สสก.9 พิษณุโลก ชูแปลงใหญ่ลำไย อ. สามเงา จ. ตาก เชื่อมโยง ศพก. พัฒนาคุณภาพเป็นสินค้าส่งออก

สสก.9 พิษณุโลก กรมส่งเสริมการเกษตร ชูแปลงใหญ่ลำไย อ.สามเงา จ.ตาก เป็นต้นแบบเกษตรแปลงใหญ่ที่เชื่อมโยงเครือข่าย ศพก. ถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการผลิตลำไยนอกฤดูคุณภาพ ร่วมกันผลิตลำไยเกรดเอ ส่งออกได้ราคาสูง

นายนิพนธ์ แรมวิโรจน์ ผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนาบุคลากร สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตร ที่ 9 จ.พิษณุโลก กรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 9 พิษณุโลก ได้ดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาล โดยขับเคลื่อนเรื่องของการทำเกษตรแบบแปลงใหญ่ เพื่อแก้ปัญหาทั้งระบบ เชื่อมโยงเครือข่ายผ่านศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร หรือ ศพก. มีวัตถุประสงค์เพื่อลดต้นทุนการผลิต และเพิ่มผลผลิต รวมไปถึงแก้ปัญหาในเรื่องของการตลาดตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทานการผลิตทั้งหมด ซึ่งแนวทางการขับเคลื่อนในรูปของแปลงใหญ่ที่มุ่งเน้นให้เกษตรกรรวมกันซื้อรวมกันขายทั้งผลผลิตทางการเกษตรและการจัดซื้อปัจจัยการผลผลิต เพื่อให้สามารถลดต้นทุนการผลิตได้ อย่างน้อย 20% และเพิ่มผลผลิตให้ได้ 20% ซึ่งการดำเนินงานในระดับพื้นที่ จะมีสำนักงานในระดับจังหวัดและอำเภอเป็นผู้รับผิดชอบในด้านของการดำเนินงาน ทั้งด้าน ศพก. และแปลงใหญ่ โดยยึดเกษตรกรเป็นศูนย์กลางในด้านองค์ความรู้ แล้วเข้าไปพัฒนาองค์ความรู้ตามความต้องการของเกษตร
กร สำหรับจังหวัดตากได้ขับเคลื่อนโครงการระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ มาตั้งแต่ ปี 2559 จำนวน 35 แปลง ประกอบด้วย แปลงใหญ่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 12 แปลง แปลงใหญ่ข้าว 10 แปลง และแปลงใหญ่ลำไย 5 แปลง ส่วนอีก 8 แปลง ที่เหลือ ได้แก่ มันสำปะหลัง อะโวกาโด พืชผัก มันฝรั่ง กล้วยหอม แพะ โคขุน และประมง ซึ่งกระจายอยู่อำเภอต่างๆ ของจังหวัดตาก ยกตัวอย่าง การผลิตลำไยแปลงใหญ่ ที่มีอยู่ 5 แปลง ในอำเภอวังเจ้า อำเภอบ้านตาก และอำเภอสามเงา โดยในอำเภอสามเงา มีอยู่ 3 แปลง ที่ ต. ย่านรี 2 แปลง พื้นที่รวม 1,023 ไร่ เกษตรกร 80 ราย ส่วนที่ ต. สามเงา พื้นที่รวม 445 ไร่ เกษตรกร 40 ราย และเป็นที่ตั้งของศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) ประจำอำเภอสามเงาด้วย เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการผลิตลำไยนอกฤดูคุณภาพ

ด้าน ลุงมนัส โตเอี่ยม ประธานแปลงใหญ่ลำไย และเจ้าของศูนย์ ศพก. อำเภอสามเงา จังหวัดตาก เปิดเผยว่า การผลิตลำไย ของอำเภอสามเงา จังหวัดตาก มีมากว่า 30 ปีแล้ว เมื่อก่อนจะต่างคนต่างทำ แต่เมื่อ 3 ปีที่แล้ว ได้มีการรวมกันเป็นแปลงใหญ่ตามคำแนะนำของกระทรวงเกษตรฯ มีสมาชิกประมาณ 50 ราย เฉลี่ยพื้นที่ปลูก รายละ 20-30 ไร่ สมาชิกทุกคนจึงได้มีการปรึกษาพูดคุยกันมากขึ้น มีการแลกเปลี่ยนความรู้ และประสบการณ์ซึ่งกันและกัน ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น มีการปรึกษากันเกี่ยวกับการทำลำไยคุณภาพ เพื่อให้สามารถส่งออกได้และเพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิตได้

โดยลุงมนัส บอกว่า ส่วนตัวมีสวนลำไยอยู่ 2 แปลง รวมพื้นที่ประมาณ 20 ไร่ (แปลงหนึ่งอายุ 33 ปี มี 40 ต้น และอีกแปลงอายุ 16-17 ปี) ระยะปลูก 12×12 เมตร เลี้ยงทรงพุ่มให้กว้าง และไม่ชนกัน หลังจากปลูกไปประมาณ 3 ปี ก็เริ่มให้ผลผลิต แต่ตอนนี้เฉลี่ยที่อายุต้น 16 ปี ให้ผลผลิตประมาณ 200-250 กิโลกรัม (เป็นผลผลิตแบบคัดเกรด) สร้างรายได้ให้ประมาณ 6,000-7,000 บาท/ปี ส่งตลาดจีนเป็นหลัก ส่วนตลาดอินโดนีเซียจะอยู่ในช่วงประมาณเดือนกันยายน โดยการเก็บผลผลิตจำหน่ายจะอยู่ที่การตกลงกับคนซื้อ ถ้าเราเก็บเอง เราจะมีปัญหาด้านแรงงาน แต่ถ้าขายแบบเหมาสวน ทางพ่อค้าเขาจะมีทีมงานมาเก็บเอง ซึ่งในด้านตลาดนั้น จริงๆ แล้ว ช่วงเดือน กค.- สค. ทางอินโดนีเซียจะไม่รับซื้อของไทย เพราะเขาจะบริโภคของประเทศเขาก่อน แต่ตอนนี้เรามีตลาดหลักอีกแห่งคือ ประเทศจีน โดยจีนต้องการเบอร์ที่สวย เบอร์ใหญ่ ผิวดี โดยการซื้อขาย พ่อค้าจะเข้าไปดูที่สวน สวนไหนผลผลิตสวยได้ตรงตามมาตรฐานก็จะรับซื้อ แต่สวนไหนยังไม่ตรงตามต้องการ ลูกยังเล็กอยู่เขาก็จะยังไม่ซื้อ

“การรวมตัวเป็นแปลงใหญ่เกิดผลดีต่อเกษตรกร ทั้งด้านการวางแผนการผลิตให้ได้คุณภาพ และสามารถรวบรวมผลผลิตได้ในปริมาณที่ตลาดต้องการ โดยไม่ถูกกดราคา อีกทั้งสิ่งที่เห็นได้ชัดเจนจากการรวมกันทำแบบแปลงใหญ่ คือต้นทุนการผลิตที่ลดลง ยกตัวอย่างที่สวน ใน 1 แปลง ประมาณ 10 ไร่ จะต้องใส่ปุ๋ยอยู่ประมาณ 6 กระสอบ ใส่เดือนละ 2 ครั้ง เมื่อเรารวมกันทำแบบแปลงใหญ่ มีการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และช่วยกันผลิตปุ๋ยสั่งตัดใช้เอง ด้วยการซื้อแม่ปุ๋ยมาผสมตามสูตร ทำให้ช่วยลดต้นทุนค่าปุ๋ยลงได้ จากการซื้อปุ๋ยเคมีใช้ ประมาณ 2,000 บาท/ครั้ง หรือลดต้นทุนได้ 4,000 บาท/เดือน นับว่าเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรมาก” ลุงมนัส กล่าวทิ้งท้าย