กรมฝนหลวงฯ ร่วมสืบสาน “ศาสตร์พระราชา” ปลูกป่า สร้างความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศ เพิ่มโอกาสปฏิบัติการฝนหลวง

กรมฝนหลวงและการบินเกษตร บูรณาการร่วมกับ 11 หน่วยงาน ร่วมสืบสานศาสตร์พระราชาของในหลวงรัชกาลที่ 9 และเฉลิมพระเกียรติเนื่องในวันพระราชสมภพในหลวงรัชกาลที่ 10 จัดโครงการปลูกป่าและไม้ยืนต้นสร้างความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติการฝนหลวงฯ

 นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในพิธีเปิดโครงการปลูกป่าและไม้ยืนต้นสร้างความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติการฝนหลวง สืบสาน “ศาสตร์พระราชา” ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ณ เขื่อนวชิราลงกรณ อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี ว่า โครงการนี้จัดขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติวันพระราชสมภพในหลวงรัชกาลที่ 10 และเป็นการน้อมนำแนวคิด “สร้างความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศ สืบสานศาสตร์พระราชา” ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ในการสร้างความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศให้มากขึ้น เพื่อช่วยในการเพิ่มโอกาสให้เกิดฝน ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อการปฏิบัติการฝนหลวงให้ประสบผลสำเร็จเพิ่มขึ้น และมีการฟื้นฟูสภาพป่าเสื่อมโทรมให้สามารถกลับมาอยู่ในสภาพสมบูรณ์ พร้อมกับการสร้างผืนป่าให้เกิดความชุ่มชื้นเพื่อเป็นการเพิ่มป่าต้นน้ำ เพิ่มพื้นที่ป่าชุมชน ตลอดจนการปลูกป่าไม้ ป่าเศรษฐกิจ ป่าชุมชน และไม้ยืนต้น บริเวณหัวไร่ปลายนา และยังเป็นแหล่งอาหารสัตว์ป่าในการดำรงชีวิต การใช้ประโยชน์สำหรับชุมชน ที่สำคัญโครงการนี้เป็นการฟื้นฟูทำให้ทรัพยากรป่าไม้ในประเทศได้กลับมาสมบูรณ์เหมือนเดิม

ด้าน นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวว่า จากวิกฤตการณ์ด้านทรัพยากรป่าไม้ที่ถูกทำลายซึ่งทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นทุกปี ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ ความแปรปรวนของสภาพอากาศ ความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศที่ลดลง ส่งผลต่อกระบวนการเกิดฝนและปริมาณน้ำฝนตามธรรมชาติเกิดความผิดปกติ จึงมีความจำเป็นที่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต้องบูรณาการร่วมกัน เพื่อให้การฟื้นฟูผืนป่าเกิดประสิทธิภาพและเป็นไปตามวัตถุประสงค์ อีกทั้งเมื่อป่าเกิดความสมบูรณ์ก็จะทำให้ความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศมีเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยการเพิ่มโอกาสสำหรับการขึ้นปฏิบัติการฝนหลวงให้ประสบความสำเร็จเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย ทั้งนี้ การดำเนินโครงการฯ แบ่งเป็น 3 กิจกรรมหลัก ประกอบด้วย 1) กิจกรรมพิธีเปิดโครงการ (19 กรกฎาคม 2561) ณ บริเวณเขื่อนวชิราลงกรณ อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี 2) กิจกรรมการปลูกป่าและไม้ยืนต้น ดำเนินการตั้งแต่เริ่มเปิดปฏิบัติการฝนหลวง ประจำปี 2561 (วันที่ 1 มีนาคม – 30 กันยายน 2561) โดยร่วมกันระหว่างภาครัฐกับเอกชน อาทิ ศูนย์ปฏิบัติงานฝนหลวงทั่วประเทศ สถานศึกษา อาสาสมัครฝนหลวงภูมิภาคต่างๆ เป็นต้น และ 3) กิจกรรมโปรยเมล็ดพันธุ์พืชทางอากาศ ณ ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงทั้ง 5 ภูมิภาค ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 19 กรกฎาคม – 30 กันยายน 2561 โดยดำเนินการพร้อมกับการปฏิบัติการฝนหลวงในแต่ละวัน

กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ยังได้จัดทำแอพพลิเคชั่นระบบติดตามการปลูกต้นไม้ “Collector for ArcGIS” เพื่อช่วยติดตามและประเมินผลการดำเนินงานโครงการดังกล่าวด้วยตนเอง เพิ่มความสะดวกในการติดตามข้อมูลการปลูกต้นไม้ได้อย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้น อาทิ พื้นที่ปลูก ชื่อผู้ปลูก ชื่อต้นไม้ที่ปลูก การดูแลรักษา เป็นต้น ทั้งนี้ สามารถติดตามข้อมูลข่าวสารได้ทางเว็บไซต์/เพจ Facebook กรมฝนหลวงและการบินเกษตร และการรายงานข่าวการปฏิบัติการฝนหลวงประจำวันทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย”นายสุรสีห์ กล่าวทิ้งท้าย

sdr