“จานกาบหมาก” เหตุไฉนลูกค้าถึงชอบใช้ ออเดอร์ทะลัก ผลิตไม่เคยพอขาย

จานกาบหมาก รายแรกในไทย

คุณสุมาลี ภิญโญ เท้าความว่า เมื่อ พ.ศ. 2539 ในตอนนั้น ได้รับมอบหมายให้จัดงานเลี้ยงอาหารขันโตก ที่อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา งานประเพณีภาคอีสานนั่งกินอาหารกับพื้นในช่วงค่ำ สมัยนั้นภาชนะบรรจุอาหารเป็น “โฟม” ซึ่งสวนทางกับธีมงานที่เป็นแบบย้อนยุค อีกทั้งโฟม เป็นขยะกำจัดยาก ปีต่อมาเปลี่ยนใช้กระทงใบตอง แต่ทว่าใบตอง ใส่อาหารได้น้อย ใส่อาหารที่มีน้ำก็รั่ว ฉีกขาดง่าย ณ เวลานั้น ยังหาทางออกไม่ได้ จนกระทั่งมาเจอใบกาบหมากจากต้นหมาก ทดลองนำมาขึ้นรูปเป็นจาน ชาม ปรากฏว่าใส่อาหารได้ทุกเมนู จากนั้นค่อยๆ ต่อยอดเรื่อยมา จนกลายเป็นธุรกิจ

วันที่ คุณสุมาลี เจอใบกาบหมาก เธอบอกว่า เห็นร่วงอยู่ที่พื้น ปกติชาวสวนจะนำไปเผา แต่จากการสังเกตเห็นว่าใบไม้ชนิดนี้มีลักษณะแข็ง เลยลองให้สามีซึ่งเป็นช่าง ขึ้นรูปเป็นจาน ปรากฏว่าใส่อาหารร้อน-เย็นได้ ใส่น้ำได้ไม่รั่ว เข้าไมโครเวฟได้ เลยทำขาย ตั้งแต่ ปี 2540 ค่อยๆ พัฒนาเรื่อยมา กระทั่ง ปี 2547 ส่งเข้าประกวดสินค้าโอท็อปได้ 4 ดาว จากนั้นไปขายที่งานโอท็อป เมืองทองธานี ขายดิบขายดี สินค้าไม่พอขาย ต้องทำตามออเดอร์เท่านั้น

“ย่านอำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา ชาวบ้านปลูกต้นหมากกันมาก ส่วนใหญ่จะเก็บแต่ลูกหมากไปเคี้ยว กาบหมากหรือใบมักจะถูกทิ้ง หรือนำไปเผา ดิฉันนำมาทดลองทำภาชนะ โดยคิดค้นเครื่องจักรปั๊มขึ้นรูป โดยใช้ความร้อน สามารถผลิตกาบหมากออกมาเป็นภาชนะรูปแบบต่างๆ”

ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา “จานกาบหมาก” ของคุณสุมาลีก็ค่อยๆ เป็นที่รู้จักมากขึ้น ปี 2558 เจ้าของเริ่มสร้างแบรนด์ ใช้ชื่อ ‘วีรษา’ (VEERASA) ชื่อนี้มาจากชื่อของคุณปู่ และคุณย่า รวมกัน “วีระ+อุษา” ซึ่งหญิงสาวมองว่าเป็นชื่อที่สามารถจดจำได้ง่าย ชาวต่างชาติออกเสียงได้ไม่ยาก

“จานกาบหมากวีรษา แม้จะขายมานาน ตั้งแต่ ปี 47 แต่เป็นที่รู้จักในตลาดวงกว้างราว ปี 60 อาศัยการออกบู๊ธอย่างสม่ำเสมอและลูกค้าบอกปากต่อปาก ขนาดมีลูกค้าต่างชาติบินมาสั่งที่โรงงาน อาทิ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ประเทศอังกฤษ”

สำหรับจุดเด่นของภาชนะจากกาบหมาก เจ้าของสินค้า ระบุว่า มาจากธรรมชาติ 100 เปอร์เซ็นต์ ปราศจากสารเคมีและการฟอกสี เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไม่แตกหักง่าย น้ำหนักเบา ใส่อาหารได้ทุกเมนู ใส่ของเหลวได้ เข้าเตาไมโครเวฟได้ ไม่อ่อนตัว ทนความร้อนได้ดี มีกลิ่นหอม และลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ ย่อยสลายได้เองใน 45 วัน

ด้าน “กาบหมาก” ที่นำมาใช้นั้น คุณสุมาลี ระบุว่า อายุ 3-5 ปีขึ้นไป ต้นหมาก 1 ต้น จะมีกาบหมากตลอดทั้งปี จำนวน 15 กาบ กาบหมากที่มีความสมบูรณ์จะร่วงจากต้นเอง

ผลิตเท่าไรไม่เคยพอขาย

ในส่วนของขั้นตอนการทำ นำกาบหมากที่ร่วงจากต้น เลือกขนาดที่ต้องการนำมาล้างทำความสะอาด ให้ดินโคลนออกทั้งหมด ตากแดดให้แห้งสนิท จากนั้นนำเข้าเครื่องจักรความร้อนสูงปั๊มแบบลงไป ตัดแต่งให้สวยงาม ความพิเศษของบรรจุภัณฑ์จานกาบหมาก คือ มีความแข็งแรง แต่ควรใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง เพราะหากโดนน้ำแล้วตากไม่แห้งจะชื้น มีเชื้อรา

ด้านวัสดุที่คุณสุมาลีใช้ ส่วนหนึ่งเธอปลูกต้นหมากเอง อีกส่วนหนึ่งรับซื้อจากเกษตรกร ซึ่งจะรับซื้อราคากิโลกรัมละ 8 บาท  และเนื่องจากวัสดุมีไม่พอต่อความต้องการ หญิงสาวเลยส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกหมาก โดยการจะรับซื้อทั้งหมด ดำเนินการแล้วที่ตำบลหนองสาหร่าย  อำเภอปากช่อง โดยพื้นที่ 1 ไร่ สามารถปลูกต้นหมากได้ ประมาณ 1,000 ต้น พร้อมยกระดับเป็นสถานที่ท่องเที่ยวและแหล่งเรียนรู้