ผู้เขียน | หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
กรมส่งเสริมสหกรณ์จับมือชุมนุมสหกรณ์ทั่วประเทศ จัดโครงการข้าวสารสหกรณ์ไทยช่วยชาวนาแก้ปัญหาราคาข้าวตกต่ำ กำหนด 6 แนวทางกระจายข้าวสารสู่ผู้บริโภคให้ทั่วถึง หวังยกระดับราคาข้าวเปลือกหอมมะลิไม่ให้ต่ำกว่าตันละหมื่นบาท
ดร.วิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยว่า เนื่องจากปัญหาราคาข้าวตกต่ำ จึงเรียกประชุมหาแนวทางช่วยเหลือเกษตรกร โดยได้หารือร่วมชุมนุมสหกรณ์ระดับประเทศทั้ง 7 ประเภทและข้าราชการที่เกี่ยวข้อง เพื่อวางแผนจัด”โครงการข้าวสารสหกรณ์ไทยช่วยชาวนา” ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวเพื่อสนับสนุนสหกรณ์การเกษตรทั้งประเทศ รวมทั้งแก้ปัญหาราคาข้าวเปลือกของกลุ่มสมาชิกสหกรณ์ และการกระจายข้าวสารของสหกรณ์รูปแบบขบวนการสหกรณ์
ซึ่งกรมส่งเสริมสหกรณ์ร่วมกับขบวนการสหกรณ์ จัดโครงการเพื่อเพิ่มช่องทางการตลาดในการให้ขบวนการสหกรณ์ที่จะป้อนข้าวสารสู่ผู้บริโภคให้สะดวกและทั่วถึง โดยมี 6 แนวทาง ได้แก่ 1.การจัดกิจกรรม “สินค้าสหกรณ์ไทย ร่วมใจช่วยเกษตรกร” 2.ใช้กลไก “ศูนย์กระจายสินค้าสหกรณ์” (CDC) ในการจำหน่ายข้าวสารสหกรณ์ 3.ชุมนุมสหกรณ์ทุกประเภทร่วมมือในการสำรวจความต้องการซื้อข้าวของสมาชิกแล้วสั่งซื้อข้าวในโครงการ 4.กระจายข้าวหอมมะลิไปยังร้านสวัสดิการของส่วนราชการและเอกชนให้มากขึ้น 5.ส่งเสริมการทำตลาด e-Commerce ผ่านแอปพลิเคชั่น “Co-opclick” ของชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด (ชสท.) 6.การจัดเทศกาลของขวัญปีใหม่ ประจำปี 2560 โดยเป้าหมายยกระดับราคารับซื้อข้าวเปลือกหอมมะลิจากสมาชิกสหกรณ์ไม่ต่ำกว่าตันละ 10,000 บาท
สำหรับการดึงปริมาณข้าวเปลือกเพื่อเข้าสู่กระบวนการแปรรูปเป็นข้าวสาร และเร่งกระจายข้าวสารออกสู่ตลาดในภาวะวิกฤต ขณะนี้นับเป็นสิ่งจำเป็นที่จะช่วยเหลือเกษตรกรสมาชิกทำนา ซึ่งกระทรวงเกษตรฯเห็นว่าระบบสหกรณ์จะเป็นทางออกที่ดีที่สุดที่จะช่วยเหลือเกษตรกร สหกรณ์การเกษตรที่มีโรงสีข้าวจำนวน 133 แห่ง กำลังการผลิตข้าวสารรวมวันละ 5,464 ตันและมีสหกรณ์ที่มีโรงสีพร้อมอุปกรณ์แพ็กข้าวสารบรรจุถุงจำนวน 47 แห่ง จากจังหวัดอุบลราชธานี สุรินทร์ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด นครราชสีมา บุรีรัมย์ และศรีสะเกษ โดยสามารถแปรรูปผลิตข้าวสารบรรจุถุงพร้อมจำหน่ายได้ประมาณวันละ 2,170 ตัน ซึ่งหากมีการขยายช่องทางการจำหน่ายข้าวสารได้เพิ่มมากขึ้น ขบวนการสหกรณ์ก็สามารถเพิ่มกำลังการผลิตข้าวสารได้เต็มที่ เพื่อรองรับกับปริมาณความต้องการของตลาดและผู้บริโภค