น้ำสร้างชีวิต เกษตรกรรมไทยยั่งยืน

น้ำจัดเป็นสิ่งสำคัญในการเพาะปลูกให้พืชผลทางการเกษตรเจริญเติบโต หากปราศจากน้ำจะทำให้การเพาะปลูกเกืดความเสียหายได้ ด้วยสายพระเนตรอันยาวไกลจึงเกิดโครงการพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ  บดินทรเทพยวรางกูร รัชกาลที่ 10 ทรงพระราชทานพระราชดำริให้กรมชลประทานพิจารณาโครงการ  และก่อสร้างอ่างเก็บน้ำเพื่อช่วยเหลือพื้นที่การเพาะปลูกและการอุปโภคบริโภค

เมื่อมีน้ำก็จะช่วยทำให้การทำเกษตรกรรมต่างๆ สามารถเจริญงอกงามและผลผลิตที่ได้มีคุณภาพช่วยทำให้คุณภาพชีวิตของราษฏรดีขึ้น เหมือนเช่นชาวบ้านตำบลยางหักทั้งตำบล มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นจากการมีน้ำเพื่อทำการเกษตร เมื่อเทียบกับสมัยก่อนแล้วอาศัยน้ำจากฝนเพียงอย่างเดียวปีละ 4 เดือน ทำให้ไม่มีน้ำมีไม่เพียงพอต่อการทำเกษตร จึงทำให้รายได้ที่มีลดน้อยลงไปด้วย

นางประยูร เจิมจันทร์ และนายหนู ทองหัว อยู่หมู่ที่ 4 ตำบลยางหัก อำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี เป็นเกษตรที่ได้รับประโยชน์จากอ่างเก็บน้ำบ้านพุกรูดอันเนื่องมาจากพระราชดำริ  เล่าให้ฟังว่า สมัยก่อนครอบครัวปลูกพืชไร่ต่างๆ แต่ด้วยสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวยทำให้การเกษตรที่ทำได้ผลผลิตได้ไม่ดีเท่าที่ควร จึงทำให้ต้องหารายได้เพิ่มจากการรับจ้างทั่วไป

ต่อมาเมื่อได้รับ พระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร พระราชทานความช่วยเหลือ ตั้งแต่ครั้งยังทรงเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ในขณะเสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมราษฎร หลังจากการเสด็จในครั้งนั้นก็ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านเปลี่ยนแปลงไป

อ่างเก็บน้ำบ้านพุกรูด หมู่ที่ 4  ตำบลยางหัก  อำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี เป็นส่วนหนึ่ง ในโครงการพระราชดำริด้านพัฒนาแหล่งน้ำ โครงการแรกตั้งแต่ยังมิได้เสด็จขึ้นทรงราชย์ ซึ่งก่อสร้างเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2538 และจัดเป็น 1 ใน 6 อ่างเก็บน้ำที่มีการสร้างเสร็จสมบูรณ์ มีความจุอ่างเก็บน้ำที่ระดับเก็บกัก  585,280  ลบ.ม.ช่วยเหลือพื้นที่เพาะปลูกได้ประมาณ  1,600  ไร่ หลังจากมีอ่างเก็บน้ำแล้วจึงทำให้ในพื้นที่เกิดความชุ่มชื้นและเพาะปลูกได้มากขึ้น

 “หลังจากที่มีอ่างเก็บน้ำ การทำเกษตรกรรมเราก็ง่ายขึ้น เราไม่ต้องออกไปรับจ้างที่ไหน สามารถทำอาชีพบนที่ดินเราได้ เพราะอยากจะปลูกอะไรก็สามารถปลูกได้ทุกอย่าง เพราะเรามีน้ำโดยตอนนี้เราก็ทำสวนผสมผสานปลูกพืชหลายๆ อย่างผสมกันไป แบบเชิงอินทรียย์ไม่ใช้เคมี ตั้งแต่พืชผักสวนครัว ไปจนถึงพืชสวนต่างๆ มีมากกว่า 50 ชนิดผสมกันไป ก็สามารถนำผลผลิตที่ได้มาขายได้หลากหลาย” คุณประยูร บอก

พื้นที่ที่ทำเป็นสวนผสมผสานนั้น ใช้พื้นที่ประมาณ 6 ไร่ โดยเน้นใช้ปุ๋ยคอกเพื่อปรับปรุงบำรุงดิน จึงทำให้สามารถลดต้นทุนการผลิต และที่สำคัญดินที่ทำการเกษตรก็ไม่เสียอันเกิดจากการใช้สารพิษและสารเคมีต่างๆ

จากความสำเร็จของการทำเกษตรในทุกวันนี้ คุณประยูร บอกว่า ได้ยึดหลักการทำเกษตรพอเพียง โดยมองว่าถ้าคนในบ้านอยากกินอะไรก็จะปลูกไว้กินเองก่อน และเมื่อผลผลิตมีจำนวนมากก็จะนำไปขายเพื่อส้รางรายได้ และนอกจากนี้การทำเกษตรผสมผสานยังสามารถทำให้มีสินค้าเกษตรที่ขายได้หลากหลาย โดยไม่ต้องกังวลในเรื่องของราคาหากสินค้าตัวใดราคาตกก็ยังมีอีกหนึ่งสินค้าขายได้ราคาทนแทนกันไป

“น้ำจึงถือว่ามีความสำคัญมาก ในเรื่องของการเพาะปลูก หากไม่มีโครงการแบบนี้ ก็จะทำให้เราไม่สามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดีเหมือาเช่นทุกวัน เพราะน้ำถือว่ามีความสำคัญมากกับประเทศไทย ซึ่งอาชีพหลักของคนไทยคือการเกษตร ดังนั้นการมีอ่างเก๋บน้ำ จึงทำให้ชาวบ้านได้ประโยชน์ สามารถมำการเพาะปลูก พร้อมกับน้อมนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ ก็จะเป็นสิ่งที่ทำให้ทุกคนมีความสุขไปพร้อมกับการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีรายได้อย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน