้านไม่พบการติดเชื้อ เป็นเพราะหนูบ้านไม่ชอบความชื้น และไตไม่เหมาะสมกับการเจริญของเชื้อ ในการป้องกันกำจัดหนู ขอแนะนำวิธีการดังนี้

  1. ให้ปรับปรุงสภาพแวดล้อม บริเวณแปลงไร่นาสวน กำจัดวัชพืช กำจัดแหล่งที่อยู่อาศัยของหนู เช่น จอมปลวก ตอไม้ พุ่มไม้ กองเศษวัสดุเหลือใช้ ไม่ให้มีแหล่งอาศัยของหนู
  2. การขุด ดัก โดยใช้กรง หรือกับดักชนิดต่างๆ การล้อมตี การยิง หรือการที่มีหน่วยรับซื้อหางหนู
  3. ให้ศัตรูธรรมชาติ ช่วยจัดการกำจัดหนู เช่น งูสิง งูแมวเซา งูแสงอาทิตย์ งูเห่า งูทางมะพร้าว งูเหลือม พังพอน เหยี่ยว นกแสก นกฮูก นกเค้าแมว แมว ตุ๊กแก นำเอาไปปล่อย หรืออนุรักษ์ไว้ในไร่นาสวน ซึ่งช่วยกำจัดหนูได้ดีมาก

4.การใช้สารเคมี เป็นวิธีการลดจำนวนประชากรหนูที่มีประสิทธิภาพมาก สามารถกำจัดทำลายหนูได้รวดเร็ว แต่แนะนำให้ใช้ในเวลาจำเป็น ในพื้นที่ไร่นาสวน ที่มีหนูระบาดมาก ใช้ก่อนลงมือปลูกพืช วางยากำจัดหนู 1 รอบ โดยใช้สารออกฤทธิ์เร็ว ประเภทซิงค์ฟอสไฟด์ หรือประเภทสกิลลิโรไซด์ นำเหยื่อพิษผสมกับเมล็ดพืช ปลายข้าว วางเป็นจุดๆ กลบด้วยแกลบ แต่ควรใช้ครั้งเดียว เพราะจะเกิดความเข็ดขยาด ครั้งต่อไป ใช้สารออกฤทธิ์ช้า เช่น คลีแร็ต สะตอม เสด บารากี้ ราคูมีน ส่วนใหญ่สารเหล่านี้จะผลิตเป็นเหยื่อพิษสำเร็จรูปชนิดก้อนขี้ผึ้ง (wax bl0ck) ใช้วางล่อให้หนูกิน หนูจะคาบเข้าไปกินในรู ในรัง แบ่งปันให้สมาชิกในรังกิน ควรวาง 2-3 ครั้ง หนูกินจะตายภายใน 3-15 วัน

มีปัญหาสงสัย ต้องการทราบรายละเอียด ปรึกษาหารือ ขอคำแนะนำ ได้ที่นักวิชาการส่งเสริมการเกษตร สำนักงานเกษตรอำเภอใกล้บ้านท่าน หรือ สำนักงานเกษตรจังหวัดอุตรดิตถ์ โทร. 055-411-769, 055-440-894

 

อดุลย์ศักดิ์ ไชยราช/รายงาน