แนะนำให้ปลูก สับปะรดห้วยมุ่น ป้องกันโรคผลเน่าสับปะรด

โรคผลเน่าสับปะรด ทำความเสียหายในทางเศรษฐกิจมากมาย เกษตรกรผลผลิตเสียหาย คุณภาพลดลง รายได้ตกต่ำ ตลาดขาดความเชื่อถือ เกษตรอุตรดิตถ์เตือนให้ระวัง หมั่นตรวจสอบแปลงทุกระยะ จัดการกำจัดแมลงที่เป็นตัวนำโรคเข้าสู่แปลงสับปะรด และใช้พันธุ์ต้านทานปลูก เช่น สับปะรดห้วยมุ่น

นายอดุลย์ศักดิ์ ไชยราช หัวหน้ากลุ่มยุทธศาสตร์และสารสนเทศ สำนักงานเกษตรจังหวัดอุตรดิตถ์ แจ้งเตือนเกษตรกรชาวไร่สับปะรดว่า ให้ระวังโรคผลเน่าสับปะรด ซึ่งมักจะพบระบาดช่วงเก็บเกี่ยว และสภาพแวดล้อม เช่น มีฝนตกบ้าง แดดจัดบ้าง อุณหภูมิเปลี่ยนแปลง เป็นโรคที่ติดมากับแมลงที่มาตอมน้ำหวานของดอก และกัดกินผลทำให้เกิดแผล แนะนำให้กำจัดแมลง ใช้พันธุ์ต้านทาน ถ้าหากจำเป็นจะต้องใช้สารเคมี ให้ใช้อย่างระมัดระวัง แต่ถ้าหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีได้ หรือใช้สารชีวภัณฑ์ทดแทนได้ ให้ถือปฏิบัติทันที

โรคผลเน่าสับปะรด เกิดจากเชื้อรา Thielaviopsis paradoxa ระบาดได้ทั่วไป จะติดต่อมากับแมลงและติดต่อทางบาดแผล แมลงจะมาตอมน้ำหวานของดอกสับปะรดและกัดกินผลทำให้เกิดแผล จะระบาดมากในระยะ 7-10 วัน ก่อนสับปะรดแก่เก็บผลได้ และถ้าสภาพแวดล้อมที่มีฝนตกๆ หยุดๆ ยิ่งจะทำให้เกิดการระบาดมากและถ้ามีแมลงมากจะระบาดมาก

การป้องกันกำจัด ควรกำจัดแมลงศัตรูสับปะรดที่เป็นสาเหตุนำโรคมาระบาด โดยวิธีการตามความเหมาะสม ใช้พันธุ์ที่ต้านทานมาปลูก เช่น สับปะรดพันธุ์ห้วยมุ่น ใช้สารสกัดจากชีวภาพฉีดพ่น เช่น สารสกัดจากเมล็ดสะเดา เชื้อราบิวเวอเรีย (Beauveria bassiana) หากจำเป็นใช้สารเคมี ใช้ไทเบนดาโซล หรือ เบนโนมิล ตามอัตรา และวิธีการที่แนะนำอย่างเคร่งครัด

 

อดุลย์ศักดิ์ ไชยราช/รายงาน