จับตาสถานการณ์ โรคไหม้ข้าว เฝ้าระวังก่อนระบาดรุนแรง

เตือนภัย โรคไหม้ข้าว ระยะกล้า ถึงแตกกอ ในทุกภาคของประเทศไทย โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ จังหวัดอุบลราชธานี ศรีสะเกษ สุรินทร์ บุรีรัมย์ และจังหวัดใกล้เคียง จากการติดตามสถานการณ์ศัตรูข้าว พบการระบาดของโรคไหม้ข้าวในหลายจังหวัด ประกอบกับในช่วงนี้พื้นที่ดังกล่าวมีฝนตกอย่างต่อเนื่อง กลางคืนมีความชื้นสูง กลางวันอากาศร้อน ซึ่งสภาพแวดล้อมที่เหมาะต่อการระบาดของโรคไหม้ข้าว เชื้อราสาเหตุสำคัญของโรคไหม้ข้าว คือ Magnaportheoryzaeหรือ PyriculariaoryzaeCavara โดยลักษณะการทำลายของโรคสามารถพบได้ทุกระยะการเจริญเติบโต เริ่มตั้งแต่

ระยะกล้า ใบมีแผลเป็นจุดสีน้ำตาลคล้ายรูปตา มีสีเทาอยู่ตรงกลางแผล ความกว้างของแผล ประมาณ 2-5 มิลลิเมตร และความยาวประมาณ 10-15 มิลลิเมตร แผลสามารถขยายลุกลามและกระจายทั่วบริเวณใบ ถ้าอาการของโรครุนแรงกล้าข้าวจะฟุบแห้งตาย อาการคล้ายถูกไฟไหม้

ระยะแตกกอ อาการที่พบได้ คือ ใบข้าว ข้อต่อของใบ และข้อต่อของลำต้น ขนาดของแผลจะใหญ่กว่าที่พบในระยะกล้า แผลลุกลามติดต่อกันได้ตามบริเวณข้อต่อ ใบจะมีลักษณะแผลช้ำสีน้ำตาลดำ และหลุดจากกาบใบ

การแพร่ระบาด ของ โรคไหม้ข้าว พบมากในแปลงที่ปลูกข้าวหนาแน่น อับลม ใส่ปุ๋ยในอัตราสูง สภาพอากาศร้อนในตอนกลางวัน และชื้นจัดในตอนกลางคืน อีกทั้งกระแสลมแรงยังเป็นตัวช่วยในการแพร่กระจายโรคได้ดีอีกด้วย

จากสถานการณ์ โรคไหม้ข้าว ในปัจจุบัน กรมส่งเสริมการเกษตร แนะนำให้เกษตรกรหมั่นสำรวจแปลงนาอย่างสม่ำเสมอ เมื่อเริ่มพบอาการของโรคไหม้ เช่น ใบข้าวมีแผล จุดสีน้ำตาลคล้ายรูปตา มีสีเทาอยู่ตรงกลางแผลให้รีบแจ้งสำนักงานเกษตรอำเภอ หรือสำนักงานเกษตรจังหวัดในพื้นที่ เพื่อดำเนินการควบคุมและป้องกันกำจัดทันที ในเบื้องต้นให้พ่นด้วยเชื้อ บีเอส (บาซิลลัส ซับทีลิส) หรือพ่นด้วยเชื้อราไตรโครเดอร์มา (เชื้อสด) อัตราตามคำแนะนำการใช้ หรือหากมีความจำเป็นต้องใช้สารเคมีให้พ่นเฉพาะบริเวณที่พบการระบาดของโรค เพื่อควบคุมไม่ให้เชื้อราแพร่กระจายเป็นวงกว้าง โดยสารเคมีที่แนะนำ ได้แก่ อิดิเฟนฟอส 50 เปอร์เซ็นต์ อีซี หรือบลาสติซิดิน-เอส 2 เปอร์เซ็นต์ อีซี หรือไตรไซคราโซล 75 เปอร์เซ็นต์ ดับบลิวพี อัตราตามคำแนะนำการใช้ ควรพ่นในแปลงนาที่มีประวัติว่าเคยพบการระบาดของโรคและไม่ควรพ่นสารเคมีซ้ำหลายครั้ง เพราะจะทำให้เชื้อราดื้อยา

สำหรับในฤดูกาลเพาะปลูกถัดไป เกษตรกรควรเลือกใช้พันธุ์ต้านทานต่อโรคไหม้ เช่น พันธุ์ กข 5 กข 11 กข 27 กข 33 (หอมอุบล 80) กข 37 กข 41 กข 43 กข 47 ชัยนาท 1 สันป่าตอง 1 สุพรรณบุรี 1 สุพรรณบุรี 2 สุพรรณบุรี 3 สุพรรณบุรี 60 สุพรรณบุรี 90 คลองหลวง 1 ปทุมธานี 1 และพันธุ์พิษณุโลก 60-2 หว่านเมล็ดพันธุ์ในอัตราที่เหมาะสม 15-20 กิโลกรัม ต่อไร่ หรือใช้เชื้อราไตรโครเดอร์ (เชื้อสด) คลุกเมล็ดพันธุ์ข้าว หรือนำไปแช่บ่มเตรียมการก่อนปลูก หรือคลุกเมล็ดพันธุ์ด้วยสารป้องกันกำจัดเชื้อรา เช่น ไตรไซคลาโซล, คาซูกาไมซิน, คาร์เบนดาซิม, โพรคลอราซ อัตราตามคำแนะนำการใช้ รวมถึงลดปริมาณการใช้ปุ๋ยไนโตรเจน ซึ่งวิธีนี้อาจมีผลกระทบต่อผลผลิตบ้าง แต่จะช่วยให้ข้าวไม่อ่อนแอต่อโรคไหม้

ทั้งนี้ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กลุ่มพยากรณ์และเตือนการระบาดศัตรูพืช กองส่งเสริมการอารักขาพืชและจัดการดินปุ๋ย กรมส่งเสริมการเกษตร หมายเลขโทรศัพท์ 0-2955-1514, 0-2955-1626 หรือ https://www.doae.go.th/doae/upload/files/Rice_BlastDisease_130661.pdf