เผยแพร่ |
---|
โรครากเน่าโคนเน่า เป็นปัญหาใหญ่ของชาวสวนทุเรียน โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝน หรือสภาพอากาศชื้น เนื่องจากเมื่อต้นทุเรียนเป็นโรคนี้แล้ว หากไม่ได้รับการจัดการที่ถูกต้องเหมาะสม จะทำให้ต้นทุเรียนทรุดโทรมถึงขั้นตายในที่สุด
นายประสงค์ ประไพตระกูล รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า โรครากเน่าโคนเน่าในทุเรียนมีการระบาดมากที่สุดในพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ จันทบุรี ตราด ชุมพร และสุราษฎร์ธานี ลักษณะการระบาดไม่เต็มพื้นที่ เป็นเฉพาะบางต้นและมีโอกาสที่จะลุกลามไปยังต้นอื่นๆ ได้ภายในแปลง ถ้ามีการจัดการไม่ดี โดยเฉพาะในช่วงที่มีสภาพอากาศแปรปรวน ปริมาณน้ำฝนมาก ฝนตกต่อเนื่อง ความชื้นในอากาศสูง เกษตรกรจะต้องมีการจัดการที่ดี เพราะต้นทุเรียนที่ได้รับเชื้อจะอ่อนแอและจะตายในที่สุด หากพบต้นหรือกิ่งที่เป็นโรคต้องเผาทำลายเพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อไปยังพื้นที่อื่น
ส่วนใหญ่เกษตรกรจะนิยมใช้สารเคมีในการป้องกันกำจัดโรครากเน่าโคนเน่า แต่พบว่าการใช้สารเคมีไม่สามารถแก้ปัญหาโรคพืชได้อย่างมีประสิทธิภาพเท่าที่ควร อีกทั้งยังส่งผลต่อต้นทุนการผลิต และเกิดความไม่ปลอดภัยต่อผลผลิต มีสารตกค้าง รวมถึงความไม่ปลอดภัยต่อตัวเกษตรกรและผู้บริโภคด้วย ซึ่งกรมส่งเสริมการเกษตร ได้ส่งเสริมให้เกษตรกรใช้สารชีวภัณฑ์ในการป้องกันโรคพืช อย่างเช่น เชื้อราไตรโคเดอร์ม่า ที่เป็นเชื้อราชั้นสูงมีประสิทธิภาพในการป้องกันโรครากเน่าโคนเน่าในทุเรียน เนื่องจากเชื้อราไตรโคเดอร์ม่าสามารถช่วยทำลายเชื้อราไฟทอปทอร่าซึ่งเป็นสาเหตุของโรครากเน่าโคนเน่าในดินให้มีปริมาณลดลง ช่วยให้รากที่มีอยู่เดิมหรือรากที่แตกใหม่ไม่ให้เชื้อราไฟทอปทอร่าเข้าไปทำลายได้ เชื้อราไตรโคเดอร์ม่ายังมีส่วนช่วยให้พืชเกิดความต้านทานต่อเชื้อโรค ที่สำคัญเชื้อราไตรโคเดอร์ม่าเป็นสารชีวภัณฑ์ที่มีความปลอดภัย
ตัวอย่าง การส่งเสริมการใช้เชื้อราไตรโคเดอร์ม่าป้องกันโรครากเน่าโคนเน่า ในพื้นที่อำเภอท่าแซะ จังหวัดชุมพร ซึ่งมีพื้นที่ปลูกทุเรียนมากถึง 35,000 ไร่ เกษตรกรกว่า 4,500 ราย ผลผลิตรวมไม่ต่ำกว่าปีละ 20,000 ตัน แต่หลายปีมานี้ชาวสวนทุเรียนต้องประสบปัญหาโรครากเน่าโคนเน่าที่ทำลายสวนทุเรียนอย่างหนัก กระทบต่อผลผลิตและรายได้ของเกษตรกร กรมส่งเสริมการเกษตร โดยสำนักงานเกษตรอำเภอท่าแซะ ได้ลงไปถ่ายทอดความรู้และให้คำแนะนำการผลิตและใช้เชื้อราไตรโคเดอร์ม่าป้องกันโรครากเน่าโคนเน่าในสวนทุเรียน ซึ่งเกษตรกรได้มีการทดลองนำไปใช้จนเห็นเป็นที่พอใจ จากต้นทุเรียนที่เหี่ยวเฉาใกล้ตาย เมื่อใช้เชื้อราไตรโคเดอร์ม่าหว่านรอบโคนต้น และฉีดพ่นได้ระยะหนึ่ง ต้นทุเรียนก็เริ่มฟื้นคืนความอุดมสมบูรณ์ ขณะที่ต้นทุนการผลิตเมื่อใช้สารชีวภัณฑ์จะลดลงกว่าการใช้สารเคมีครึ่งหนึ่ง
ด้าน นางสำเนียง สุขเนาว์ เจ้าของแปลงต้นแบบการใช้เชื้อไตรโคเดอร์ม่าป้องกันโรครากเน่าโคนเน่าในทุเรียน บ้านบางฝนตก หมู่ที่ 18 ตำบลรับร่อ อำเภอท่าแซะ จังหวัดชุมพร เล่าว่า ตนมีพื้นที่ปลูกทุเรียนอยู่ 15 ไร่ หลายปีก่อนประสบปัญหาโรครากเน่าโคนเน่าทำลายต้นทุเรียนเกือบทั้งหมด ตอนนั้นทำยังไงก็ไม่หาย ใช้สารเคมีก็ไม่เป็นผล เชื้อราไฟทอปทอร่าทำลายต้นทุเรียนเป็นแผลตั้งแต่ข้างบนยอดลงมาถึงโคนต้น ใบเหี่ยวเฉา ลูกไม่สมบูรณ์ จนคิดว่าทุเรียนต้องตายหมดสวนแน่ๆ จึงคิดที่จะโค่นทุเรียนไปปลูกปาล์มน้ำมันแทน พอดีมาเจอกับเกษตรอำเภอท่าแซะ คุณสว่าง โกดี ปัจจุบัน เกษียณอายุราชการแล้ว เข้ามาแนะนำมาอบรมถ่ายทอดความรู้ ให้รู้จักเชื้อไตรโคเดอร์ม่า ว่าสามารถแก้ปัญหาโรครากเน่าโคนเน่าได้
ตอนแรกลูกชาย นายอรุณวิชญ์ สุขเนาว์ ไม่เชื่อเลย แต่ตนคิดว่าไม่มีอะไรจะเสียแล้ว ก็เลยลองทำ โดยทั้งหว่านรอบโคนต้น ฉีดลำต้น ทรงพุ่ม ฉีดทุก 15 วัน พอผ่านไปประมาณ 6 เดือน สภาพต้นทุเรียนที่เหมือนจะตายเริ่มฟื้น เมื่อเห็นผลอย่างนั้นก็ใช้เชื้อราไตรโคเดอร์ม่าป้องกันกำจัดโรคในสวนทุเรียนมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบันกว่า 4 ปีแล้ว และยังจะใช้ต่อไปไม่หยุด
นายอรุณวิทย์ กล่าวเสริมว่า สวนของตนมีทุเรียน 100 กว่าต้น เคยเก็บผลผลิตได้ปีละกว่า 30 ตัน พอเจอโรคเน่าโคนเน่าเข้าทำลายต้นทุเรียนเสียหายหนักมาก เพราะเชื้อไฟทอปทอร่าเข้าไปทำลายระบบท่อน้ำเลี้ยงต้นทุเรียน ใส่ปุ๋ยเท่าไร ใช้สารเคมีหรือจะทำวิธีไหนก็ไม่ได้ผล ผลผลิตลดลง เหลือไม่ถึง 3 ตัน แต่พอมาใช้เชื้อราไตรโคเดอร์ม่า ก็ค่อยๆ ฟื้นความสมบูรณ์ ผลผลิตเพิ่มขึ้นมาเป็นปีละ 5 ตัน และเพิ่มขึ้นเรื่อยมา จนถึงตอนนี้สวนทุเรียนฟื้นกลับคืนสู่สภาพสมบูรณ์เต็มร้อย แต่ตนก็ยังคงผลิตและใช้เชื้อราไตรโคเดอร์ม่าอย่างต่อเนื่อง เพราะเชื่อมั่นว่าการใช้ชีวภัณฑ์ในการป้องกันโรคพืชได้ผลจริง ที่สำคัญปลอดภัย และมีความยั่งยืน
ปัจจุบัน แปลงของป้าสำเนียงและ นายอรุณวิทย์ สุขเนาว์ ถูกยกให้เป็นแปลงต้นแบบการใช้เชื้อราไตรโคเดอร์ม่าป้องกันโรครากเน่าโคนเน่าในทุเรียนที่ประสบความสำเร็จเห็นผลอย่างชัดเจน ซึ่งนำไปสู่การขยายผลการใช้เชื้อราไตรโคเดอร์ม่าอย่างกว้างขวางของพื้นที่จังหวัดชุมพร
ที่มา : มติชนออนไลน์