“สมคิด” สั่งเกษตรฯ เร่งขึ้นทะเบียนเกษตรกร รับอุดหนุนจำนำยุ้งฉาง เร่งปรับแผนปฏิรูปเกษตร เฟส 1 ส.ค.นี้

“สมคิด” สั่งเกษตรฯ เร่งขึ้นทะเบียนเกษตรกร รับอุดหนุนจำนำยุ้งฉาง เร่งปรับแผนปฏิรูปเกษตร เฟส 1 ส.ค.นี้ จ่อชงมาตรการพักหนี้ เอาใจเกษตรกร 3 ล้านคน

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการตรวจเยี่ยมและรับฟังรายงานความคืบหน้าของผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ว่า เนื่องจากรัฐบาลเหลือเวลาทำงานเพียงแค่ 7-8 เดือน ก็อยากจะให้การทำงานคืบหน้าไปด้วยความรวดเร็ว โดยในการประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) มีมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรหลายอย่างเพื่อผลักดันให้ราคาข้าวสูงขึ้น เช่น การรับจำนำข้าวในยุ้งฉาง ซึ่งถือว่าเป็นมาตรการที่ดี ดังนั้น จึงขอให้กระทรวงเกษตรฯ และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เร่งการลงทะเบียนเกษตรกร เพื่อที่ชาวนาจะได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลให้เร็วที่สุด โดยให้ทางเกษตรจังหวัด และกระทรวงพาณิชย์ ร่วมกันลงไปบอกข่าวแก่เกษตรกร

“ส่วนชาวนาที่ไม่มียุ้งฉาง จะทำอย่างไร ให้สามารถมาลงทะเบียน และระบายข้าวโดยไม่ต้องมีข้าวตกค้างไว้ ซึ่งอาจให้สหกรณ์ต่างๆ เช่ายุ้งฉางและโกดัง เพื่อให้ข้าวขาวในภาคกลางมีโอกาสเข้าร่วมโครงการนี้ ในขณะที่สหกรณ์ที่มีโครงสร้างพื้นฐานจากรัฐ เช่น โรงอบ ลานตาก เหล่านี้ต้องให้สมาชิกเข้ามาใช้ด้วย”

สำหรับโครงการปฏิรูปภาคการเกษตรฯ โดยใช้หลักการตลาดนำการผลิตจะเริ่ม เฟสที่ 1 ได้ในกลางเดือน ส.ค.นี้ โดยกระทรวงเกษตรฯ ได้เสนอแผนมาแล้ว เช่น ลดการปลูกข้าวนาปรัง เพือปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่นที่ใช้น้ำน้อยแทน ได้แก่ ข้าวโพด และมันสำปะหลัง ส่วนทางภาคใต้ อยากให้ดูเรื่องผลไม้เป็นหลัก และพยายามอย่าให้เกิดต้นทุนกับผู้ที่อยากเปลี่ยนพฤติกรรมการผลิต ลดความเสี่ยงให้น้อยที่สุด เพราะถ้าต้องรับความเสี่ยงไม่มีใครอยากปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่น

“ภาคเอกชนได้มาประสานกับทางผมแล้วว่า จะให้ความร่วมมือเต็มที่ รวมทั้งล้งต่างๆ จะเข้าหารือสถานการณ์ตลาดร่วมกับรัฐบาล แล้ววางแผนร่วมกัน อย่างตอนนี้กระทรวงพาณิชย์สามารถหาตลาดล่วงหน้าของลำไยได้ ดังนั้น สินค้าทุกตัวที่จะให้ทำการปลูกแทนที่ เขาจะต้องเตรียมไว้ล่วงหน้าโดยจะเริ่มเฟสแรกประมาณ ส.ค.นี้” นายสมคิด กล่าว

นอกจากนี้ ในเรื่องของระบบสหกรณ์ ปัจจุบัน มีสหกรณ์การเกษตร ประมาณ 800 แห่ง ที่มีความเข้มแข็งสามารถเป็นที่พึ่งของเกษตรกรได้ จึงสั่งให้กระทรวงเกษตรฯ ทำแผนพัฒนาสหกรณ์กลุ่มนี้ให้แข็งแรงขึ้น โดยให้กรมส่งเสริมสหกรณ์จัดประชุมทำเรื่องนี้อย่างจริงจัง และขอความร่วมมือกับธนาคารของรัฐบาล เช่น ธ.ก.ส. ออมสิน มาช่วยสนับสนุน ขณะที่ปัญหาสหกรณ์ออมทรัพย์ที่มีขนาดใหญ่ ซึ่งมีเงินทุนจำนวนมากและมีการลงทุนหลักทรัพย์นั้น ล่าสุดคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้มีการทำหลักเกณฑ์การลงทุน แต่ยังอยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงเกษตรฯ ดังนั้น กำกับให้เป็นไปตามกฎระเบียบอย่างเคร่งครัด โดยควรตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจขึ้นมาดูแลเป็นการเฉพาะ ร่วมด้วยกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อทำให้การบริหารงานของสหกรณ์ออมทรัพย์เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

ด้าน นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า นายสมคิด เห็นด้วยกับมาตรการที่การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เสนอขอเพิ่มพื้นที่ปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกยาง จากปีละ 4 แสนไร่ เป็น 6 แสนไร่ โดยยางที่ปรับเปลี่ยนต้องเป็นยางที่มีอายุตั้งแต่ 7 ปีขึ้นไป และคาดว่าการปรับเปลี่ยนพื้นที่นี้จะทำให้ราคายางเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า กิโลกรัม (กก.) ละ 60 บาท

Advertisement

ส่วนเรื่องปฏิรูปการเกษตร กระทรวงเกษตรฯ เสนอปรับเปลี่ยนการทำนาปรัง ครั้งที่ 2 และ 3 ไปปลูกพืชอื่น ได้แก่ ข้าวโพด และมันสำปะหลัง รวมพื้นที่ 2 ล้านไร่ โดยให้พิจารณาตามความหมาะสมของดิน รวมไปถึงการทำตลาดกระทรวงเกษตรฯ และกระทรวงพาณิชย์จะเชิญภาคเอกชนที่ต้องการรับซื้อข้าวโพด มันสำปะหลัง และผลไม้อื่นๆ ร่วมกำหนดเป้าหมายการรับซื้อแต่ละปี ส่วนพืชที่กำลังมีปัญหาเนื่องจากผลผลิตมาก เช่น มังคุด ลองกอง ลำไย เป็นต้น ต้องเร่งหารือกับผู้รับซื้อว่ามีเป้าหมายตลาดเท่าไร

“นายสมคิด มองว่า หากสามารถจัดส่งผลไม้ไปถึงมือผู้บริโภคแบบเดลี่เวอรี่ ได้ในกรุงเทพฯ หรือเมืองใหญ่ๆ ก็จะช่วยแก้ปัญหาล้นตลาดได้ส่วนหนึ่ง นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์ มีความร่วมมือกับไปรษณีย์ไทยได้แล้ว ดังนั้น จึงให้ทั้ง 2 หน่วยงาน หารือกับผู้ประกอบการ เพื่อเร่งดำเนินการตามแผนให้เร็วที่สุด คาดว่าจะเริ่มต้นได้ ในวันที่ 1 ส.ค.นี้ ส่วนใน วันที่ 15 ส.ค. 61 รองนายกรัฐมนตรีจะเดินทางมาตรวจสอบอีกครั้ง”

Advertisement

ส่วนทางด้าน นายเยี่ยม ถาวโรฤทธิ์ รักษาการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) กล่าวว่า ยางที่จะโค่นได้ จะเป็นต้นเก่าที่กรีดเกินกว่า 25 ปีขึ้นไป และยางใหม่ที่เพิ่งปลูกได้ 7 ปีหรือมากกว่านั้นในพื้นที่ไม่เหมาะสม ซึ่งมีอยู่ประมาณ 3-4 ล้านไร่ ตามแผนการนี้จะโค่นทิ้งให้หมดภายใน 5 ปีนี้ จะใช้เงินจากการเก็บค่าธรรมเนียมพิเศษจากการส่งออกยาง (เซส) ชดเชยไร่ละ 1.6 หมื่นบาท หากประสบผลสำเร็จ จะช่วยให้ราคายางปรับเพิ่มขึ้น กก.ละ 10 บาท กรณีเงินเซสไม่พอจะของบประมาณจากรัฐบาล

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวระบุอีกว่า ที่ประชุมได้ร่วมหารือกับ นายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ เอสเอ็มอีแบงค์ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พาณิชย์ นายบุญยฤทธิ์ กัลยาณมิตร อธิบดีกรมการค้าภายใน นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และรัฐมนตรีประจำกระทรวงเกษตรฯ ซึ่งทั้งหมดได้ร่วมหารือกัน คาดว่าจะหารือเรื่องของการพักหนี้เกษตรกร 3 ล้านคน คาดว่าจะต้องมีการหารือในรายละเอียดและนำเสนอต่อ ครม. ก่อน จึงจะสามารถประกาศได้อย่างเป็นทางการ เร็วๆ นี้

 

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์