ปี 2561 กรมส่งเสริมการเกษตรนำร่องแปลงใหญ่ 4.0 “มัน-ข้าว-ไม้ผล–ข้าวโพด”

ปี 2561 กรมส่งเสริมการเกษตรนำร่องแปลงใหญ่ 4.0 “มัน-ข้าว-ไม้ผล–ข้าวโพด” พลิกภาคเกษตรไทย หวังลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต สร้างรายได้ที่แน่นอนให้เกษตรกร รองรับสังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า ปี 2568 ประชากรไทยประมาณ 20% ของประชากรทั้งหมดจะมีอายุมากกว่า 60 และ จะเพิ่มเป็น 36% ในปี 2588 ขณะที่ยอดการเกิดใหม่ของคนไทยกลับน้อยลง สังคมไทยจะกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุและขาดแคลนแรงงาน รวมถึงภาคเกษตรที่ปัญหาแรงงานสูงวัยมีเพิ่มขึ้น รัฐบาลจึงประกาศปฏิรูปภาคเกษตร ด้วยการนำนวัตกรรม และเทคโนโลยีเข้ามาช่วย แก้ปัญหาแรงงานขาดแคลน อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร และลดต้นทุนการผลิตอีกทางหนึ่ง ทั้งนี้ เพื่อให้ภาคเกษตรเดินหน้าเข้าสู่ยุค 4.0 เปลี่ยนเกษตรไทยแบบดั้งเดิมไปสู่เกษตรสมัยใหม่

ภาคเกษตรไทยเริ่มก้าวสู่การเป็นเกษตร 4.0 ด้วยการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในขั้นตอนทำการเกษตร ทั้งในเรื่องของการวางแผนการเพาะปลูก ตลอดไปจนถึงการหาตลาดเพื่อเป็นช่องทางในการกระจายสินค้า อาทิ การใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมของกรมพัฒนาที่ดิน (พด.) ในการใช้สินทรัพย์การเกษตร ฟื้นฟูดินให้มีความอุดมสมบูรณ์, การใช้สถานที่ Fam-Map เพื่อการบริหารจัดการพื้นที่ของเกษตรกรรม การใช้ปุ๋ยตามค่าการวิเคราะห์แร่ธาตุในดิน การใช้อากาศยานไร้คนขับ (โดรน) เพื่อฉีดสารเคมีและใส่ปุ๋ย ซึ่งสามารถช่วยเพิ่มผลผลิตได้ถึง 25%

“ถึงเวลาแล้วที่ภาคเกษตรไทยต้องพัฒนาเพื่อก้าวสู่เกษตร 4.0 ด้วยการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยี แต่การปรับเปลี่ยนจะไม่เกิดขึ้น หากเกษตรกรไทยไม่มีการปรับตัว เพื่อให้ก้าวทันเทคโนโลยี ดังนั้นเมื่อประเทศไทยเข้าสู่ยุค 4.0 หากภาคเกษตรไม่ปรับตัวเกษตรกรอาจเป็นคนส่วนน้อยประเทศที่ไม่สามารถหลุดพ้นจากความยากจนได้”

ด้านนายสำราญ สาราบรรณ์ รองอธิบดี กรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ปัญหาการขาดแคลนแรงงานเริ่มเห็นในภาคการเกษตรไทยไม่ต่างกับภาคอื่น ๆ ดังนั้นในฤดูการผลิตปี 2561 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงนำร่องนำนวัตกรรมและเทคโนโลยี มาใช้ในการทำเกษตรแบบแปลงใหญ่ ซึ่งเป็นแปลงนำร่อง ในพืชสำคัญก่อน อาทิ มันสำปะหลัง ข้าว ไม้ผล และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เป็นต้น โดยได้ร่วมกับสถาบันการศึกษา ในการนำงานวิจัยมาใช้กับการทำเกษตร ซึ่งเป็นแปลงนำร่องและเป็นแปลงต้นแบบเพื่อนำไปต่อยอดในแปลงเกษตรจริง ทั้งนี้จะมีการสรุปผลการใช้เทคโนโลยีดังกล่าว ภายใน 1 ฤดูการผลิต เพื่อประเมินผลและขยายผลไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ต่อไป

แนวโน้มการนำนวัตกรรม และเทคโนโลยีเข้ามาใช้แทนแรงงานคน มีเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ในปัจจุบันมีการนำเข้าโดรนเพื่อมาช่วยทำการพ่นยาและสารเคมีจำนวนมาก แม้จะมีราคาสูง แต่สามารถช่วยประหยัดเวลาและยังได้ความปลอดภัยต่อชีวิตเกษตรกร ที่ไม่ต้องสัมผัสสารเคมีจากการฉีดพ่น และเมื่อแปลงเกษตรกร เกิดโรคระบาดก็สามารถควบคุมได้ง่ายขึ้น

การนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้ในภาคเกษตร นอกจากจะช่วยในการลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดการสูญเสียในขบวนการผลิตสินค้าเกษตร ยังช่วยให้มูลค่าและราคาของผลผลิตที่เกษตรกรขายได้สูงขึ้น แต่การนำนวัตกรรมเข้ามาใช้กับเกษตรกรไทยยังมีข้อจำกัดในเรื่องของเกษตรกรที่มีอายุมากขึ้น การเข้าไม่ถึงเทคโนโลยี และความเชื่อในการทำเกษตรแบบเดิม ดังนั้น การนำงานวิจัยมาใช้ควบคู่ไปกับการเกษตรช่วยแก้ปัญหาดังกล่าวได้มากยิ่งขึ้น

ตัวอย่างของการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ในแปลงของเกษตรกร ได้แก่ แปลงใหญ่มันสำปะหลัง อ.เสล จ.กำแพงเพชร ที่มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตมันสำปะหลังตลอดห่วงโซ่การผลิต ด้วยเทคโนโลยีที่เหมาะสมเฉพาะที่ การจัดทำแปลงต้นแบบที่มีการบูรณาการด้านเครื่องจักรกลการเกษตร พันธุ์ การจัดการดินและปุ๋ย การจัดการรางน้ำ ตลอดจนการปรับเปลี่ยนการเกษตรแบบดั้งเดิมไปสู่เกษตรสมัยใหม่ ที่เน้นการบริหารจัดการและเทคโนโลยีที่เรียกว่า “Smart Farming”