กสก. จับตาศัตรูพืชต่างถิ่น คุมเข้มทุกช่องทาง หวั่นระบาดในไทย

นายประสงค์ ประไพตระกูล รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมการเกษตร ไม่ได้นิ่งนอนใจในการติดตามเฝ้าระวังศัตรูพืชต่างถิ่นที่อาจเข้ามาระบาดในประเทศไทย และส่งผลกระทบต่อพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ หรือพืชอาหารอื่นๆ โดยดำเนินการสำรวจติดตามสถานการณ์การระบาดอย่างสม่ำเสมอ และจัดทำแปลงเฝ้าระวังการระบาดของศัตรูพืชในพื้นที่เสี่ยงกว่า 1,890 แปลง ทั่วประเทศ ครอบคลุม 38 ชนิดพืช พร้อมทั้งส่งเสริมให้เกษตรกรหมั่นสำรวจศัตรูพืชในแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ หากพบความผิดปกติหรือการระบาดของศัตรูพืชทั้งที่เป็นศัตรูพืชประจำถิ่นหรือศัตรูพืชต่างถิ่นที่ไม่เคยพบมาก่อนให้รีบแจ้งสำนักงานเกษตรอำเภอหรือสำนักเกษตรจังหวัดใกล้บ้าน

พร้อมกันนี้ได้มอบหมายกองส่งเสริมการอารักขาพืชและจัดการดินปุ๋ย ติดตามสถานการณ์การระบาดของศัตรูพืชต่างถิ่นที่มีโอกาสเข้ามาระบาดในไทยอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะโรคไวรัสใบด่างมันสำปะหลัง ที่เกิดจากเชื้อไวรัส Cassava mosaic virus ที่พบข้อมูลการระบาดในประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ กัมพูชา และเวียดนาม ซึ่งมีระยะทางห่างจากชายแดนไทยบริเวณแหล่งปลูกมันสำปะหลังสำคัญในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันออกขณะนี้ มีระยะเพียง 30-40 กิโลเมตร จึงเป็นสถานการณ์ที่ต้องเฝ้าระวังไม่ให้โรคดังกล่าวเข้ามาระบาดในประเทศ รวมถึงการติดตามการระบาดของศัตรูพืชอื่นๆ อาทิ ตั๊กแตนไผ่ ที่มีรายงานสร้างความเสียหายในประเทศเพื่อนบ้าน คือ ประเทศลาวเขตติดต่อกับจังหวัดน่าน ก็ได้กำชับให้สำรวจติดตามข้อมูลการระบาดเช่นกัน

นอกจากนี้ ยังมีศัตรูอื่นๆ ที่เฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ โรคราน้ำค้าง สาเหตุเกิดจาก เชื้อรา Sclerospora graminicola และ Sclerophthora macrospore โรคเหี่ยวแบคทีเรียในข้าวโพดที่เกิดจากแบคทีเรีย Pantoea stewartii โรคไวรัสใบด่างกล้วยไม้ ที่เกิดจากเชื้อไวรัส Orchid fleck virus (OFV) และ Tomato ring spot virus (TRSV) ซึ่งมีการระบาดอยู่ในหลายประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย เยอรมนี ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ ไต้หวัน และเกาหลีใต้ ด้วงงวงมะม่วงเจาะเมล็ดในผลมะม่วง (Sternochetus mangiferae) หนอนเจาะผลลำไย (Cryptophlebia ombrodelta) เพลี้ยแป้งลำไย (Cataenococcus hispidus Green และ Planococcus lichi Cox) วัชพืช ได้แก่ Conyza canadensis (L.) Cronq. ในพืชไร่ พืชผักเมืองหนาว และไม้ดอกเมืองหนาว รวมถึงวัชพืช Congress grass (Parthenium hysterophorus L.) วัชพืช Euphorbia dentata Michx. และ Agrostis spp. ในพืชไร่ ซึ่งล้วนแต่เป็นศัตรูพืชกักกัน ยังไม่เคยพบในประเทศไทยและมีผลกระทบอย่างมากหากเกิดการระบาด

“กรมส่งเสริมการเกษตร จัดประชุมหารือเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ในหลายๆ เวทีอย่างสม่ำเสมอทั้งภายในหน่วยงาน ได้แก่ เจ้าหน้าที่สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตร ศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืช กองส่งเสริมการอารักขาพืชและจัดการดินปุ๋ย สำนักงานเกษตรจังหวัด สำนักงานเกษตรอำเภอ และระหว่างหน่วยงาน เช่น กรมวิชาการเกษตร กรมการข้าว ทั้งนี้ เพื่อสร้างการรับรู้และเตรียมการรับมือกับศัตรูพืชอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการและทันท่วงที” รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวย้ำ