วันที่อู่ข้าวอู่น้ำต้องรับมือ “ไทย” เปราะบางอันดับ 9 ของโลก-เสี่ยงเกิดภัยแล้งปี 63

นักวิจัยไทย ระดมข้อมูลจากศูนย์วิจัยทั่วโลก พยากรณ์โอกาสเสี่ยงการปลูกพืชพันธุ์ต่างๆ ในไทย โดยมีตัวแปรสำคัญคือ “ภาวะโลกร้อน”อาจารย์เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ (Climate Change and Disater Center) มหาวิทยาลัยรังสิต และในฐานะคณะกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ รวมทั้งยังเป็นผู้ทำงานวิจัยการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศในไทย ให้สัมภาษณ์พิเศษกับ “เทคโนโลยีชาวบ้าน” ถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่มีผลต่อภาคเกษตรกรรมของไทยนั้น ได้รับผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิโลกโดยเฉลี่ยที่สูงขึ้น จากภาวะโลกร้อนอย่างต่อเนื่อง

ปัจจุบัน อุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้นจากอุณหภูมิปกติ อยู่ที่ 0.87 องศาเซลเซียส สูงกว่ายุคอุตสาหกรรรม โดยคาดการณ์ว่า หลังจากนี้ อุณหภูมิจะสูงขึ้นอีกจากหลายปัจจัย เช่น ถ้าสภาพการแข่งขันในทุกๆ ด้านยังสูงอยู่ หมายถึง ถ้าต่างคนต่างผลิตอาวุธ หรือใช้พลังงานฟอสซิลมากอยู่เช่นนี้ อีก 80 ปี นับจากปัจจุบันโลกจะมีอุณหภูมิเฉลี่ยมากขึ้น เหมือนกับที่คุยกันที่ข้อตกลงปารีส คุยกันว่าจะให้ลดน้อยลงกว่า 2 องศา ปัจจุบัน จะเลยเส้นสีแดงแล้ว มันจะไปเร็วกว่าที่เราคาดการณ์ อันนี้สาเหตุแรก

สาเหตุที่สอง บนโลกใบนี้มีความแปรปรวนอยู่แล้วเป็นช่วงๆ อย่างเช่น ปรากฏการณ์เอลนิโญ่ ลานิญ่า โลกร้อนทำให้แปรปรวนขึ้น มันเปลี่ยนแปลงเร็ว เช่น บ้านเราอยู่ๆ ฝนตกหนัก ที่แล้งๆ ก็แล้งจริงๆ” อาจารย์เสรี อธิบายถึงปัจจัยและสาเหตุที่ทำให้โลกร้อนขึ้น

สำหรับข้อมูลที่น่าสนใจคือ ประเทศไทย มีความเปราะบาง มีโอกาสเสี่ยงต่อความแปรปรวนทางสภาพอากาศในอันดับที่ 9 ส่วนประเทศที่เปราะบาง อันดับ 1 คือ ฮอนดูรัส รองลงมา ได้แก่ เฮติ เมียนมา นิการากัว ฟิลิปปินส์ บังกลาเทศ ปากีสถาน เวียดนาม ไทย และโดมินิกัน รีพับบลิก เป็นลำดับสุดท้าย

ซึ่งอาจารย์เสรี นำฐานข้อมูลมาจากเว็บไซต์แอคคิวเวทเตอร์ดอทคอม (AccuWeather.com) โดยเป็นหนึ่งในแหล่งข้อมูลที่รวบรวมสภาวะอากาศและด้านภัยธรรมชาติจากทั่วโลก

อย่างไรก็ตาม อาจารย์เสรี ยังเล่าให้ฟังอีกว่า ประเทศไทย เคยประกาศนโยบายเป็นครัวของโลก แต่สวนทางกับที่ศูนย์วิจัยจากต่างประเทศประเมินประเทศไทย เพราะฉะนั้นไทยจึงต้องปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงของโลก

อย่างเช่น กรณีทุเรียน ถ้าน้ำดีก็ให้ผลผลิตดี ซึ่งตอนนี้คนไทยหันไปปลูกทุเรียน โดยรัฐบาลไม่มีนโยบายอะไรให้เขา ทั้งๆ ที่การทำสวนทุเรียนนั้น ต้นทุเรียนจะกินน้ำมากถึง 2 เท่า และน้ำส่วนใหญ่ที่เป็นพื้นที่ปลูกทุเรียน อาทิ จังหวัดระยอง และจันทบุรี ก็ใช้น้ำร่วมกับพื้นที่ภาคอุตสาหกรรม ถ้ารัฐบาลไม่มียุทธศาสตร์ ชาวบ้านจะเหนื่อย และในอีก 2 ปีข้างหน้า ชาวสวนทุเรียนก็จะประสบเหตุเดียวกับยางพารา

“อย่างผลกระทบต่อทุเรียนต้องใช้งานวิจัยของญี่ปุ่น ซึ่งพยากรณ์ไว้เพื่อประกอบการวิเคราะห์จนได้ผลออกมาว่า สวนทุเรียน มีประสบการณ์ในปี 2559 เกษตรกรต้องหาซื้อน้ำกัน ประเด็นคือว่า ปีหน้า (ปี 2562) กับปีโน้น (2563) จะต้องมีแหล่งน้ำเป็นของตัวเอง เพราะน้ำมาเยอะ

ส่วนในปี 2561 ในช่วง 4 เดือน คือเดือนพฤษภามถึงเดือนสิงหาคม ฝนมาดี ต้องทำบ่อเก็บน้ำไว้เป็นทางเลือก เพราะทุเรียนขาดน้ำไม่ได้ ถ้าไม่มีฝน คุณจะเอาน้ำจากไหน พื้นที่ต้องมากขึ้นด้วย เพราะต้องโค่นยางปลูกทุเรียน และควรจะปลูกพืชผลแบบผสมผสาน ถ้าฝนไม่มาคุณก็ได้กิน เช่น ปลูกผลไม้ทนแล้ง ถ้าน้ำมาดีก็ได้ทุเรียนไป

ส่วนข้าวก็เจอปรากฏการณ์ทุเรียน คือบางคนเลิกปลูกข้าวไปปลูกทุเรียนเพราะเห็นกระแสดี แต่ต่อไปอีก 10 ปี จะเกิดภัยแล้ง 2-3 ครั้ง เพราะฉะนั้น เกษตรกรต้องวางแผนให้ดี เช่น อย่างที่บอก ปลูกพืชที่ให้ผลสั้นๆ 2-3 เดือน ให้ผล แล้วไม่ต้องโค่น ปลูกพืชกินน้ำน้อย รัฐก็ควรให้ความสนใจกับการให้ความรู้เกษตรกรในการปลูกพืชที่กินน้ำน้อย เช่น ข้าวโพด มัน และก็ใช้วิธีปลูกสลับๆ หรือเกษตรกรบางรายมีแปลงข้าวอยู่ก็แบ่งพื้นที่ปลูกพืชทนน้ำ หรือสวนผลไม้เป็นเกษตรผสมผสาน แปลงหนึ่งปลูกข้าว แปลงหนึ่งปลูกข้าวโพด

ส่วนใหญ่ประชาชนบอกว่า เขาทำไม่เป็น อันที่สองคือ ดินเหนียว ทำไม่ได้ หน่วยงานรัฐ ถ้าเขาบอกทำไม่เป็น คุณก็ให้ความรู้เขาสิ เรื่องปุ๋ย เรื่องยา” อาจารย์เสรี พยากรณ์ให้ฟังจากฐานข้อมูลจากทั่วโลกที่ใช้วิเคราะห์

“พอประเทศไทยเปราะบาง ล่าสุดสหประชาชาติประเมินประเทศที่มีความมั่นคงด้านน้ำและอาหารต่ำ ที่เขาประเมินกัน เวลาเราเกิดปัญหาอะไร ใช้ดัชนี 5 ด้าน ด้านความปลอดภัย (security) เช่น ถ้าประเทศไทยเกิดภัยพิบัติด้านน้ำท่วมน้ำแล้ง มีการปรับตัวได้เร็วไหม

อย่างเช่น น้ำท่วม ปี 2554 เราแย่เลย เราปรับตัวไม่ดี รับมือไม่ได้ รวมไปถึงการประเมินน้ำเพื่อเกษตร น้ำเพื่อชุมชน และน้ำเพื่อหมู่บ้าน ชุมชนห่างไกล และน้ำเพื่อสิ่งแวดล้อมเป็นยังไง ทั้งหมดได้ข้อสรุปว่า เราไม่มีความมั่นคงด้านน้ำ” อาจารย์เสรี เปิดเผยข้อมูลที่ไทยยังมีการบริหารจัดการน้ำที่ไม่ดีพอ

(Photo by PORNCHAI KITTIWONGSAKUL / AFP)

สำหรับข้อมูลด้านความมั่นคงด้านน้ำและอาหารเป็นผลการประเมินจากองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO : เอฟเอโอ) ส่วนการประเมินว่า ไทยยังไม่มีความมั่นคงด้านน้ำ หรือการบริหารจัดการน้ำ มาจากการประเมินของธนาคารพัฒนาเอเซีย (ADB : เอดีบี)

“พอประเมินปั๊บ เราก็รู้ตัวแล้ว เราเป็นอย่างนี้ ปีที่แล้วก็เห็นชัดเจน ว่าเกิดน้ำท่วมทั่วประเทศ ท่วมเต็มภาคมันกระทบ คือท่วมทั่วทุกภาค เดี๋ยวเวลามันจะแล้ง มันจะแล้งทั่วทุกภาคเหมือนกัน ช่วงน้ำท่วมมีฝนตกช่วงฤดูฝนโดยประมาณเฉลี่ย 1,100 มิลลิเมตร ช่วง 6 เดือน หน้าฝน คือตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงตุลาคม

ส่วนอนาคตข้างหน้า เราวิเคราะห์ว่า ฝนที่ตกอยู่ 1,400 มิลลิเมตร ที่น้ำท่วมเป็นฝนในทุกๆ 50 ปี อนาคตกลายเป็นแค่ 10 ปี หมายถึงความรุนแรงที่เกิดขึ้นในปี 2554 จะเกิดทุกๆ 10 ปี ซึ่งเป็นเหตุการณ์ในอนาคต ประมาณ 30-50 ปี ซึ่งจะเกิดการเปลี่ยนแปลงถาวรกับสภาพอากาศที่จะมาทุกๆ 10 ปี

สำหรับภัยแล้งจะเกิดทุกๆ 3 ปี จากที่เคยเกิด ปี 2541 และ ปี 2558 จะเกิดทุกๆ 2-3 ปี และจะกลับมาในระยะใกล้ๆ ทุกๆ 2-3 ปี ความหมายคือ เคยแล้ง 15 ปีครั้งหนึ่ง ตอนนี้จะเกิดถี่

ก็คือ สรุปว่า จะมีน้ำท่วมใหญ่ทุก 10 ปี และภัยแล้ง 2-3 ครั้ง ในช่วง 10 ปี ซึ่งภัยแล้งเคยเกิดในปี 2536, 2541 และ 2556 ต่อไปจะเกิดขึ้นทุกๆ 2-3 ปี

ตอนนี้ยังไม่มีการรับมือกับอนาคตข้างหน้า และตอนนี้เราจะมี อีอีซี แต่ผมลองทดสอบแล้ว แค่ฝนตกมาตอนนี้น้ำก็ท่วมในส่วนพื้นที่อุตสาหกรรม นี่คือ สิ่งที่จะเกิดขึ้น เราต้องรองรับ” อาจารย์เสรีซึ่งทำหน้าที่เป็นคณะกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ อธิบายถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่จะทำให้ไทยต้องประสบภาวะภัยธรรมชาติจากน้ำท่วม น้ำแล้ง ถี่ขึ้นในอีก 30 ปีข้างหน้า โดยเป็นฐานข้อมูลเกี่ยวกับการกลับมาของน้ำท่วมและภาวะแล้งจากงานวิจัยของเนเธอร์แลนด์ และในส่วนข้อมูลของภัยแล้งเพียงอย่างเดียวมาหน่วยวิจัยที่ทำให้กับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยเฉพาะ

เสรี ศุภราทิตย์

อาจารย์เสรี ยังอธิบายอีกว่า ปัจจุบันประเทศไทยยังอยู่ในสถานการณ์ที่เปียกอยู่ คือน้ำท่วมทั่วประเทศ เปียกหมายถึงอะไร หมายถึงอุณหภูมิที่สูงขึ้น และจะไปมีปริมาณน้ำฝนต่ำที่ฝั่งสหรัฐอเมริกา แต่เมื่อปี 2559-2560 ประเทศไทยอยู่ในสถานการณ์แล้ง เพราะฉะนั้น ตั้งแต่เดือนมกราคม 2562 คือ แล้ง และแล้งปี 2563 ผลการวิจัยจากประเทศญี่ปุ่น ทำนายไว้ 2 ปี แล้วไปแล้งอีกทีหนึ่งคือ ปี 2563 ถ้าใช้น้ำเพลินๆ เกษตรกรก็จะลำบาก

“แน่นอนการคาดการณ์ระยะยาวก็มีความไม่แน่นอน แต่รัฐก็บอกเป็นเชิงนโยบายให้ไปคิดได้ว่า ถ้าคุณยังใช้น้ำฟุ่มเฟือย คุณจะไปเจออะไร อย่างเดือนพฤษภาคมปีนี้ ฝนดีภาคกลาง ภาคเหนือก็ดี ดีเกือบหมด ฝนตกตอนนี้ได้น้ำ เป็นผลดี

มิถุนายนก็ยังดี แต่สิงหาคม เริ่มเบาบาง และภาคใต้จะเริ่มแล้งแล้ว ประเด็นก็คือว่า ปีนี้ฝนต้นฤดูดี แต่ปลายฝนอาจไม่ดี กันยายน-พฤศจิกายน ฝนไม่ดี เพราะฉะนั้นคนที่ปลูกข้าวล่าช้าจากเดือนพฤษภาคมไม่ดีแล้ว สิงหาคมยังพอมีฝน ปลูกพฤษภาคมพอได้ แต่ถ้าปลูกมิถุนายนเป็นต้นไปไม่ดีแล้ว เรื่องนี้ต้องแจ้งเกษตรกร ต้องบอกเกษตรกร ซึ่งเราก็ไปออกข่าวตลอด แต่ยังไม่ได้จอยกับรัฐบาล

เพราะ 1. เรากำลังทำงานกับสภาวิจัย และไม่ได้เป็นลูกจ้างรัฐบาล เราส่งให้สภาวิจัย เขาจะไปต่อยอดอย่างไรก็เรื่องของเขา อย่างน้ำท่วม ปี 2554 ส่วนใหญ่ประชาชนฟังเรา ปัญหาคือ ตอนนี้รัฐบาลใช้ข้าราชการทำงาน พะเยิบพะยาบ และไม่เคยทำเอง ไม่เหมือนเอกชน เขาทำเองหมด ข้าราชการต้องเอาใจนาย ข้อมูลด้านนี้จึงไม่ยอมเปิดเผย” อาจารย์เสรี บอกอย่างตรงไปตรงมาถึงสภาวะข้อมูลที่ไปไม่ถึงการปกครองระดับสูง ซึ่งมีผลต่อนโยบายการแจ้งเตือนการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่มีผลต่อเกษตรกร

นอกจากนี้ อาจารย์เสรี ยังฝากทิ้งท้ายเรื่องหนึ่งที่สำคัญคือ

“อย่างที่บอกคือว่า เกษตรกรต้องปรับตัวแน่นอน ลักษณะอากาศเป็นอย่างนี้ การปรับตัวเราจะให้องค์ความรู้อย่างไร เรื่องเทคโนโลยีและจริงใจที่จะทำ อย่าทำแบบเช้าชามเย็นชาม ให้นายกฯ ไปตรวจที่ดีอยู่แล้ว และอีก 80-90 เปอร์เซ็นต์ ไม่ทำ

การบริหารจัดการน้ำ ต้องดีมานด์ ไซต์ เน้นไปที่การใช้น้ำของผู้ใช้น้ำที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล เรามีข้อมูลน้ำอยู่แล้ว ปีนี้น้ำจะเป็นอย่างไร ควรบอกประชาชนว่า ควรปลูกอะไร พื้นที่เท่าไร และเก็บเกี่ยวได้เมื่อไร คือประเมินความเสี่ยงให้เขาด้วย เพราะประชาชนเขาประเมินไม่เป็นหรอก เขาลงไปแสนหนึ่ง เขายังไม่รู้ว่าจะได้กลับมาเท่าไร ถ้าประเมินแสนเดียวได้กลับมานิดเดียวน่ะ เขารู้เขาก็ไม่ทำ ซึ่งพื้นที่ในแต่ละภาค ดีอย่างและเสียอย่าง

ยกตัวอย่าง ภาคกลางมีน้ำท่วมใหญ่ แต่จะมีแหล่งน้ำดี แต่ก็ท่วมบ่อย ส่วนภาคอีสาน ไม่มีน้ำท่วมใหญ่ แต่เจอแล้งบ่อย ทุกพื้นที่ต้องปรับตัวตามสภาพ ไม่มีอะไรที่ดีที่สุด ภาคใต้ยิ่งหนัก จะเจอกับภัยแล้ง ซึ่งเหนือก็คือ แล้งอีก

อย่างประเทศเราฟังหน่วยงานในไทยไหม พอหน่วยงานวิจัยจากต่างประเทศออกมาอย่างนี้ หน้าที่ของประเทศไทยคือ ต้องเจาะพื้นที่แล้วในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น ผมก็กำลังจะเจาะ เพราะเพิ่งออกมาเมื่อปลายปีที่แล้ว ซึ่งเราก็ทำบางส่วน แต่กำลังจะทำทั่วประเทศ ลงแล้วได้ข้อมูลว่า มีแนวโน้มเป็นอย่างนั้น โดยใช้วิธีสุ่ม ปีนี้จะเจาะข้อมูลเป็นจังหวัดๆ โดยเฉพาะกลุ่มจังหวัดในพื้นที่ อีอีซี ก่อน เพราะเราจะประกาศเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมไฮเทค ก็เกรงว่าจะเกิดสงครามแย่งน้ำ ตีกัน

ทีนี้เราก็มาเจาะข้างต้นก่อน การต้องการน้ำข้างต้นเพื่ออุตสาหกรรม อนาคตข้างหน้าก็เป็นพื้นที่สีแดง ทั้งที่น้ำต้นทุนก็เป็นสีเขียว เราต้องเข้าใจว่า เป็นโอ่งเฉยๆ จะเต็มโอ่งหรือไม่ ขึ้นอยู่กับฝน นี่คือ ความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น ภาพนี้มันหลอนเรา อย่างกรมชลประทาน ก็ให้ข้อมูลเชิงหลอกด้วย ก็ดีมีโอ่งไว้ ตก 2-3 ปีครั้งหนึ่ง คุณจะเอาโอ่งจากไหน

ข้อสังเกตอันแรกคือ น้ำ ต้นทุนอันแรก ขึ้นกับฝน ความต้องการอันนี้มันมีความสูญเสียอยู่ด้วย เวลาผมส่งน้ำ น้ำรั่ว นี่คือสิ่งที่ยุทธศาสตร์รัฐบาลเชิญคนมาลงทุน แต่ไม่ได้มองว่าประเทศไทยมีน้ำพอหรือยัง ต้องมีจำกัด ขณะที่ไทยยังพัฒนาได้ก็จริง พื้นที่ อีอีซี แต่ต้องรู้ปริมาณน้ำที่จะพัฒนา เหมือนในกระเป๋าผมมีเท่านี้ ผมให้มากกว่านี้ไม่ได้นะ น้ำก็เหมือนกัน ประเทศไทยมีเท่านี้ ก็ต้องใช้น้ำอย่างประหยัด และรู้จักนำเทคโนโลยีที่นำน้ำกลับมาใช้ได้อีก” อาจารย์เสรี ทิ้งท้ายให้กับเกษตรกรทั่วประเทศได้ทราบถึงข้อมูลการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่จะมีผลโดยตรงกับพื้นที่ที่ต้องใช้น้ำในภาคอุตสาหกรรม

นอกจากนี้ เกษตรกรยังสามารถเช็คข้อมูลสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงในแต่ละวันได้จากเว็บไซต์ของกรมอุตุนิยมวิทยา ที่ www.tmd.go.th หรือที่สายด่วน 1182 รวมไปถึงสอบถามไปยังศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ โทร. (02) 997-2200 หรือ www.thaidisaster.com หรือ www2.rsu.ac.th