จีดีพี เกษตร Q2 โต 6.2% สศก. คาดทิศทางยังดีจนถึงครึ่งปีหลัง ดัน จีดีพี พุ่งต่อเนื่อง รวม 3-4%

นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงภาวะเศรษฐกิจการเกษตรในไตรมาส 2 ปี 2561 (เม.ย.-มิ.ย.) พบว่า ขยายตัว 6.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของ ปี 2560 เนื่องจากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยต่อการผลิตทางการเกษตร มีการพัฒนาแหล่งน้ำและระบบการกระจายน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ ประกอบกับการดำเนินนโยบายที่สำคัญ อาทิ การตลาดนำการผลิต การส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ การพัฒนาคุณภาพสินค้าเกษตรสู่มาตรฐาน ทำให้การผลิตสินค้าเกษตรมีประสิทธิภาพและมีมาตรฐานที่ดีขึ้น ส่งผลให้ผลผลิตพืชเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น โดยสามารถแยกเป็นรายสาขาได้ดังนี้

สาขาพืช ขยายตัว 8.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยผลผลิตพืชสำคัญที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวนาปี ข้าวนาปรัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อ้อยโรงงาน สับปะรดโรงงาน ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ลำไย และเงาะ

ด้านราคา สินค้าที่มีราคาเฉลี่ยเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง ทุเรียน และมังคุด โดยข้าว มีราคาเพิ่มขึ้น แม้ว่าจะมีปริมาณข้าวออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้นแต่ความต้องการของตลาดมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเช่นกัน

ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ราคาเพิ่มขึ้นเพราะความต้องการใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทุเรียน ราคาเพิ่มขึ้น เนื่องจากปริมาณผลผลิตไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ

สาขาปศุสัตว์ ขยายตัว 0.3% โดยผลผลิต ไก่เนื้อ ไข่ไก่ และน้ำนมดิบ มีปริมาณเพิ่มขึ้น ด้านราคา ไก่เนื้อและสุกร มีราคาเฉลี่ยลดลง 10.6% และ 9.9% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว เนื่องจากมีปริมาณผลผลิตเพิ่มขึ้น

สำหรับราคาไข่ไก่เพิ่มขึ้น 4.05% ส่วนราคาน้ำนมดิบ เพิ่มขึ้น 0.81% เนื่องจากมีการพัฒนาการผลิตและปรับปรุงคุณภาพน้ำนมดิบตามมาตรการปรับเพิ่มราคารับซื้อน้ำนมดิบตามคุณภาพน้ำนม

สาขาประมง ขยายตัว 0.4% สำหรับผลผลิตประมงทะเลที่สำคัญ คือ กุ้งทะเลเพาะเลี้ยงมีทิศทางเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีการพัฒนาระบบการเลี้ยงให้เหมาะสมกับพื้นที่ ทำให้การผลิตกุ้งมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ส่วนการทำประมงน้ำจืด ผลผลิตที่สำคัญ เช่น ปลานิล ปลาดุก มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากนโยบายส่งเสริมระบบการเกษตรแบบแปลงใหญ่อย่างต่อเนื่อง ด้านราคา กุ้งขาวแวนนาไม ที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยลดลงจากปีที่แล้ว สอดคล้องกับราคาในตลาดโลกที่ลดลงตามภาวะอุปทานส่วนเกิน

เช่นเดียวกับปลานิลขนาดกลาง และปลาดุกบิ๊กอุยราคาลดลงจากมีปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้น

สาขาบริการทางการเกษตร ขยายตัว 5.6% จากการจ้างบริการเตรียมดิน ไถพรวนดิน และการให้บริการเกี่ยวนวดข้าวเพิ่มขึ้น เนื่องจากพื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปรังเพิ่มขึ้น อีกทั้งการใช้บริการรถเก็บเกี่ยวอ้อยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก จากการส่งเสริมของภาครัฐและโรงงานน้ำตาล

และหลังจากการเก็บเกี่ยวอ้อย เกษตรกรได้เตรียมพื้นที่เพาะปลูกใหม่ ทำให้มีการจ้างบริการไถพรวนดินเพิ่มขึ้น สาขาป่าไม้ ขยายตัว 1.8% เนื่องจากผลผลิตป่าไม้ที่สำคัญ ได้แก่ ไม้ยางพารา ครั่ง และรังนก เพิ่มขึ้น โดยไม้ยางพาราส่วนใหญ่ถูกนำไปผลิตเป็นเฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วนผลิตภัณฑ์ไม้อื่นๆ เพื่อการส่งออก

ขณะที่รังนกมีการขยายตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากประเทศจีนอนุญาตให้นำเข้ารังนกนางแอ่นหลังจากห้ามนำเข้ารังนกจากทุกประเทศ เมื่อ 5 ปีที่ผ่านมา เป็นต้น

ทั้งนี้ แนวโน้มเศรษฐกิจการเกษตรในปี 2561 คาดว่าจะขยายตัวอยู่ในช่วง 3-4% โดยทุกสาขาการผลิตขยายตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2560 จากสภาพอากาศและปริมาณน้ำที่เอื้ออำนวยต่อการผลิตทางการเกษตร การดำเนินนโยบายด้านการเกษตรต่างๆ ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาเกษตรกรและประสิทธิภาพในการผลิตสินค้าเกษตร รวมถึงเศรษฐกิจโลกที่มีสัญญาณดีขึ้น ส่งผลดีต่อการส่งออกสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ของไทย แต่ก็ต้องติดตามสถานการณ์และปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับภาคเกษตรอย่างใกล้ชิด ซึ่งอาจส่งผลต่อการผลิตทางการเกษตรในช่วงครึ่งหลังของปี 2561

ที่มา : มติชนออนไลน์