เตรียมใช้ ‘รั้วรังผึ้ง’ ป้องกัน ‘ช้างป่าละอู’ 150 ตัว บุกทำลายพืชไร่

เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน นายมานะ เพิ่มพูล หัวหน้าพื้นที่อนุรักษ์แบบบูรณาการอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 สาขาเพชรบุรี ร่วมกับสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS) ประเทศไทย ฝ่ายปกครอง อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี หน่วยงานความมั่นคง ผู้บริหารท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เกษตรกร เครือข่ายคนรักษ์ช้างป่า ร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการ แนวทางการอนุรักษ์ช้างป่าและการจัดการปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่า ที่ศูนย์ข้อมูลอนุรักษ์ช้างแก่งกระจาน หมู่ 1 ต.ห้วยสัตว์ใหญ่ อ.หัวหิน

นายมานะ กล่าวว่า ได้เปิดเวทีแสดงความเห็นเพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และทบทวนแนวทางการจัดการปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่า ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญระดับชาติ ขณะที่หลายฝ่ายเดินหน้าสร้างมาตรการป้องกันแก้ไขปัญหา ทั้งระยะสั้น ระยะยาว เช่น การจัดกำลังเจ้าหน้าที่ทหารชุดเฉพาะกิจทัพพระยาเสือ ชุดจงอางศึก ออกลาดตระเวนเฝ้าระวังช้างป่า สร้างแนวรั้วกึ่งถาวร และส่งเสริมชุมชนช่วยดูแลทรัพย์สินพืชผลทางการเกษตร การป้องกันเหตุขณะช้างป่าเดินหากินบนถนนสายหัวหิน-ป่าละอู ล่าสุดได้นำมาตรการเสริมรั้วรังผึ้ง เสนอเป็นทางเลือกเพื่อป้องกันช้างป่าบุกเข้าทำลายพื้นที่ทางการเกษตร โดยเชิญ นางรชยา อาคะจักร นักวิจัยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ชี้แจงแนวทางดำเนินงาน หลังจากกรมอุทยานฯ มอบหมายให้ทำโครงการนำร่องประสบความสำเร็จในหลายพื้นที่

“ ปัจจุบัน ความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่า เป็นปัญหาสำคัญกับการอนุรักษ์ช้าง เนื่องจากมีการขยายตัวของชุมชนอย่างต่อเนื่อง มีการบุกรุกพื้นที่ป่าทำให้ถิ่นที่อยู่ของช้างป่ามีพื้นที่ลดลง ปัจจุบัน มีช้างป่ากว่า 150 ตัว อาศัยในพื้นที่กว่า 220 ตารางกิโลเมตร ทางตอนล่างของอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ทำให้มีความหนาแน่นค่อนข้างสูง ช้างป่าจึงต้องออกมาหากินนอกพื้นที่ป่าอนุรักษ์ บางครั้งพบเจอมากถึง 80 ตัว ในครั้งเดียว ผลจากการศึกษา ตั้งแต่ ปี 2548 ถึงปัจจุบัน มีพื้นที่ได้รับผลกระทบ 5 ตำบล ทั้ง อ.แก่งกระจาน และ อ.หัวหิน ความเสียหายส่วนใหญ่เกิดขึ้นที่ ต.ห้วยสัตว์ใหญ่ มีปัญหา 60 ครั้ง ต่อปี และ ต.ป่าเด็ง มีปัญหา 54 ครั้ง ต่อปี รวมความเสียทั้งหมดมากกว่า 1 ล้านบาท ต่อปี” นายมานะ กล่าว

 

ที่มา : มติชนออนไลน์